สวทช. อว. ผนึกพันธมิตร ผลักดัน “Smart Tambon Model” ยกระดับคุณภาพชีวิตท้องถิ่นด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม

(26 กันยายน 2562): สวทช. ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรมพัฒนาที่ดิน และเครือเบทาโกร ลงนามความร่วมมือเพื่อยกระดับการพัฒนาท้องถิ่นด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม พัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่แบบองค์รวม 5 ด้าน สร้างความรู้ ลดความเหลื่อมล้ำ นำร่องต้นแบบ 7 ตำบล 5 จังหวัด ภายใต้ “โครงการส่งเสริมการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในการพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่แบบองค์รวมในระดับตำบล: Smart Tambon” ณ ห้องออดิทอเรียม บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย

นายองอาจ ปัญญาชาติรักษ์

ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

นายองอาจ ปัญญาชาติรักษ์ กล่าวว่า ความร่วมมือของหน่วยงานทั้งภาครัฐ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน ภายใต้โครงการ Smart Tambon Model เพื่อพัฒนาชุมชนทั้ง 5 ด้าน ได้แก่ อาชีพ สุขภาพ การศึกษา สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เป็นกลไกขับเคลื่อนสำคัญนั้น สอดคล้องกับภารกิจของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. ที่มุ่งเน้นการวางรากฐานเพื่อพัฒนาประเทศไทยไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยมีภารกิจสำคัญ คือ “สร้างและพัฒนาคน” ให้เป็น Smart Citizen เปิดโอกาสที่เท่าเทียมกันในการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life Long Learning) ทุกช่วงวัย ลดความเหลื่อมล้ำ “สร้างและพัฒนาองค์ความรู้” ไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่เน้นคุณค่า ขับเคลื่อนงานวิจัยและพัฒนาที่จะนำไปสู่นวัตกรรม บูรณาการงานวิจัย เพื่อตอบโจทย์ประเทศ ลดความเหลื่อมล้ำและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนเป็นสำคัญ และ “สร้างและพัฒนานวัตกรรม” ไปสู่ประเทศฐานนวัตกรรม โดยจะต้องแปลงนวัตกรรมเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจและคุณค่าทางสังคม ส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมชุมชน นวัตกรรมสังคม และนวัตกรรมเชิงธุรกิจ สร้างมูลค่าเพิ่ม ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green (BCG) Economy)

“Smart Tambon Model จะเป็นกลไกการพัฒนาชุมชน ให้เกิดการพัฒนาแบบก้าวกระโดด ชุมชนอยู่ดีกินดี ลดความเหลื่อมล้ำ มีสุขภาวะที่ดี ชุมชนเข้าถึงบริการภาครัฐ เด็กและเยาวชนได้เข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นพันธมิตรขับเคลื่อนในพื้นที่ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งเป็นต้นแบบขยายผลไปสู่ชุมชนอื่นๆ อย่างยั่งยืนต่อไป”

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล

ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล กล่าวว่า  Smart Tambon Model เป็นต้นแบบการพัฒนาท้องถิ่นที่เกิดจากการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐส่วนกลาง ส่วนท้องถิ่น และบริษัทเอกชน เพื่อยกระดับการพัฒนาพื้นที่แบบองค์รวมในด้านอาชีพ สุขภาพ การศึกษา สังคม และสิ่งแวดล้อม  โดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่แบบองค์รวมในระดับตำบล  

“การเรียนรู้จากความรู้ต่างๆ ต้องผนวกและประสานเข้ากับเทคโนโลยี จึงจะทำให้เกิดสมาร์ท (smart) ในพื้นที่ และทำให้พื้นที่เรียนรู้ ต่อยอด พัฒนาและสร้างความยั่งยืนได้ ปัจจุบันเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก เทคโนโลยีมีหลายระดับ แต่ละระดับต้องถูกใช้อย่างเหมาะสม ขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละชุมชน เพราะฉะนั้นไม่ได้หมายความว่าชุมชนหนึ่งใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม อีกชุมชนหนึ่งจะใช้เทคโนโลยีเดียวกันและเกิดความเหมาะสม การเข้าใจ เข้าถึงเพื่อการพัฒนาจึงเป็นเรื่องสำคัญ และเมื่อพูดถึง Smart เรานึกถึง Smart City ซึ่งเต็มไปด้วยเทคโนโลยี แต่ Smart Tambon จะเต็มไปด้วยองค์ความรู้ เต็มไปด้วยความสามารถในการพัฒนาองค์ความรู้ เต็มไปด้วยคนที่สามารถนำองค์ความรู้เหล่านั้นไปต่อยอดและใช้ได้อย่างเต็มภาคภูมิในศักยภาพของแต่ละหน่วยงานในแต่ละพื้นที่ในแต่ละตำบล”

