นักวิชาการปฐมวัยและนักวิจัยชี้ สมองเด็กไทย สร้างได้ด้วยพลังชุมชน
กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์และสถาบันอาร์แอลจี (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป) ชวนพ่อแม่ ครู และผู้กำหนดนโยบายทั้งระดับชาติและท้องถิ่น ชมสารคดีสั้นและวิดีโอคลิป ภายใต้ “โครงการผลิตสื่อเพื่อส่งเสริมความเข้าใจถึงแนวทางการปฏิรูปการศึกษาในการพัฒนาเด็กและเยาวชน ด้วยพลังชุมชน” ชุด “สมองเด็กไทย สร้างได้ด้วยพลังชุมชน” รวม 21 เรื่อง บันทึกเรื่องจริงจากผลสำเร็จของชุมชนในพื้นที่ส่งเสริม EF ต้นแบบจังหวัดเชียงราย จังหวัดระยอง และพื้นที่ขยายผล EF จังหวัดลำปาง ที่ใช้การมีส่วนร่วมและหลักการพัฒนาทักษะสมองส่วนหน้า หรือ Executive Functions ให้กับเด็กปฐมวัยอย่างต่อเนื่องจนเกิดผลสัมฤทธิ์ พบเด็กมีค่าประเมินทักษะสมองสูงขึ้นและมีพัฒนาการดีขึ้น ภาพรวมทั้งชุมชนมีความสุขขึ้น
ทั้งนี้หวังจุดประกาย สร้างการเรียนรู้แก่สังคม ให้ตระหนักว่าการพัฒนาเด็กปฐมวัยที่ดี คือการวางรากฐานการศึกษาที่เข้มแข็งของชีวิต เป็น “หน้าที่ของทุกคนในชุมชน” โดยใช้องค์ความรู้ที่ทันยุคทันสมัย มีความสอดคล้องกับธรรมชาติการเรียนรู้ของสมอง และพัฒนาการเด็กตามช่วงวัยอย่างถูกวิธี
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร นักวิชาการและนักวิจัย จากสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า Executive Functions (EF) คือความสามารถระดับสูงของสมองมนุษย์ที่ใช้การควบคุมความคิด อารมณ์ และการกระทำ เพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย EF เป็นกระบวนการของสมองที่อยู่ในสมองส่วนหน้าของมนุษย์ เมื่อแรกเกิดยังเติบโตไม่เต็มที่ งานวิจัยระยะยาวของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ระบุว่า อัตราการเติบโตสูงสุดของ EF อยู่ในช่วงปฐมวัย หรืออายุ 3-6 ปี เด็กจะมี EF แข็งแรงได้จึงต้องผ่านการฝึกฝน บ่มเพาะ ได้รับโอกาสเรียนรู้จากการลงมือทำ ให้เด็กมีประสบการณ์ตรงที่หลากหลายมากๆ อย่างไรก็ดีองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดอันเป็นฐานของการพัฒนา EF คือการได้รับความรัก ความอบอุ่นผูกพันจากพ่อแม่ ผู้ใหญ่ในครอบครัว รวมถึงได้รับการจัดประสบการณ์เรียนรู้ทั้งในสถานศึกษาสำหรับเด็กเล็ก ที่บ้าน และในชุมชนที่เหมาะสมอย่างต่อเนื่องอีกด้วย
และในฐานะหัวหน้าทีมวิจัย ที่ได้ทำการวิจัยโดยการประเมินวัดค่าทักษะสมอง EF ในเด็กปฐมวัยในพื้นที่ส่งเสริม EF ต้นแบบ ประเมินโดย “แบบประเมินพัฒนาการด้านความคิดเชิงบริหาร (MU-EF 101) ซึ่งเป็นเครื่องมือมาตรฐานที่ใช้ค่า Norm ของเด็กไทยทั่วประเทศ ได้รับการพัฒนาขึ้นโดยศูนย์วิจัยประสาทวิทยาศาสตร์ สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล ร่วมกับสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่าเด็กปฐมวัยในกลุ่มทดลองมีพัฒนาการทักษะสมอง EF มากกว่าเด็กปฐมวัยในกลุ่มควบคุมอย่างมีนัยยะสำคัญทางสถิติ เมื่อนำผลที่วัดได้จากเด็กกลุ่มทดลองไปเปรียบเทียบกับค่า Norm พบว่า นอกจากเด็กกลุ่มทดลองจะมีคะแนนเฉลี่ยทักษะสมอง EF มากกว่ากลุ่มควบคุมแล้ว ยังมีคะแนนเฉลี่ยทักษะสมอง EF มากกว่าค่า Norm ของเด็กไทยทั่วประเทศอีกด้วย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปนัดดา ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ค่า Norm ทักษะสมองของเด็กไทย เป็นเพียงค่าปกติที่ทำการประเมินวัดไว้ แต่ไม่ได้หมายถึงตัวเลขที่ดีที่สุดในการพัฒนาทักษะสมอง EF ให้กับเด็กและเยาวชนของไทยทุกคน พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู รวมถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการพัฒนาเด็กที่ศึกษาความรู้เรื่อง Executive Functions เป็นอย่างดี จะสามารถเข้าใจได้ว่า เราสามารถพัฒนาทักษะสมอง EF ให้กับเด็กแต่ละคนได้เต็มศักยภาพอย่างเต็มที่ไปได้เรื่อยๆ จนถึงวัยผู้ใหญ่หรืออายุประมาณ 25 ปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สมองส่วนหน้าเติบโตเต็มที่ เด็กจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ สามารถใช้ทักษะสมอง EF เพื่อจัดการชีวิตให้สำเร็จได้อย่างแท้จริง
