โรคปอดอักเสบในเด็ก รู้ทัน... ป้องกันได้

หากพูดถึง ปอดอักเสบ หรือ ปอดบวม คนทั่วไปย่อมตระหนักถึงอันตรายและความรุนแรงของโรคนี้ โดยเฉพาะหากเกิดกับเด็กๆ ย่อมสร้างความกังวลใจและทุกข์ใจให้กับคุณพ่อคุณแม่เป็นอย่างมาก ดังนั้น เราควรมาทำความรู้จักโรคปอดอักเสบหรือปอดบวมในเด็ก เพื่อที่จะได้ป้องกันและหลีกเลี่ยงไม่ให้โรคนี้เกิดขึ้นกับบุตรหลาน หรือหากบุตรหลานเป็นโรคนี้ก็จะป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้

ปอดอักเสบ หรือ ปอดบวม (Pneumonia) เป็นภาวะที่มีการอักเสบในบริเวณเนื้อปอดบริเวณหลอดลมฝอยส่วนปลาย ถุงลมและเนื้อเยื่อรอบๆ ถุงลม อันเกิดจากการติดเชื้อ ส่วนใหญ่เป็นเชื้อแบคทีเรียและไวรัสแตกต่างตามอายุ อาจพบเชื้ออื่น เช่น วัณโรค หรือเชื้อราได้ พบว่าในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี สาเหตุของปอดอักเสบเกิดจากเชื้อไวรัส 42  เปอร์เซ็นต์

เชื้อแบคทีเรียที่พบบ่อยในเด็ก ได้แก่  เชื้อนิวโมคอคคัส (Streptococcus pneumoniae), Gr.A Streptococcus, เชื้อฮิบ (Haemophilus influenzae type B) หรือเชื้อไมโครพลาสม่า (Mycoplasma pneumoniae) ส่วนเชื้อไวรัสที่พบบ่อยในเด็ก โดยเฉพาะ ได้แก่ RSV, ไข้หวัดใหญ่ ,human metapneumovirus(hMPV), Adenovirus,  Parainfluenza virus

โรคปอดอักเสบนับว่าพบบ่อยในประชากรเด็ก โดยเฉพาะเด็กเล็กที่อายุน้อยกว่า 1 ปี  เด็กที่มีความพิการแต่กำเนิด คลอดก่อนกำหนด น้ำหนักแรกเกิดน้อยกว่า 2.5 กก. มีโรคหัวใจ มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือมีภาวะขาดอาหาร อาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อนที่รุนแรงจนถึงเสียชีวิตได้ ข้อมูลขององค์การอนามัยโรคพบว่า โรคปอดอักเสบเป็นสาเหตุของโรคติดเชื้อที่ทำให้เด็กเสียชีวิตที่พบบ่อยสุด และพบว่าเด็กที่เสียชีวิตอายุน้อยกว่า 5 ปี เกิดจากโรคปอดอักเสบ  15 เปอร์เซ็นต์

            การติดต่อของโรคปอดอักเสบ

1. หายใจเอาเชื้อเข้าสู่ปอดโดยตรง ซึ่งเชื้อเหล่านี้จะอยู่ในละอองฝอยขนาดเล็กในอากาศซึ่งแพร่มาจากคนที่ไอจาม โดยเฉพาะบริเวณสถานที่ที่คนแออัด

2. สำลักเชื้อที่อยู่บริเวณทางเดินหายใจส่วนบนเข้าสู่ปอด เช่น สำลักน้ำลาย สำลักอาหาร โดยเฉพาะขณะนั้นมีการติดเชื้อทางเดินหายใจอยู่ก่อนแล้ว  

3. ทางกระแสเลือด จากที่มีการติดเชื้อที่บริเวณอื่นก่อนแล้วแพร่กระจายมาสู่ปอด

4. ลุกลามจากอวัยวะใกล้เคียง เช่น ฝีที่ตับแตกเข้าสู่ปอด

5. แพร่ผ่านจากมือคนที่มีสารคัดหลั่งที่มีเชื้อโรคอยู่ไปสู่อีกคน

อาการของโรคปอดอักเสบ

เด็กที่เป็นโรคปอดอักเสบจะมีอาการไข้ ไอมีเสมหะ หายใจเหนื่อยหอบ หรือหายใจลำบาก มีปีกจมูกบาน ขณะหายใจบริเวณชายโครงหรือหน้าอกบุ๋ม ปากเขียว หายใจดัง หรือมีอาการเจ็บหน้าอก

แนวทางป้องกัน

            1. หลีกเลี่ยงการไปในบริเวณสถานที่ที่คนแออัด โดยเฉพาะนำเด็กเล็กเข้าไป เช่น  ศูนย์การค้า โรงภาพยนตร์

             2. จัดสิ่งแวดล้อมให้สะอาดอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ ควันไฟ ควันจากท่อไอเสียรถ อากาศที่หนาวเย็นเกินไป

            3. ควรหลีกเลี่ยงให้เด็กที่อายุน้อยกว่า 1 ปี หรือเด็กที่สุขภาพไม่แข็งแรงอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคปอดอักเสบ

            4. แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ในเด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป และแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคIPD (Invasive Pneumococcal Disease) ในกลุ่มเสี่ยงดังนี้ ผู้ที่ไม่มีม้ามแต่กำเนิดหรือได้รับการตัดม้ามออก มีโรตไตชนิดเนโฟรติก (Nephrotic Syndrome) มีโรคเรื้อรัง เช่น ไตวาย หัวใจ ปอด เบาหวาน หรือมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือเด็กที่ฝากเลี้ยงที่สถานรับเลี้ยงเด็กเล็ก

จากความรุนแรงของโรคปอดอักเสบนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรจะให้ลูกหลีกเลี่ยงการเป็นโรคนี้ได้ตามที่กล่าวมา ทั้งนี้การเลี้ยงดูลูกน้อยให้มีสุขภาพดี การดื่มนมแม่เต็มที่โดยเฉพาะใน 6 เดือนแรกของชีวิต รวมถึงการได้รับประทานอาหารครบหมู่และมีประโยชน์ การพาลูกน้อยไปรับวัคซีนครบถ้วน การดูแลลูกน้อยให้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่สะอาดถูกสุขอนามัยอยู่เสมอ สอนลูกให้ล้างมือจนเป็นนิสัย หากลูกไม่สบายหมั่นสังเกตอาการและพาลูกไปพบกุมารแพทย์เมื่อมีอาการไม่ดีขึ้น ย่อมนำพาให้ลูกน้อยหลีกไกลจากโรคปอดอักเสบรวมถึงโรคติดเชื้ออื่นๆ ได้อีกด้วย

สามารถอ่านบทความและความรู้เกี่ยวกับสุขภาพเพิ่มเติมได้ที่  https://www.thonburi2hospital.com/health-detail.php?id=60

 

3 กุมภาพันธ์ 2563


บริษัท มีเดีย เน็ทเวิร์ค จำกัด
138, 140 ซอยอนามัย ถนนศรีนครินทร์ แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ 10250
MEDIA NETWORK Co.,Ltd
138, 140 Soi Anamai Srinakarin Road Suanluang Suanluang Bangkok 10250
Tel. 02 721 4417 Fax. 02 721 5516
E-mail : phototechthailand@gmail.com


ติดต่อโฆษณาหรือข้อมูลเพิ่มเติม
โทร. 02 721 4417 , 097 921 2929 คุณขวัญ

แฟนเพจ Phototech Magazine


ออกแบบโดย touronthai