“รมช. พาณิชย์” ลุยถิ่น “ปลาแรด” ลุ่มน้ำสะแกกรังอุทัยธานี หารือขยายตลาดและเพิ่มมูลค่าสินค้าชุมชนด้วย GI
นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมคณะ ลงพื้นที่จังหวัดอุทัยธานี พิสูจน์คุณภาพกระบวนการผลิตสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ “ปลาแรดลุ่มน้ำสะแกกรังอุทัยธานี” เผยเตรียมส่งเสริมช่องทางการตลาดและอัพเกรดการควบคุมคุณภาพเจาะตลาดสินค้าพรีเมียม
นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์
เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2562 นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ร่วมด้วยคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ลงพื้นที่จังหวัดอุทัยธานีเพื่อเยี่ยมชมกระบวนการผลิตและตรวจสอบคุณภาพของลุ่มน้ำสะแกกรังอุทัยธานี ซึ่งเป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI ที่มีชื่อเสียงของจังหวัดอุทัยธานี ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้มอบประกาศนียบัตรการอนุญาตใช้ตราสัญลักษณ์ GI ให้แก่ผู้ประกอบการ 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้เลี้ยงปลาแรดสะแกกรังจากตำบลท่าซุง ตำบลอุทัยใหม่ ตำบลน้ำซึม และตำบลสะแกกรัง โดยการลงพื้นที่ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาการค้า การบริการ และทรัพย์สินทางปัญญาจากภูมิภาคสู่ตลาดการค้าเสรี ในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง (นครสวรรค์ อุทัยธานี พิจิตร กำแพงเพชร) เพื่อเพิ่มศักยภาพทางธุรกิจแก่ผู้ประกอบการยุคใหม่ในกลุ่มจังหวัดข้างต้น
นายวีรศักดิ์ เปิดเผยว่า “จากการลงพื้นที่ครั้งนี้ พบว่ากลุ่มผู้เลี้ยงลุ่มน้ำสะแกกรังอุทัยธานี มีการบริหารจัดการและควบคุมกระบวนการผลิตอย่างเป็นระบบ ผลิตภัณฑ์ปลาแรดของที่นี่ จึงมีคุณภาพโดดเด่นเป็นที่ยอมรับมาอย่างยาวนาน ซึ่งไม่ใช่แค่เอกลักษณ์ของเนื้อปลาที่นุ่ม แน่น และรสชาติหวานอร่อยเท่านั้นที่สามารถดึงดูดลูกค้าชาวไทยและชาวต่างชาติ แต่วิถีชีวิตชุมชนชาวประมงที่มีเสน่ห์ ประกอบกับการรวมตัวกันอย่างเหนียวแน่นของผู้ประกอบการในท้องถิ่น ยังเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งทางธุรกิจและนำรายได้มาสู่ชุมชนอย่างต่อเนื่อง”
“ทั้งนี้ ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ส่งเสริมความรู้เรื่อง การใช้ประโยชน์จากตราสัญลักษณ์ GI ในเชิงพาณิชย์ การควบคุมคุณภาพ ตลอดจนสนับสนุนช่องทางการตลาดแก่ผู้ประกอบการในพื้นที่ เช่น เชิญผู้ประกอบการมาร่วมออกบูธจำหน่ายสินค้าในงาน GI Market การประชาสัมพันธ์สินค้าผ่านสื่อต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ เป็นต้น ซึ่งในลำดับถัดไปเราจะส่งเสริมให้เกิดการต่อยอดทางธุรกิจเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนมากยิ่งขึ้น ทั้งการขยายช่องทางการตลาด การเพิ่มมูลค่าให้สินค้าและบริการ การเจรจากับประเทศคู่ค้า หรือการพัฒนาธุรกิจเชิงท่องเที่ยว เพื่อเจาะตลาดลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ โดยอาศัยองค์ความรู้และการดำเนินงานแบบบูรณาการของหน่วยงานต่างๆ ในกระทรวงพาณิชย์มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ชุมชน ซึ่งในครั้งนี้ตนและทีมงานจากกระทรวงฯ ได้ร่วมหารือกับกลุ่มผู้เลี้ยงปลาในพื้นที่ เพื่อศึกษาความพร้อมและโอกาสในการพัฒนาธุรกิจของชุมชนให้เติบโตอย่างเข้มแข็ง พร้อมรับฟังปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะเข้ามาช่วยดูแลและปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นต่อไป” นายวีรศักดิ์กล่าวเพิ่มเติม #วีรศักดิ์ดูแล#WeerasakTakeCare
3 ตุลาคม 2562