สวทช. ในฐานะหน่วยงานที่มีบทบาทการพัฒนางานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ ได้นำเทคโนโลยีปรับประยุกต์ให้เหมาะกับสภาพปัญหา ความต้องการและบริบทของพื้นที่ ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงความรู้และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น โดยใช้ประโยชน์จากระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า หรือ TPMAP และแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุกออนไลน์ หรือ Agri Map ซึ่งเป็น Data Bank รวบรวมข้อมูลพื้นฐานต่างๆ ของชุมชน เป็นฐานข้อมูลในการดำเนินงานเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาพื้นที่แบบองค์รวม ซึ่ง สวทช. พร้อมนำเทคโนโลยีสนับสนุนการพัฒนาในแต่ละด้าน ไม่ว่าจะเป็น ด้านอาชีพ เช่น การใช้เทคโนโลยีสมาร์ทฟาร์มเพื่อการผลิตพืชผักคุณภาพ เทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์  ด้านสุขภาพ นำเทคโนโลยีสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพในทุกช่วงวัย เช่น ระบบการจัดการเมนูอาหารกลางวัน หรือ Thai School Lunch

สมุดสุขภาพออนไลน์ ระบบตรวจวัดสุขภาพเบื้องต้นอัตโนมัติ ขณะที่ด้านการศึกษาใช้ Kid bright บอร์ดสมองกลฝังตัวที่ทำงานตามชุดคำสั่ง ช่วยกระตุ้นศักยภาพการคิดเชิงระบบและการคิดเชิงสร้างสรรค์ในเด็กวัยเรียน ด้านสังคม เช่น การใช้ระบบพิพิธภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Museum) และระบบนำชมพิพิธภัณฑ์ (Museum Pool) เก็บข้อมูลและองค์ความรู้ในพิพิธภัณฑ์ให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล ที่เข้าถึงง่าย และในด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การจัดการขยะอินทรีย์ การใช้ประโยชน์จากเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร เป็นต้น

นายวนัส แต้ไพสิฐพงษ์

ประธานคณะกรรมการบริหาร เครือเบทาโกร

นายวนัส แต้ไพสิฐพงษ์ กล่าวว่า สมาร์ท คือ วิธีคิดของคนที่ผนวกเข้ากับการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการดำเนินชีวิต โดยเริ่มต้นที่การมองภาพรวมก่อน เพราะการมองภาพรวมจะทำให้เห็นถึงโอกาสและปัญหาที่เกิดขึ้นจริง สามารถทำให้กำหนดได้ว่าจะดำเนินไปในทิศทางใด อาทิ การจ้างงาน หากองค์กรหรือหน่วยงานสนับสนุนให้คนในชุมชนออกไปทำงานที่อื่น ทิ้งถิ่นฐานเพื่อสร้างรายได้ ในชุมชนก็จะมีแต่ผู้สูงอายุ และเด็ก ซึ่งไม่มีใครดูแล จากการที่เราทำงานเพื่อชุมชนมากว่า 10 ปี เรามองว่าต้นทุนตรงนี้สูงกว่าที่หลายคนเข้าใจ เครือเบทาโกรจึงได้พัฒนาแนวความคิดการทำงาน เพื่อแก้ไขปัญหาของชุมชนในทุกด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สุขภาพ สิ่งแวดล้อม สังคม และการศึกษา ที่เรียกว่าการพัฒนาพื้นที่แบบองค์รวม (Holistic Area-based Community Development) หรือ HAB เพื่อช่วยให้คนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

“เครือเบทาโกรพร้อมแบ่งปันความรู้ ความเชี่ยวชาญในการทำงานชุมชน ตลอดจนสนับสนุนบุคลากรและทรัพยากรณ์เพื่อช่วยยกระดับการพัฒนาท้องถิ่น เราเชื่อว่าหากชุมชนมีโอกาสปรับปรุงวิธีการบริหารชุมชน บริหารทรัพยากรในพื้นที่ด้วยตัวของเขาเอง โดยมีความช่วยเหลือจากภาครัฐที่ใช้ระบบข้อมูล ให้ความรู้ และเทคโนโลยี เราจะสามารถยกระดับการบริหารชุมชนขึ้นมาได้ ถือเป็นความสำเร็จมาก เพราะจะเป็นพื้นฐานสำคัญสู่การพัฒนาประเทศในอนาคต”

