วัดตระพังทอง จังหวัดสุโขทัย
เป็นโบราณสถานที่เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนใหม่และยังมีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่ ตั้งอยู่กลางตระพังทองซึ่งกว้างยาวด้านละประมาณ 200 เมตร มีสระน้ำอีกหลายสระ ภายในวัดมีพระอุโบสถเก่าอยู่ทางทิศตะวันออก จุดเด่นของวัดที่เห็นได้ชัดคือ กลางตระพังเป็นเกาะที่ตั้งของพระเจดีย์ทรงกลมแบบลังกา ซึ่งยอดและคอระฆังหักพังลงมาแล้ว บนเกาะมีมณฑปสร้างใหม่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาท ซึ่งปรากฏเรื่องราวในจารึกสุโขทัยหลักที่ 8 ศิลาจารึกเขา สุมนกูฎว่า พระมหาธรรมราชาลิไทโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นตามแบบรอยพิมพ์จากลังกาใน พ.ศ. 1902 และให้นำไปประดิษฐาน ณ ภูเขาทางทิศตะวันตกของเมืองสุโขทัย เรียกว่า เขาสุมนกูฎ ดังในลังกาทวีป (ปัจจุบันเรียกว่า เขาพระบาทใหญ่) มีงานนมัสการพระบาทนี้เป็นประจำทุกปี
องค์พระเจดีย์ เกาะกลางน้ำวัดตระพังทอง
เป็นเจดีย์ทรงลังกาหรือทรงระฆัง ศิลปะสมัยสุโขทัย ตามประวัติศาสตร์สร้างมาตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัย องค์พระเจดีย์สร้างด้วยหินศิลาแลง ขนาดฐานกว้าง 16 เมตร ยาว 16 เมตร สูง 24 เมตร ตั้งอยู่ด้านหลังอุโบสถบนเกาะกลางสระน้ำ ยอดเก่าของเจดีย์ที่หักตกลงมายังปรากฏให้เห็นอยู่ทางด้านทิศใต้ของเจดีย์ แสดงให้เห็นว่าการก่อสร้างเจดีย์สมัยโบราณจะนำเหล็กกล้ามาทำเป็นแกนกลางของส่วนยอดเจดีย์ เพื่อทำให้โครงสร้างมีความมั่นคงแข็งแรง ในปี พ.ศ. 2444 คราวที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ และ พ.ศ. 2450 คราวที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ (ล้นเกล้ารัชการที่ 6) เสด็จมาเยือนเมืองสุโขทัยนั้นพบกว่ามีซากของเจดีย์รายจำนวน 8 องค์ ปรากฏอยู่รอบบริเวณเกาะกลางน้ำทั้ง 8 ทิศ และมีสภาพชำรุด ซึ่งในปัจจุบบันไม่พบร่องรอยของเจดีย์รายนั้นแล้ว
รอยพระพุทธบาท
เป็นรอยพระพุทธบาทจำลองสมัยสุโขทัย จำหลักเป็นเป็นลายมงคล ๑๐๘ สลักบนศิลา ขนาด กว้าง ๑.๒๕ เมตร ยาว ๒.๐๙ เมตร หนา ๒๒ ซ.ม. เป็นรอยพระบาทเบื้องขวา ที่ขอบมีดอกจันโดยรอบ ๕๔ ดอก ภายในรอยพระบาทจำหลักเป็นลายชาดกต่าง ๆ ตามประวัติ พระมหาธรรมราชาลิไททรงให้จำลองมาจากประเทศศรีลังกา ประมาณปี พ.ศ. ๑๙๐๒ แล้วได้นำมาประดิษฐานไว้ที่เขาพระบาทใหญ่ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศหรดี( ตะวันตกเฉียงใต้ )
ของตัวเมืองเก่า ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๓ พระราชประสิทธิคุณ อดีตเจ้าคณะจังหวัดสุโขทัย ได้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่เกาะกลางสระน้ำ โดยสร้างเป็นมณฑปครอบไว้ แล้วได้จัดงานนมัสการเป็นต้นมาทุกปี คือ วัน ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๔ จนปัจจุบันนี้
มณฑปจัตุรมุข
ตั้งอยู่ด้านหน้าเจดีย์ประธาน เป็นมณฑปขนาดเล็ก ภายในมณฑปประดิษฐาน รอยพระพุทธบาทเบื้องขวา จากหินสีเทาดำ สร้างขึ้นสมัย พระมหาธรรมราชาลิไทเมื่อปี พ.ศ. 1902 โดยทรงให้จำลองแบบจากศรีลังกา และได้นำไปประดิษฐานไว้ที่เขาพระบาทใหญ่ (เขาสุมนกูฎ) ปัจจุบันได้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่มณฑปจัตุรมุข ภายในรอยพระพุทธบาทนั้นจำหลักเป็นลายมงคลหนึ่งร้อยแปด และลายดอกจันโดยรอบ
พระอุโบสถ
ตั้งอยู่ด้านหลังเจดีย์ประธาน สร้างขึ้นด้วยการเรี่ยไรทรัพย์ชาวเมืองเพื่อสร้างพระอุโบสถ โดย พญารณชาญ (ครุฑ) เจ้าเมืองสุโขทัย ครั้งเมื่ออุปสมบทที่วัดแห่งนี้ พระอุโบสถก่ออิฐถือปูน ด้านหน้าเป็นมุขโถง ไม่มีเสาพาไลรองรับหลังคา หน้าบันไม้แบบลูกฟัก หลังคาทรงจั่วลด 2 ชั้น มีหางหงส์ปูนปั้นรูปมกร และใบเสมาหินชนวนคู่ตั้งอยู่รอบพระอุโบสถ ภายนอกก่อเป็นกำแพงแก้ว ภายในพระอุโบสถประดิษฐานด้วยพระพุทธรูปปูนปั้นสีขาวนามว่า หลวงพ่อขาว เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย เป็นประธาน
เจดีย์ประธาน
ตั้งอยู่ระหว่างพระอุโบสถและมณฑปจัตุรมุข เป็นเจดีย์ทรงระฆังสมัยสุโขทัย ฐานก่อด้วยหินศิลาแลง ส่วนบนก่อด้วยอิฐ เจดีย์ตั้งอยู่บนฐานบัวลูกแก้วอกไก่รูปสี่เหลี่ยม ส่วนบนเป็นฐานกลมลดหลั่นขึ้นไป ถึงชั้นบัวถลา ถัดขั้นไปเป็นชั้นบัลลังก์ ก้านฉัตร และปลียอด
วัดตระพังทอง ตั้งอยู่ที่ ถนนทางหลวงหมายเลข 12 ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย
ที่อยู่: ตำบล เมืองเก่า อำเภอเมืองสุโขทัย สุโขทัย 64210
โทรศัพท์: 085 052 3797
ขอขอบคุณ
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานสุโขทัย
13 สิงหาคม 2562