ศาสตราจารย์ นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาทางวิชาการ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ และที่ปรึกษาของภาคีเครือข่าย Thailand EF Partnership ชี้ชัดว่า ถ้านำ EF เข้าสู่การพัฒนาเด็กของเราตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อพัฒนาคุณภาพคน จะมีผลต่อการปฏิรูปการศึกษาที่ประเทศไทยกำลังพยายามทำกันอยู่ เพราะเด็กที่ได้รับการฝึก EF จนแข็งแรง จะมีการพัฒนาทั้งบุคลิกภาพและคุณลักษณะที่ดีได้ง่าย การศึกษาสมัยใหม่ เราไม่ได้เรียนเฉพาะวิชาความรู้หรือทักษะที่ใช้เพื่อการไปทำงานเท่านั้น แต่เราเรียนเพื่อที่จะสร้างบุคลิกทางความคิด (Mindset) ความเชื่อต่างๆ ในด้านบวกประกอบไปด้วย Executive Functions จึงเป็นตัวช่วยเสริมให้คน โดยเฉพาะเด็กสามารถพัฒนาคุณลักษณะต่างๆ ได้ดี
ยิ่งนับวันการเรียนรู้ในลักษณะที่ต้องเปลี่ยนชุดความรู้ เปลี่ยนชุดความเชื่อยิ่งมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งรุนแรงและเร็วขึ้นเรื่อยๆ คนที่มี EF แข็งแรง จะเป็นพื้นฐานที่จะทำให้สามารถปรับตัว ปรับเปลี่ยนความคิดและวิธีปฏิบัติได้ง่ายขึ้น สมัยใหม่เรียกว่า การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงหรือ Transformative Learning อีกทั้งโลกในอนาคตเรียกร้องให้คนมีความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรม คือเป็นผู้กระทำ ไม่ใช่ผู้ถูกกระทำ นี่คือหัวใจ การมีชีวิตที่ดีได้ต้องรู้จักเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ภาษาอังกฤษเรียกว่า Change agent เพราะฉะนั้น Transformative Learning จะมีผลทำให้ผู้เรียนทุกคนมีคุณสมบัติเป็น Change agent การที่มี EF เข้มแข็งจะทำให้คนนั้นเป็น Change agent ได้ง่าย ได้แข็งแรงกว่า เพราะมีสมองความคิดที่ยืดหยุ่น และมองสิ่งต่างๆ ได้หลายแง่หลายมุม การที่จะขยายการพัฒนา EF ไปในเชิงสังคม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเด็กส่วนใหญ่ ต้องทำให้มันกลายเป็นของธรรมดา เป็นเรื่องธรรมดาสามัญที่ทำกันอยู่ในบ้าน ในโรงเรียน ในที่ทำงาน ในชุมชน พูดง่ายๆ คือในสังคมทั้งหมด
นางสุภาวดี หาญเมธี ประธานสถาบันอาร์แอลจี (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป) กล่าวว่า สังคมไทยจำเป็นต้องได้รับโอกาสในการเข้าถึงองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่เข้ายุคเข้าสมัย เหมาะกับสถานการณ์ที่ต้องการแก้ไขอย่างเร่งด่วน จากประสบการณ์ในการขับเคลื่อนงานด้านการพัฒนาเด็กมาโดยตลอด ทำให้เราแน่ใจว่าความรู้เรื่องการพัฒนาทักษะสมอง EF คือทางออกทางรอดของวิกฤตปัญหาต่างๆ ที่ส่งผลต่อการพัฒนาประเทศ เราทุกคนจำเป็นต้องศึกษาเรื่อง EF ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้จนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ เพราะเกี่ยวข้องกับขีดความสามารถในการพัฒนาศักยภาพพลเมืองของประเทศโดยตรง อย่างไรก็ดีด้วยความที่ EF เป็นเรื่องใหม่ การเรียนรู้จากประสบการณ์ของผู้ที่นำไปปฏิบัติใช้แล้วเกิดผลดีเลิศ หรือ Best Practices จะยิ่งทำให้เข้าใจได้เร็วขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม จึงอยากเชิญชวนให้ทุกคนได้รับชม และช่วยกันแชร์สารคดีสั้นและวิดีโอคลิปชุดนี้ให้แพร่หลายออกไปมากๆ เพื่อให้ทุกชุมชนได้เห็น ได้ศึกษา เกิดแรงบันดาลใจ และเกิดแนวทางที่จะร่วมกันพัฒนาเด็กและเยาวชนของเราได้ โดยไม่มีเด็กคนใดถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
ติดตามข่าวสาร ได้ที่
https://www.facebook.com/RLGEF/
ชมตัวอย่างสารคดี “บ่อน้ำบ่อทราย : พลังครู พลังพ่อแม่ พลังชุมชน พลังจิตอาสา องค์ประกอบหลักสำคัญของการปฏิรูปการศึกษา” ได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=cshS9LXAplI&list=PL2kRXcspV23B_dqHMljUmjMajUunaqjDh&index=2
รับชม สารคดีสั้นและวิดีโอคลิป ชุด “สมองเด็กไทย สร้างได้ด้วยพลังชุมชน” ทั้งหมด ได้ที่ https://www.youtube.com/channel/UCpRPMd0mFyZu0zn14qU1yyg
17 ธันวาคม 2562