“Digital Payment” เทรนด์ไอทีเด่นเปลี่ยนสังคมไทยมากที่สุดปีหน้า
สถาบัน IMC ยก “Digital Payment” เทรนด์ไอทีเด่นเปลี่ยนสังคมไทยมากที่สุดปีหน้า คาด Promptpay จะส่งให้การชำระเงินดิจิทัลหรือ Digital Payment เป็น 1 ใน 8 ไฮไลท์เทคโนโลยีเด่นในปีหน้า (2018) ซึ่งจะมีผลเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสังคมไทยมากที่สุด ขณะเดียวกันสังคมไทยจะตื่นตัวกับบริการ IoT มากขึ้น เพราะ กสทช อนุมัติเปิดย่านความถี่ LoRA ให้ใช้งานได้
ในปีหน้า ภาคธุรกิจไทยยังต้องการการขับเคลื่อนเรื่องปรับแก้กฎหมายจากภาครัฐ เพื่อพัฒนาต่อยอดอุตสาหกรรมไอทีของประเทศ ตัวอย่างกฎหมายที่รอการแก้ไขคือ การแสดงตัวตน การเซ็นชื่อกำกับ การลดใช้เอกสาร การทำงานแบบ online / offline ได้
อุตสาหกรรมไอทีไทยปีหน้า และอีก 5 ปีนับจากนี้น่าจับตาเพราะกระแส Startup จะยังแรงอยู่ แต่ก็ต้องแข่งขันกับ Startup ในต่างประเทศจำนวนมาก นอกจากนี้ บริษัทไอทีต่างประเทศมีแนวโน้มจะเข้าตรงถึงลูกค้ามากขึ้น สะท้อนความน่าเป็นห่วงเพราะบ้านเรายังขาดบุคลากร โดยเฉพาะกลุ่มบริษัท System Integrator และบริษัทซอฟต์แวร์ขนาดเล็กที่ต้องปรับตัวอย่างมาก
สถาบัน IMC ประเมินสังคมไทยปี 2018 จะเข้าสู่ความเป็นดิจิทัลมากขึ้น โดย 2 เทคโนโลยีที่จะเข้ามามีบทบาทเปลี่ยนคนไทยมากที่สุดคือ Digital Payment และ Smart City ความน่ากังวลในปีหน้ายังอยู่ที่องค์กรไทยหลายรายปรับตัวไม่ทัน หรือเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลแบบผิวเผิน และยังไม่มี Mindset เพื่อนำข้อมูลดิจิทัลมาใช้พัฒนาธุรกิจอย่างจริงจัง
ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการ สถาบัน IMC ตั้งข้อสังเกตว่าในปี 2018 เทคโนโลยีที่จะเป็นไฮไลท์ซึ่งสังคมไทยจะตื่นตัวรับนำมาใช้ ประกอบด้วย 8 แนวโน้ม ได้แก่ Digital Payment/Cashless Society, Digital Banking, Big Data, Data Analytic, Data Available, IOT/Smart City/Smart Farm, Network/Broadband และ LoRA
“ประเทศไทยอาจจะยังไม่ใช่สังคมไร้เงินสดทันทีในปีหน้า แต่เป็นต่อเนื่องจากโครงการ Promptpay ซึ่งทำให้คนสนใจ Digital Payment รวมถึง Digital Banking เราจะเห็นสังคมมีวิธีการชำระเงินแบบใหม่มากขึ้น เรียกว่าเปลี่ยนพฤติกรรมของคนในสังคมพอสมควร อีกเรื่องที่เด่นคือบริการอินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ (IoT) ที่จะนำไปสู่ Smart City ทั้งหมดนี้เป็นผลจากที่ กสทช. อนุมัติคลื่น LoRA เพื่อใช้งาน IoT ทำให้การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตมีต้นทุนราคาถูกลง ทำให้ทุกสิ่งในสังคมเข้าสู่ดิจิทัลมากขึ้น”
