ชี้แจงกรณี นายศรีสุวรรณ จรรยา และชาวองครักษ์ร้อง ปปช. กรณีเก็บกากกัมมันตรังสีที่องครักษ์
ตามที่สื่อมวลชนหลายสำนักได้มีการนำเสนอข่าวที่ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ตามที่สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์กรมหาชน) หรือ สทน. ได้ก่อตั้งสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ขึ้นที่ ต.ทรายมูล อ.องค์รักษ์ และมีการนำกากกัมมันตรังสีซึ่งเกิดจากการผลิต หรือการใช้วัสดุนิวเคลียร์หรือจากเครื่องกําเนิดรังสี ที่หมดอายุการใช้งานแล้ว ซึ่งเดิมมีการเก็บรักษาไว้ที่สำนักงานเดิมที่ถนนวิภาวดีบางเขน ข้าง มก. และศูนย์ฉายรังสีคลอง 5 ปทุมธานี โดยมีการจัดจ้างเอกชนให้ทำการขนย้ายกากกัมมันตรังสีทั้ง 2 แห่งดังกล่าว ไปเก็บรักษาไว้ ณ โรงเก็บกากกัมมันตรังสี อ.องค์รักษ์ ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ โดยที่ภาคประชาชนในพื้นที่อำเภอองค์รักษ์ และหรือประชาชนในพื้นที่จังหวัดนครนายกไม่มีใครทราบข้อมูลดังกล่าวเลยแต่อย่างใด ตลอดจนระบุว่า สทน.ไม่ดำเนินตามกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ที่เกี่ยวข้อง
ดร.พรเทพ นิศามณีพงษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. ได้ชี้แจงประเด็นที่ นายศรีสุวรรณ และชาวอำเภอองครักษ์ไปร้อง ปปช.นั้นน่าจะเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน และมีหลายประเด็นที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ ของชี้แจงประเด็นต่างๆ ดังนี้
- สทน. เป็นหน่วยงานของรัฐประเภทองค์การมหาชน จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกา การจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติปี พ.ศ.2549 แก้ไขเพิ่มเติมปี พ.ศ. 2561 โดยรับโอนภารกิจสำคัญๆ มาจากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ อาทิ การเดินเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัย การผลิตสารเภสัชรังสี การฉายรังสีและอาหารและผลิตผลการเกษตร โดยกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ สทน.ได้รับใบอนุญาตการเป็นสถานประกอบการทางนิวเคลียร์และใบอนุญาตครอบครองวัสดุกัมมันตรังสี ภายใต้พระราชบัญญัติพลังงานปรมาณูเพื่อสันติปี พ.ศ. 2504 ทุกกิจกรรม
- สำหรับที่ระบุว่า สทน.ไม่ทำการตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559 นั้นอาจจะเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน โดยมาตรา 51 ที่ระบุในพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559 นั้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ ซึ่งปัจจุบันสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) อยู่ระหว่างการดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ และจัดทำรายงานผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (EHIA) เพื่อขอจัดตั้งเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัยเครื่องใหม่ ขั้นตอนดังกล่าวเพิ่งเริ่มดำเนินการ ยังไม่มีการอนุมัติการก่อสร้างโครงการแต่อย่างใด สทน.จึงยังไม่มีความจำเป็นต้องขอรับใบอนุญาตสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ตามที่ระบุ
- สำหรับกรณีกากกัมมันตรังสีนั้น เนื่องจาก สทน. จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2549 โดยรับโอนภารกิจหน้าที่ของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ในส่วนที่เป็นวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์มาดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี โดยพระราชบัญญัติพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ. 2504 มิได้กำหนดเกี่ยวกับใบอนุญาตผู้ให้บริการจัดการกัมมันตรังสี สทน. ดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2549 โดยให้ดำเนินการจัดการกากกัมมันตรังสีให้เป็นไปตามมาตรฐานและกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ในส่วนของกฎกระทรวงเกี่ยวกับใบอนุญาตผู้ให้บริการจัดการกากกัมมันตรังสี ประกอบพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ ปี 2559 ขณะนี้ยังมิได้ประกาศใช้บังคับ สทน. ยังคงปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องและเป็นไปตามมาตรฐานสากล
ปัจจุบัน สทน.เป็นหน่วยงานของรัฐหน่วยงานเดียวที่ทำหน้าที่ในการจัดการกากกัมมันตรังสี โดยดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล เพื่อความปลอดภัยของประชาชนและสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตามในฐานะผู้บริหารสูงสุดของ สทน.ขอยืนยันว่า การดำเนินการของ สทน.ดำเนินการอย่างถูกต้องเป็นไปตามกฎหมายและข้อกำหนดต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และยังได้รับการตรวจสอบจากหน่วยงานภายนอก อาทิ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลภายในประเทศ และทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) หน่วยงานด้านนิวเคลียร์ของสหประชาชาติ ขอให้เชื่อมั่นว่าเราจะดำเนินทุกกิจกรรมอย่างตรงไปตรงมา และตรวจสอบได้ ดร.พรเทพ กล่าวในตอนท้าย
3 ธันวาคม 2562