วช. ลงพื้นที่ถ่ายทอดเทคโนโลยี “ข้าวสปา” แปรรูปข้าวฮางงอกอินทรีย์คุณภาพสูง
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้สนับสนุนทุนอุดหนุนการทำกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุน การวิจัยในการดำเนินกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนต่อยอดสิ่งประดิษฐ์ไทย ประจำปี 2561 ภายใต้เรื่อง “การจัดการความรู้และขยายผลเทคโนโลยีเครื่องอบแห้งแบบถังทรงกระบอกหมุนด้วยรังสีอินฟราเรดร่วมกับลมร้อนปล่อยทิ้งแบบเคลื่อนย้ายได้ ระยะที่ 2” ให้แก่ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จักรมาส เลาหวณิช เป็นหัวหน้าโครงการ โดยในพื้นที่เป้าหมายในการขยายผลการใช้เทคโนโลยีครั้งนี้ ได้แก่ จังหวัดอุทัยธานี กาฬสินธุ์ สงขลา นครสวรรค์ และจังหวัดพะเยา เพื่อยกระดับการผลิตและมูลค่าสินค้าทางการเกษตรชองกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ผ่านการขยายผลการใช้เทคโนโลยีเครื่องอบแห้งฯ
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า ได้รับการร้องขอให้สนับสนุนนวัตกรรมเครื่องอบแห้งฯ จากนายเหล็ก หอมสมบัติ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนข้าวหอมมะลิป่าต้นน้ำห้วยร่องสัก ต.หนองหล่ม อ.ดอกคำใต้ จ.พะเยา ว่าทางกลุ่มฯ ประสบปัญหาการจัดการผลผลิต หลังการเก็บเกี่ยว ซึ่งพืชหลักที่สำคัญคือ ข้าว ปัจจุบันได้มีการใช้รถเกี่ยวนวดข้าวมาใช้ในพื้นที่เกือบทั้งหมดเนื่องจากปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งข้าวที่เก็บเกี่ยวจากรถเกี่ยวนวดจะมีความชื้นสูงทำให้เกษตรกรต้องทำการตากแห้งลดความชื้น แต่เนื่องจากพื้นที่เป็นสภาพเป็นภูเขา พื้นที่ลานตากไม่เพียงพอ ประกอบกับสภาวะฝนฟ้าอากาศที่แปรปรวนสูง ทำให้การจัดการด้านความชื้นเป็นไปได้ยาก ผลกระทบทำให้ผลิตผลิตข้าวมีคุณภาพต่ำ (ข้าวมีสีเหลืองขุ่น แตกหักสูง เป็นต้น) จึงจำหน่ายไม่ได้ราคาที่ควรจะเป็น ผลทางด้านสังคมระดับคุณภาพชีวิตในชุมชุมถือว่าค่อนข้างต่ำ รายได้น้อยมีภาวะหนี้สิน และทราบว่ามีนวัตกรรม “เครื่องอบแห้งแบบถังทรงกระบอกหมุนด้วยรังสีอินฟราเรดร่วมกับลมร้อนปล่อยทิ้งแบบเคลื่อนย้ายได้” ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่สามารถลดความชื้นของข้าวได้ ซึ่งนักวิจัยได้นำเทคโนโลยีเครื่องอบแห้งฯ ติดตั้งและถ่ายทอดองค์ความรู้วันที่ 25 มกราคม 2562 เป็นต้น พบว่า การอบแห้งข้าวเปลือกด้วยเครื่องอบแห้งนี้ทำให้ลดเวลาในการตากแดดแบบเดิมจาก 3 วัน เหลือ 1 วัน ลดแรงงานในการอบแห้งฯ เพิ่มคุณภาพข้าว ได้แก่ ข้าวมีการแตกหัดลดลง ข้าวใสมันวาวขึ้น เนื้อสัมผัสดี มีกลิ่นหอม สามารถลดจำนวนมอดข้าวได้อย่างเห็นได้ชัด
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เชิดพงษ์ เชี่ยวชาญวัฒนา
ผศ.ดร.จักรมาส เลาหวณิช หัวหน้าโครงการวิจัย
นายเหล็ก หอมสมบัติ
ผศ.ดร.จักรมาส เลาหวณิช หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า นอกจากนี้แล้ว นายเหล็ก หอมสมบัติ ได้ขอความอนุเคราะห์ให้ทางทีมวิจัยถ่ายทอดองค์ความรู้ในการผลิตข้าวฮางงอก ให้แก่ชุมชุม เนื่องจากเห็นว่าเกษตรกรในพื้นที่มีความยากจน มีรายได้เฉพาะจากการปลูกข้าว และข้าวโพด เท่านั้น เกษตรกรยังไม่มีผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากผลผลิตในชุมชน และในวันที่ 26 มกราคม 2562 โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุพรรณ ยั่งยืน หัวหน้าโครงการการแปรรูปข้าวฮางอินทรีย์คุณภาพสูง “ข้าวสปา” และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เชิดพงษ์ เชี่ยวชาญวัฒนา ได้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตข้าวฮางงอกถ่ายทอดให้แก่เกษตรกร
และได้ร่วมหารือถึงอัตลักษณ์ จุดเด่น จุดขาย ข้าวฮางงอกที่จะผลิตจาก ต.หนองหล่ม อ.ดอกคำใต้ จ.พะเยา จนพบว่า พื้นที่มีตาน้ำธรรมชาติ จำนวน 5 ตา แต่ละตาน้ำนั้นมีตำนานเล่าขาน มีความเชื่อและศรัทธาของคนในชุม ซึ่งหากมีการนำน้ำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตข้าวฮางงอกแล้ว จะทำให้ผลิตภัณฑ์ข้าวฮางงอกเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น มีที่เดียวในประเทศ ที่ข้าวฮางงอกใช้น้ำธรรมชาติจากตาน้ำ 5 รู นำมาแช่และเพาะข้าวเปลือกด้วยนวัตกรรมเครื่องเร่งกระบวนการแช่และเพาะงอกข้าวเปลือกให้งอกได้ภายใน 24 ชั่วโมง และนำข้าวเปลือกนึ่งสุกแล้วอบแห้งด้วยรังสีอินฟราเรด (เครื่องอบแห้ง ฯ ที่ได้รับการสนับสนุน) ภายในระยะเวลาอันสั้น ผลการดำเนินกิจกรรมการใช้นวัตกรรมที่ผ่านมาของกลุ่มฯ พบว่า สามารถแปรรูปข้าวฮางงอก และออกจำหน่ายได้ในพื้นที่ และจังหวัดใกล้เคียง เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
และในวันที่ 8 ก.ค. 2562 นี้ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ จะมอบนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาด้านการเกษตรในพื้นที่จังหวัดพะเยา ภายใต้ โครงการจัดการความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผลงานวิจัยและนวัตกรรม ประจำปี 2562 เรื่อง “โครงการการจัดการความรู้และขยายผลเทคโนโลยีเครื่องเร่งกระบวนการแช่และเพาะงอกข้าวเปลือกสำหรับการผลิตข้าวฮางงอก” และ “โครงการการจัดการความรู้และขยายผลเทคโนโลยีเครื่องอบแห้งแบบถังทรงกระบอกหมุนด้วยรังสีอินฟราเรดแบบเคลื่อนย้ายได้ ระยะที่ 2” แก่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนข้าวหอมมะลิป่าต้นน้ำห้วยร่องสัก ตำบลหนองหล่ม อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา เพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป
10 กรกฏาคม 2562