นอกจาก Digital Payment และ Digital Banking เทคโนโลยีที่ยังมีผลกับองค์กรไทยไม่เปลี่ยนแปลงคือ Big Data ซึ่งองค์กรไทยยังมีปัญหาเรื่องความเข้าใจทั้งการ Implement และการใช้งาน จุดนี้มีผลต่อการใช้เทคโนโลยี Data Analytic (supply side/programmer) ที่ไม่สามารถจำลองและวิเคราะห์ รวมถึงการทำ Data Available หรือการตีข้อมูลให้เป็นประโยชน์ องค์กรไทยบางแห่งจึงนำข้อมูลไปใช้ไม่ได้
“ทุกภาคส่วนเริ่มเห็นสำคัญของ Digital Transformation เป็นเพราะเห็นการเปลี่ยนแปลงของกระแสโลก และการผลักดันนโยบาย Thailand 4.0 ของภาครัฐ แต่ส่วนใหญ่ก็ยังเน้น Social Marketing, e-Commerce ซึ่งก็ยังไม่ใช่ Key ของ Digital Transformation” ดร.ธนชาติ ยกตัวอย่าง “SME ไทยก็ปรับตัวแค่ Digitization ตัวเอง ด้วยการวางขายสินค้าออนไลน์ มุ่งเพียงการใช้เทคโนโลยี แต่ยังไม่ได้มีการปรับ Mindset หรือยังไม่ได้เข้าใจการ transformation ในโลก Digital หรือยังไม่ได้ใช้ digital มา offer และปรับใช้ในการดำเนินกิจการ”
อีกเทรนด์เห็นชัดในปีหน้า คือผู้ให้บริการ ecommerce ต่างชาติจะแข็งแกร่งขึ้น เพราะ ecommerce ต่างชาติทำได้ดีและกวาดตลาดไปได้มาก ในขณะที่ผู้ประกอบการไทยยังไม่สามารถเริ่มแข็งขันได้ แม่ค้าพ่อค้าไทยเลือกใช้และมั่นใจบริการแพลตฟอร์มจากต่างชาติมากกว่า ทั้งนี้รวมถึงบริการจัดส่ง ที่ต่างชาติจะเข้ามารุกตลาดไทยมากขึ้น
“บริการจัดส่งที่คนไทยควรจะทำได้ดี แต่กลับได้รับเพียงค่าแรงส่งของ”
สำหรับรอบปี 2017 ที่ผ่านมา ดร.ธนชาติ มองว่าเทคโนโลยีที่ถูกพูดถึงมากและองค์กรตื่นตัวรับนำมาใช้คือทุกเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับ Digital Transformation แต่การลงทุนด้านไอทีบ้านเรายังกระจุกอยู่กับการลงทุน Platform เน้นการซื้อฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์ ไม่กระจายถึงการลงทุนเพื่อปรับองค์กรสู่ Digital Tranformation ที่รอบด้าน โดยหลายองค์กรยังไม่นำข้อมูลมาใช้ให้เกิดประโยชน์เท่าที่ควร
ขณะที่การสนับสนุนด้านไอทีจากภาครัฐในรอบปี 2017 ที่ผ่านมาเห็นผลชัดเจนเรื่องสร้าง Awareness ให้คนไทยตื่นตัวมากขึ้นจากนโยบาย Thailand 4.0 แต่การลงทุนไอทีทางภาครัฐยังค่อนข้างน้อย และยังเห็นช่องว่างเชิงดิจิทัลชัดขึ้น โดยเฉพาะข้อสำคัญคือ Digital Mindset ในภาครัฐยังไม่สามารถเทียบเท่ากับภาคเอกชนได้
ดร.ธนชาติ ตั้งข้อสังเกตทิ้งท้ายว่า รัฐบาลไทยเดินมาถูกทางที่จะทำ EEC ในภาคตะวันออก ที่จะเน้นการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน การเชื่อมโยงกับต่างประเทศ และการดึงนักลงทุนขนาดใหญ่มา แต่การกำหนดพื้นที่อาจเป็นอุปสรรคในการเติบโต
“ในบางเรื่องก็ไม่สามารถจะกำหนดพื้นที่ได้ โดยเฉพาะการทำงานที่เป็นดิจิทัลในยุคใหม่ ที่ส่วนใหญ่จะทำงานที่ไหนก็ได้ รวมถึงบางกิจการ การกำหนดพื้นที่เป็นอุปสรรคในการเติบโต เป็นอุปสรรคในการรวมตัวของคนที่มีความสามารถหลากหลาย”
21 พฤศจิกายน 2560