“Global One Health Day 2017”
ไทยได้รับยกย่องจากต่างประเทศให้เป็นประเทศที่มีความพร้อมในการเฝ้าระวังและควบคุมโรค ซึ่งในงาน “Global One Health Day 2017” ประเทศไทยก็ยังคงตอกย้ำถึงความพร้อมในการเฝ้าระวังในโรคระบาด แม้ว่าจะหมดไปหรือยังมีให้เห็นก็ตาม โดยร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ทำงานไปพร้อมกัน ความพร้อมและศักยภาพของแต่ละหน่วยงาน เชื่อมั่นว่าอนาคตไทยจะก้าวเป็นหนึ่งในอาเซียน
ดร.นพ.อนุพงศ์ สุจริยากุล นายแพทย์ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค กล่าว ในการเชิงปฏิบัติการเครือข่ายสุขภาพหนึ่งเดียว ประจำปี 2561 ว่า ประเทศไทยมีการดำเนินงานตามแนวคิด One health โดยการก่อตั้งเครือข่ายสุขภาพหนึ่งเดียวอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 2550 จากเหตุการณ์ระบาดของไข้หวัดนก ซึ่งส่งผลกระทบในวงกว้างทั้งในวงการปศุสัตว์ วงการสาธารณสุข และเศรษฐกิจของไทย ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้ต้องมีความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานในหลายภาคส่วน ซึ่งประเทศไทยได้มีการพัฒนาและดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเข้มแข็งระหว่างหน่วยงานหลายภาคส่วน จากเริ่มแรกมีการลงนามความร่วมมือระหว่าง 4 กรม จนถึงปัจจุบันพัฒนาไปจนถึงลงนามความร่วมมือในระดับ 7 กระทรวง และ1 สถาบัน มียุทธศาสตร์การดำเนินงานภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียวระบุอยู่ในแผนยุทธศาสตร์เตรียมความพร้อม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ มีมติในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ มีศูนย์ประสานงานเครือข่ายสุขภาพหนึ่งเดียว
ที่ผ่านมายังอยู่ในการดำเนินการระยะต้น ซึ่งในระยะยาวนั้น มีแผนปลูกฝังแนวคิด One health ให้กลมกลืนไปกับการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชน ยกตัวอย่างเช่น จากการลงนาม MOU นั้น กระทรวงศึกษาธิการมีแผนที่จะสอดแทรกเนื้อหาสุขภาพหนึ่งเดียว เข้าไปในบทเรียน เริ่มตั้งแต่ปฐมวัย จนถึงระดับมหาวิทยาลัยซึ่งได้ดำเนินการแล้ว นอกจากนี้ในแต่ละหน่วยงานเครือข่ายยังมีการจัดทำสื่อเพื่อเผยแพร่แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียวแบบเข้าใจง่าย เพื่อให้เข้าถึงประชาชน รวมทั้งใช้โอกาสงานวันสุขภาพหนึ่งเดียวโลก เพื่อเผยแพร่แนวคิดนี้
ดร.นพ.อนุพงศ์ สุจริยากุล กล่าวอีกว่า การระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าในเขตพื้นที่คลองสานซึ่งถือว่าเป็นใจกลางเมืองหลวง ซึ่งเกิดการระบาดของโรคขึ้น ตามแนวคิดการทำงานสุขภาพหนึ่งเดียว ก็คือการทำงานร่วมจากหน่วยงานในหลายภาคส่วน ทั้งภาคคน คือเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขมีหน้าที่เข้าไปดูแลสุขภาพคนที่ถูกสุนัขบ้ากัดและส่งเสริมการฉีดวัคซีน และเจ้าหน้าที่จากภาคสัตว์ เข้าไปดูแลด้านสุขภาพสัตว์ในพื้นที่การระบาด รวมถึงเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่น ต้องให้ความร่วมมือในการดำเนินงาน จึงจะถือเป็นการบูรณาการตามแนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียวอย่างเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ การร่วมมือกันของทุกหน่วยงานและประชาชน ชุมชน ตั้งแต่ หมู่บ้านตำบล อำเภอ ต้องร่วมมือกัน เมื่อเกิดโรคระบาดต้องดูว่าตรงที่เกิดนั้นมีพาหะอะไร เช่น นก หนู หรือไก่ ล้วนเกิดได้ทั้งสิ้น ซึ่งเมื่อรู้ถึงต้นเหตุ เราก็สามารถหาปัญหาและแก้ไขได้เร็วขึ้น ซึ่งความเชื่อมโยงด้านสุขภาพระหว่าง คนและสัตว์ ดังนั้น หากเรามีระบบความร่วมมือที่ดี คือต้องมีสุขภาพดีทั้งคนและสัตว์ ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อสุขภาพทั้งสิ้น
28 พฤศจิกายน 2560