SN Group 60 ปี ส่งต่อความรู้อนุรักษ์น้ำเทรนด์ใหม่สู่เยาวชนไทย ผ่านบอร์ดเกมส์ “Water Journey” สื่อการสอนมอบโรงเรียน ธ.ค.นี้
SN Group โชว์ความสำเร็จผู้นำการบริหารจัดการน้ำครบวงจร 60 ปี ลุยถ่ายทอดองค์ความรู้สู่เยาวชนไทย ผ่านการพัฒนาบอร์ดเกมส์ “Water Journey” ใช้ นาก เป็นหมากเดินเกมส์ สร้างแรงบันดาลใจ เพิ่มทักษะการเรียนรู้ด้านการอนุรักษ์และดูแลสิ่งแวดล้อม พร้อมส่งมอบ 1,000 ชุดสู่สถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ธันวาคม 2562 หวังดึงคนรุ่นใหม่ขยายเครือข่ายใส่ใจการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างรู้คุณค่า
นางเกตุวลี นภาศัพท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ส.นภา(ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท โกลบอล ยูทิลิตี้ เซอร์วิส จำกัด และบริษัท เจม เอ็นไวรันเมนทัล แมเนจเม้นท์ จำกัดในเครือ SN Group ผู้นำธุรกิจน้ำและสิ่งแวดล้อมอย่างครบวงจร เปิดเผยภายในงาน “การนำเสนอผลงานรอบชิงชนะเลิศและพิธีมอบรางวัลโครงการ Boot Camp วัฒนธรรมรักษ์น้ำ” ณ อาคารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า ตลอดการขับเคลื่อนธุรกิจด้านการบริหารจัดการน้ำแบบครบวงจร ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาอย่างต่อเนื่อง
ตลอดระยะเวลา 60 ปี บริษัทได้ให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างรู้คุณค่าควบคู่ไปกับการสนับสนุนด้านการศึกษา ผ่านโครงการต่างๆ โดยเฉพาะโครงการ “Envi Mission วัฒนธรรมรักษ์น้ำ” ที่เป็นความร่วมมือระหว่าง บริษัท ส.นภา และ คณะวิศวกรรมศาสตร์ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเพิ่มทักษะให้กับเยาวชนไทยได้เกิดความเข้าใจในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรน้ำ ที่นับเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่ตระหนักถึงการใช้ทรัพยากรน้ำที่มีความคุ้มค่า และนำไปสู่ความรวมมือในการบริหารจัดการน้ำระดับประเทศอย่างยั่งยืน ตามแนวทางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
ทั้งนี้ ส.นภา ได้ให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาโซลูชั่นใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการสร้างองค์ความรู้ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำสูสาธารณชน โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน เพื่อให้ตระหนักรู้ และเห็นความสำคัญของการใช้ทรัพยากรน้ำที่เป็นทรัพยากรพื้นฐานในการพัฒนาประเทศ และมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ เห็นได้จากการดำเนิน โครงการ Envi Mission ที่มีการพัฒนาบอร์ดเกมส์ “Water Journey : Innovation education on Water and Wastewater management” ควบคู่ไปกับการจัดทำ “หนังสือ / คู่มือวิชาการ” กว่า 1,000 ชุด พร้อมที่จะส่งมอบให้กับสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ เพื่อนำไปเป็นสื่อการเรียนการสอนที่เกี่ยวข้องกับน้ำและสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษาจนถึงระดับมหาวิทยาลัย ที่จะเริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคม 2562 เป็นต้นไป
โดยมีกลุ่มโรงเรียนเป้าหมายในการส่งมอบบอร์ดเกมเพื่อการศึกษา Water Journey ในครั้งนี้ ประกอบด้วย 1.โรงเรียนที่เข้ารอบสุดท้ายของกิจกรรม Boot Camp ในโครงการ Envi Mission 2.โรงเรียนรอบนิคมอุตสาหกรรม ภายใต้โครงการสีสันสิ่งแวดล้อมปี 2563 ของ SN Group 3.โรงเรียนที่ทางอาจารย์ได้เข้าร่วมในการพัฒนา Educational Board Game ชุดนี้ และ 4.โรงเรียนที่มีความสนใจขอรับ Water Journey ทางช่องทางต่างๆ อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่เดือนธันวาคมนี้ SN Group เตรียมที่จะนำบอร์ดเกมส์ Water Journey เข้าไปทดลองในโรงเรียนต่างๆ ทั้งกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ไม่ว่าจะเป็นจากโรงเรียนจิตรลดา (ฝ่ายประถมและมัธยม) สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา โรงเรียนสตรีวัดมหาพฤฒาราม โรงเรียนปทุมคงคา เป็นต้น ซึ่งทางโรงเรียน ได้ให้การตอบรับและแสดงความสนใจ ที่ SN Group เตรียมเข้าไปจัดกิจกรรมดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงการตื่นตัวของเยาวชนไทยที่จะนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันและร่วมกันอนุรักษ์น้ำภายในโรงเรียน พร้อมทั้งยังได้มีความร่วมมือกับคณะครูอาจารย์ที่ได้รับมอบบอร์ดเกมส์ นำไปใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนในกิจกรรมต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนสามารถคิดค้นโครงงานที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์และสิ่งแวดล้อมต่อไป
