สรรเสริญ หวังบทเรียนอังค์ถัด รับมือ ปฏิวัติอุตสาหกรรมรอบ 4

ดร.สรรเสริญ สมะลาภา หวังผลจากเวทีสัมมนา อังค์ถัด-ไอทีดี โดยจะนำแนวคิดและมุมมองจากผู้เชี่ยวชาญทั่วโลก มาช่วยเสริมนโยบายของกระทรวงพาณิชย์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไทย และมาใช้คาดการณ์ผลกระทบจากโลกาภิวัตน์ใหม่และการปฏิวัติอุตสาหกรรมรอบที่ 4  ระบุโลกตึงเครียดจากสงครามการค้าและลงทุนระหว่างประเทศ

ดร.สรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าวถึงการสัมมนาหัวข้อ "การค้า เทคโนโลยี และความตึงเครียดในอนาคต : โอกาสและภัยคุกคามไร้ขอบเขต"  ซึ่งจัดขึ้นโดยสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) หรือ ไอทีดี  เมื่อวันที่ 2 กันยายนที่ผ่านมาว่า จะนำบทสรุปและมุมมองจากผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ บนเวทีสัมมนา มาสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงพาณิชย์ และนำมาช่วยผลักดันนโยบายสำคัญของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ อาทิ การส่งออก การพัฒนาเศรษฐกิจยุคใหม่  การพัฒนาภาคบริการ  การหนุนการลงทุนด้านปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) รวมถึงการคาดการณ์ผลกระทบต่อผู้บริโภค และผลจากสงครามการค้ายุคใหม่

ทั้งนี้ ดร.สรรเสริญ  ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ร่วมกับ ดร.มูคิสะ  คิทูยี เลขาธิการอังค์ถัด ร่วมเป็นประธานเปิดเวทีการประชุมทางวิชาการนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมวิชาการระดับภูมิภาคว่าด้วยการค้าและการพัฒนาประจำปี 2562  และเป็นการฉลองครบ 19 ปี ไอทีดี ซึ่งเป็นเจ้าภาพ โดยมีผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ จากทั่วโลกมาร่วมสะท้อนประเด็นที่อยู่ในกระแสสำคัญของโลก อาทิ ความตึงเครียดทางด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศที่กำลังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก พร้อมกับแนวโน้มการอุบัติขึ้นของเทคโนโลยีและนวัตกรรมรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นมากมาย โดยอังค์ถัด และไอทีดี คาดหวังผลจากเวทีสัมมนา จะกระตุ้นให้ประเทศในแถบภูมิภาคเอเชีย  ร่วมกำหนดแผนปฏิบัติการการค้าและการลงทุนเพื่อสนองตอบต่อโลกยุคใหม่และการพัฒนาที่ยั่งยืน

สำหรับสภาวะโลกปัจจุบัน ไอทีดี รายงานว่า โลก กำลังเผชิญกับ กระแสโลกาภิวัตน์ที่รุนแรง (Hyper-Globalization) การปฏิวัติอุตสาหกรรม รอบที่ 4 (4th Industrial Revolution) การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) และปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence (AI) ซึ่งเป็นหนึ่งใน Mega Trends ที่ทั่วโลกให้ความสนใจ และอาจส่งผลกระทบทางลบต่อสังคม เช่น เกิดความเหลื่อมล้ำ และการว่างงานที่สูงขึ้น แต่ก็นับว่าเป็นช่องว่างเปิดโอกาสสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ด้วยเหตุนี้ การเชื่อมโยงการค้า การลงทุน และการพัฒนาเข้าด้วยกันที่จะช่วยส่งเสริมให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้นั้น จะต้องอาศัยกระบวนทัศน์ และระบบการคิดใหม่ ทั้งในเชิงนโยบายและความร่วมมือภาคีเครือข่ายต่างๆ โดยสรุปสาระสำคัญในการสัมมนาทั้ง 4 ช่วงได้ดังนี้
ช่วงที่ 1 การเตรียมก้าวเข้าสู่ปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจที่ไร้การใช้ธนบัตร (Demonetized Economy) ที่ต้องมีการออกข้อกฎหมายให้รองรับ และต้องศึกษาหาแนวทางสำคัญในการควบคุมและกำกับดูแลด้านการเงินให้กับรัฐบาลอื่นๆ ต่อไปในอนาคต 
ช่วงที่ 2 ปัญญาประดิษฐ์ AI ความท้าทายใหม่ในโลกแห่งอนาคตที่จะช่วยกำหนดทิศทางของพัฒนาการของเศรษฐกิจการค้าและการลงทุน รวมถึงการพัฒนาต่างๆ เช่น ระบบการค้าพหุภาคี ความไม่เสมอภาคทางสังคม การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมไปถึงความวิตกกังวลว่า เราจะได้รับผลกระทบอย่างไรจาก AI 
ช่วงที่ 3 สังคมอนาคตกับบริบทเทคโนโลยี ใครเป็นผู้กำหนดทิศทางการเปลี่ยนแปลง บทบาทของเทคโนโลยี ทั้งในเรื่องการสร้างงาน การให้สวัสดิการทางสังคม จนถึงคำถามสำคัญว่า เราจะต้องมีขีดความสามารถอะไรในยุคของ AI ตลอดจนนวัตกรรมใหม่ๆ และข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ช่วงที่ 4 แบ่งปันมุมมองประสบการณ์กรณีตัวอย่างของการนำนโยบายด้านเทคโนโลยีและข้อกฎหมายมาใช้ เพื่อกำหนดนโยบายด้านการค้าและการพัฒนาของประเทศกำลังพัฒนา กรณีศึกษาที่น่าสนใจคือ การประยุกต์เทคโนโลยีดิจิทัลในการผลิตของภาคเกษตรและประมง ที่ช่วยลดความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ ดร.สรรเสริญ จะนำแนวคิดต่างๆมาช่วยเสริมนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ต่อไป

7 กันยายน 2562


บริษัท มีเดีย เน็ทเวิร์ค จำกัด
138, 140 ซอยอนามัย ถนนศรีนครินทร์ แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ 10250
MEDIA NETWORK Co.,Ltd
138, 140 Soi Anamai Srinakarin Road Suanluang Suanluang Bangkok 10250
Tel. 02 721 4417 Fax. 02 721 5516
E-mail : phototechthailand@gmail.com


ติดต่อโฆษณาหรือข้อมูลเพิ่มเติม
โทร. 02 721 4417 , 097 921 2929 คุณขวัญ

แฟนเพจ Phototech Magazine


ออกแบบโดย touronthai