Smart Tambon Model นำร่องในพื้นที่การทำงานชุมชนของเบทาโกร ประกอบด้วย 7 พื้นที่ ใน 5 จังหวัด ได้แก่ 1) อบต.ช่องเม็ก จ.อุบลราชานี 2) อบต. ส้าน 3) อบต.ไชยสถาน จ.น่าน 4) อบต.เขาดินพัฒนา 5) อบต. ห้วยบง จ.สระบุรี 6) เทศบาลตำบลคำพอุง จ.ร้อยเอ็ด และ 7) เทศบาลตำบลชุมโค จ.ชุมพร ซึ่งหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกพื้นที่ต้นแบบมีองค์ประกอบสำคัญ 3 เรื่อง คือ 1) ชุมชนที่เข้มแข็ง ผู้นำชุมชนมีวิสัยทัศน์ 2) สถาบันการศึกษาในพื้นที่ ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง และ 3) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สนับสนุนและร่วมผลักดันการทำงาน

นายสำเนียง สิมมาวัน

ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและการมีส่วนร่วม กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น

นายสำเนียง สิมมาวัน กล่าวว่า บทบาทของกรมฯ มุ่งส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  มีความเข้มแข็ง มีศักยภาพในการให้บริการสาธารณะในด้านต่างๆ แก่ประชาชนในท้องถิ่น นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

“องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เป็นหน่วยงานบริการในพื้นที่ที่มีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาท้องถิ่นในทุกๆ ด้าน โครงการ Smart Tambon จะเป็นอีกหนึ่งมิติการทำงานของ อบต. ที่จะส่งเสริมและพัฒนาท้องถิ่นโดยบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานในพื้นที่และส่วนกลาง และใช้ความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อแก้ปัญหาในด้านต่างๆ นำไปสู่การพัฒนาคุณชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับประชาชนในพื้นที่ ทั้งในด้านรายได้ การศึกษา สุขภาพ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งพื้นที่ อบต. นำร่องทั้ง 7 แห่งจะเป็นต้นแบบแห่งการพัฒนาท้องถิ่นด้วยความรู้และขยายผลสู่พื้นที่อื่นต่อไป”

ดร.สถาพร ใจอารีย์

รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมพัฒนาที่ดิน

ดร.สถาพร ใจอารีย์ กล่าวว่า กรมพัฒนาที่ดินมีภารกิจสำคัญในการกำหนดนโยบายและวางแผนการใช้ที่ดินในพื้นที่เกษตรกรรม การสำรวจและจำแนกดิน การกำหนดบริเวณการใช้ที่ดิน การอนุรักษ์ดินและน้ำ การปรับปรุงบำรุงดิน การผลิตแผนที่และทำสำมะโนที่ดิน การให้บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการพัฒนาที่ดินเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรและให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างยั่งยืน

“Smart Tambon Model เป็นอีกหนึ่งโครงการที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของกรมพัฒนาที่ดิน ระยะ 20 ปี (2560-2579) ที่มุ่งเน้นพัฒนาที่ดินให้สมบูรณ์ เพิ่มพูนผลผลิต ในทิศทางการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนบนพื้นฐานการมีส่วนร่วม ซึ่งความเชี่ยวชาญของกรมฯ จะสนับสนุนและส่งเสริมความรู้ให้ชุมชนเกิดการใช้ประโยชน์จากดินอย่างถูกต้องตามบริบทของแต่ละพื้นที่ หากชุมชนรู้จักและเข้าใจดินของตนเองอย่างถูกต้องด้วยความรู้และเทคโนโลยี จะมีส่วนช่วยเพิ่มประสิทธิการทำเกษตร ส่งผลต่อคุณภาพผลผลิตและชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของชุมชนได้”

26 กันยายน 2562


บริษัท มีเดีย เน็ทเวิร์ค จำกัด
138, 140 ซอยอนามัย ถนนศรีนครินทร์ แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ 10250
MEDIA NETWORK Co.,Ltd
138, 140 Soi Anamai Srinakarin Road Suanluang Suanluang Bangkok 10250
Tel. 02 721 4417 Fax. 02 721 5516
E-mail : phototechthailand@gmail.com


ติดต่อโฆษณาหรือข้อมูลเพิ่มเติม
โทร. 02 721 4417 , 097 921 2929 คุณขวัญ

แฟนเพจ Phototech Magazine


ออกแบบโดย touronthai