สำหรับการพัฒนาบอร์ดเกมส์เพื่อการศึกษา “Water Journey” นี้เป็นสื่อการเรียนการสอน หรือ Educational Toolkit ด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเกมส์เสริมทักษะในการบริหารจัดการน้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และนำไปสู่การพัฒนาเมืองให้เกิดความยั่งยืน โดยมีความน่าสนใจที่การออกแบบและพัฒนาเป็นลักษณะแผนภาพ Diagram ที่มีสีสันสวยงามและเข้าใจง่ายในการเล่น ให้เกิดการฝึกทักษะกระบวนความคิด การวางแผนในแต่ละด่านผ่านตัวนากที่เป็นตัวแทนหรือฑูตของแหล่งน้ำสะอาด เป็นหมากในการเดินเกมส์ ใช้ผู้เล่น 4-8 คน รวมทั้งยังได้จัดทำเป็นคลิปวีดีโอ เพื่อเป็นคู่มือในการเล่นบอร์ดเกมส์อีกช่องทางหนึ่ง
นอกจากการพัฒนา Water Journey พร้อมคู่มือการเล่นจนเสร็จสมบูรณ์ หลังจากนี้ ส.นภา และคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังได้มีการจัดทำหนังสือ Pocket Book มีการออกแบบตัวนาก ในรูปแบบการ์ตูน Diagram เพื่อเป็นตัวละครเอกมาดำเนินเรื่อง โดยเนื้อหาเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำและการบริหารจัดการน้ำ ที่จะเชื่อมโยงกับบอร์ดเกมส์ เป็นหนังสือที่จะสร้างความสนใจให้กับเยาวชน ตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาขึ้นไป เข้าถึงเนื้อหาได้ง่ายขึ้น และสำหรับผู้ที่มีความต้องการเนื้อหาเชิงวิชาการ ส.นภา ได้จัดทำในลักษณะ e-Book ที่ได้รับการเขียนและเรียบเรียงจากคณาจารย์ และทีมงานจากภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม จุฬาฯ ซึ่งขณะนี้ดำเนินการแล้วเสร็จไปกว่า 90% และคาดว่าจะสามารถส่งมอบให้โรงเรียนต่างๆ ได้ในต้นปี 2563 ส่วนของเนื้อหาในคู่มือดังกล่าว ประกอบด้วย 6 เรื่อง ดังนี้ 1. เรื่องของวัฏจักรการหมุนเวียนน้ำ 2.ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับคุณภาพน้ำ 3.แหล่งน้ำดิบและคุณภาพเบื้องต้นน้ำ 4.ปริมาณและคุณภาพน้ำในแต่ละกิจกรรมและน้ำเสียที่เกิดขึ้น 5.เทคโนโลยีการปรับปรุงคุณภาพน้ำและการบำบัดน้ำเสีย และ 6.กรณีศึกษาและแนวทางการพัฒนาที่เกี่ยวข้อง
ในส่วนความคืบหน้าของการสนับสนุนกิจกรรมค่ายวัฒนธรรมรักษ์น้ำ (Boot Camp) บริษัทยังได้วางแผนที่จะคัดเลือกโครงงานที่มีความโดดเด่นและน่าสนใจของกลุ่มนักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรม ที่มีความโดดเด่นและมีความน่าสนใจ จาก 10 โครงงาน โดยไม่จำเป็นที่ต้องผ่านการคัดเลือกเข้าสู่การชิงชนะเลิศในครั้งนี้โดยมีเป้าหมายที่จะนำโครงการเหล่านี้ไปต่อยอดและสามารถนำไปเป็นแนวทางนำการปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ในชุมชนได้จริง ซึ่งถือเป็นหนึ่งแผนการดำเนินงานของบริษัทในด้านการดูแลสังคม ชุมชนภายใต้โครงการกิจการเพื่อสังคม หรือ SE (Social Enterprise) นางเกตุวลีกล่าวเพิ่มเติมว่า บอร์ดเกมส์จะช่วยเรื่องสื่อการเรียนการสอนโดยจะให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องทรัพยากรน้ำ ปกติการเรียนการสอนจะอยู่ในตำรา อ่านหนังสือ แต่บอร์ดเกมส์จะเป็นการให้เด็กได้เล่นอย่างสนุกสนานพร้อมกับได้สาระอีกด้วย ซึ่งจะทำให้เด็กได้จดจำและคิดว่าน่าจะนำความรู้จากเกมส์ไปใช้ปฏิบัติต่อไปได้ อย่างไรก็ตาม บอร์ดเกมส์เริ่มต้นเรามุ่งเน้นนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นก่อน โดยเริ่มที่จะแจกจ่ายให้กับผู้ร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ รวมถึงโรงเรียนต่างๆ รอบนิคมอตสาหกรรมที่ทางเราบริหารอยู่ 12 แห่งทั่วประเทศด้วย
และในอนาคตเราจะขยายต่อยอดไปยังโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายทั่วประเทศ “ในส่วนของทางด้านกิจกรรมโครงการ Envi mission (ภารกิจรักษ์สิ่งแวดล้อม) นี้เรามองว่าจะทำให้เกิดความยั่งยืนในการอนุรักษ์น้ำได้ เพราะโครงการจะกิจกรรม Boot Camp ทำให้เด็กได้มีโอกาสสัมผัสกับผู้เชี่ยวชาญและวิศวกร พร้อมกับได้แลกเปลี่ยนความรู้ทำให้เกิดการจุดประกายกับเด็กในการเสาะหาความรู้อื่นเพิ่มเติม และอาจจะทำให้เด็กได้มีการต่อยอดในเชิงธุรกิจต่อไปในอนาคตอีกด้วย”นางเกตุวลีกล่าวทิ้งท้าย
6 ธันวาคม 2562