“เดินหน้าประชารัฐ... สู่ธนาคารที่ดิน”
โครงการนำร่องธนาคารที่ดิน ในพื้นที่ 5 ชุมชน
ณ ศาลาประชาคมหมู่บ้านแพะใต้ หมู่ที่ ๗ ชุมชนบ้านแพะใต้ อำเภอเวียงหนองล่อง จังหวัดลำพูน
วัตถุประสงค์ของการจัดงาน “เดินหน้าประชารัฐ... สู่ธนาคารที่ดิน”
เพื่อเป็นการตอกย้ำความสำเร็จในการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ไร้ที่ทำกิน ได้มีสิทธิในที่ดินทำกิน และเป็นการเผยแพร่ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาชนทั่วไป สื่อมวลชน ได้รับรู้ถึงการดำเนินงานของสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) หรือ บจธ. และผลการดำเนินงานของโครงการฯ ซึ่งเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาเกษตรกรไร้ที่ดินทำกิน อันจะเป็นรากฐานสำคัญของแนวทางการดำเนินงานของธนาคารที่ดินในอนาคต เพื่อให้ธนาคารที่ดินสามารถให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรไม่ให้สูญเสียสิทธิในที่ดิน ช่วยเหลือให้เกษตรกรและผู้ยากจนมีที่ดินทำกิน โดยจะสามารถแก้ไขปัญหาจากรากฐานอย่างยั่งยืน
ความเป็นมาของโครงการนำร่องธนาคารที่ดิน ในพื้นที่นำร่อง 5 ชุมชน
เริ่มต้นจากความขัดแย้งในเรื่องกรรมสิทธิ์ในที่ดินของจังหวัดลำพูนที่เกิดขึ้นมายาวนาน ตั้งแต่ เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2540 เกษตรกรผู้ไร้ที่ทำกินได้ใน 4 ชุมชน ของจังหวัดลำพูน ประกอบด้วย (1) บ้านไร่ดง ม.3 ต.น้ำดิบ อ.ป่าซาง (2) บ้านแม่อาว ม.3 ต.นครเจดีย์ อ.ป่าซาง (3) บ้านแพะใต้ ม.7 ต.หนองล่อง อ.เวียงหนองล่อง (4) บ้านท่ากอม่วง ต.หนองปลาสวาย อ.บ้านโฮ่ง ได้รวมตัวกันและเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินที่ถูกทิ้งร้างมาหลายสิบปี พร้อมกับเรียกร้องขอสิทธิในที่ดินทำกิน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ชาวบ้าน ได้เรียกร้องให้รัฐบาลเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน พร้อมกับนำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาด้วยการ ออกโฉนดชุมชน และการจัดตั้งธนาคารที่ดิน เพื่อให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน เกษตรกรและผู้ไร้ที่ดินทำกิน ได้มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง
ต่อมาในปี พ.ศ. 2544 นโยบายรัฐบาลสมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้มีแนวนโยบายเร่งรัด การออกเอกสารสิทธิให้แก่เกษตรกรผู้ยากจนและมอบสิทธิในที่ทำกินอยู่ในที่ดินของรัฐในรูปแบบโฉนดชุมชน โดยดำเนินการจัดโฉนดชุมชน 2 แห่ง คือ โฉนดชุมชนสหกรณ์คลองโยงจังหวัดนครปฐม และโฉนดชุมชนสหกรณ์บ้านป่าซาง จังหวัดลำพูน (จำนวนสองแปลง) นอกจากนี้ ก็ยังมีการออกพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง สถาบันบริหารจัดการที่ดิน พ.ศ. 2554 พร้อมกับมีมติให้มีการจัดซื้อที่ดินเพื่อดำเนินการเป็นพื้นที่นำร่อง ในรูปแบบของธนาคารที่ดิน โดยอนุมัติงบประมาณสนับสนุนเป็นเงินจำนวน 167,960,00 บาท แต่เนื่องจากข้อจำกัดด้านงบประมาณและกำลังคน จึงยังไม่สามารถดำเนินการได้ทันที
วันที่ 21 พฤษภาคม 2556 ได้มีมติเห็นชอบในหลักการให้มีการดำเนินโครงการนำร่องธนาคารที่ดินในพื้นที่นำร่อง 5 ชุมชน ได้แก่ บ้านไร่ดง หมู่ที่ 3 (บ้านใหม่ป่าฝาง หมู่ที่ 15) ตำบลน้ำดิบ อำเภอป่าซางจังหวัดลำพูน บ้านแม่อาว หมู่ที่ 3 ตำบลนครเจดีย์ อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน บ้านแพะใต้ หมู่ที่ 7 ตำบลหนองล่อง อำเภอเวียงหนองล่อง จังหวัดลำพูน บ้านท่ากอม่วง หมู่ที่ 3 ตำบลหนองปลาสะวาย อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน และบ้านโป่ง หมู่ที่ 2 ตำบลแม่แฝก อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวดำเนินการในรูปแบบให้ชุมชนใช้ที่ดินในการประกอบอาชีพและอยู่อาศัย มีสิทธิในการครอบครองที่ดินร่วมกันภายในชุมชน เพื่อการอยู่อาศัยและทำกินได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยได้มอบหมายให้ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นผู้ดำเนินการตามที่ได้รับมอบหมาย แต่ด้วยต่อมามีการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลจึงทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง
กระทั่งถึงรัฐบาลชุดปัจจุบัน นำโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เล็งเห็นความสำคัญของเรื่องที่ดิน สิทธิในที่ดินของผู้ยากจน และการจัดตั้งธนาคารที่ดิน จึงได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการ บริหาร บจธ. เพื่อดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการที่ดิน พ.ศ. 2554 และที่ แก้ไขเพิ่มเติมโดยปัจจุบันมี พลโท ชาญชัย ภู่ทอง ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน และนายสถิตย์พงษ์ สุดชูเกียรติ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน
เพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีข้างต้น บจธ. จึงได้จัดทำโครงการนำร่องธนาคารที่ดิน และแผนปฏิบัติการโครงการนำร่องธนาคารที่ดิน ในพื้นที่ 5 ชุมชน นำเรื่องเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาทบทวนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2556 ขออนุมัติโยกย้ายงบประมาณ 167 ล้าน จาก พอช. มาให้ บจธ. เป็นผู้ดำเนินการ
แนวทางในการจัดสรรที่ดิน
สำหรับแนวทางในการแก้ปัญหา บจธ. จะเข้ามาเจรจาจัดซื้อที่ดินจากผู้ถือกรรมสิทธิ์ เพื่อนำมาให้เกษตรกรโดยสหกรณ์เช่าซื้อ ซึ่งแต่ละชุมชนจะจัดตั้งสหกรณ์ขึ้นมา เกษตรกรทุกคนจึงมีสิทธิ มีความรับผิดชอบร่วมกันในพื้นที่ โดยเบื้องต้น บจธ. จะให้สหกรณ์เช่าซื้อที่ดินระยะยาว ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ โดยกำหนดไว้ไม่เกินร้อยละ 3 ต่อปี ภายในระยะเวลาการผ่อนชำระไม่เกิน 30 ปี จากนั้นสหกรณ์ก็จะนำที่ดินดังกล่าวไปจัดสรรให้สมาชิก โดยสิทธิทำกินสามารถตกทอดไปสู่ลูกหลานได้ แต่กรรมสิทธิ์ที่ดินยังคงเป็นของสหกรณ์ ดังนั้น ที่ดินจะไม่มีการซื้อขายเปลี่ยนมือ ซึ่งจะช่วยป้องกันปัญหาที่ดินหลุดมือ เกษตรกรจะได้มีที่ดินทำกินอย่างยั่งยืน
ความคืบหน้าของโครงการ
ขณะนี้ทั้ง 5 ชุมชน ได้จัดตั้งสหกรณ์รองรับเรียบร้อยแล้ว มีทั้งหมด 4 สหกรณ์ คือ บ้านแพะใต้ จัดตั้ง สหกรณ์โฉนดชุมชนบ้านแพะใต้ จำกัด บ้านท่ากองม่วง จัดตั้งสหกรณ์โฉนดชุมชนบ้านท่ากอม่วง จำกัด บ้านโป่ง จัดตั้งสหกรณ์ปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรที่ยั่งยืน จำกัด ส่วนบ้านไร่ดงไปสมัครเป็นสมาชิกของสหกรณ์ของบ้านแม่อาว คือ สหกรณ์การเกษตรโฉนดชุมชนบ้านป่าซาง จำกัด
สำหรับความคืบหน้าในการจัดซื้อที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์ทั้งหมด ประมาณ 809 ไร่ (278 แปลง) ทำสัญญาจะซื้อจะขายแล้ว 639 ไร่ (153 แปลง) ใช้งบประมาณในการจัดซื้อเกือบ 109 ล้านบาท ที่เหลืออีก 170 ไร่ อยู่ระหว่างการดำเนินการ ส่วนพื้นที่ในชุมชนบ้านไร่ดงและชุมชนบ้านอาวที่อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ได้รับการอนุญาตจาก ส.ป.ก. เรียบร้อยแล้ว
การพัฒนาชุมชนสู่ความมั่นคง
เพื่อให้ชุมชนสามารถใช้ประโยชน์ที่ดินในการประกอบอาชีพได้อย่างเต็มศักยภาพ สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน การบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงเป็นเรื่องสำคัญ โดย บจธ. จะเป็นหน่วยงานกลางในการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อมาดำเนินการให้ความช่วยเหลือด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับการประกอบอาชีพของชุมชน เพื่อให้ชุมชนสามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ หรือในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน บจธ. อาจสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการตามความเหมาะสม ทั้งนี้ ได้จัดทำแผนหรือแนวทางในการส่งเสริมและพัฒนาชุมชน การผลิต การตลาด รวมไปถึงการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ของชุมชน
5 ตุลาคม 2560