สหกรณ์สบปราบหนุนปลูกผักปลอดสาร เสริมรายได้เกษตรกรหลังฤดูทำนา
สมาชิกสหกรณ์การเกษตรสบปราบ จำกัด “ปลื้ม” ที่ทางสหกรณ์การเกษตรสบปราบ จำกัด สนับสนุนการปลูกผักปลอดสาร เพื่อเป็นการสร้างรายได้เสริมหลังจากฤดูทำนา ทำให้สมาชิกมีรายได้เพิ่มมากขึ้น และเสริมความมั่นใจให้แก่สมาชิกผู้เข้าร่วมโครงการปลูกผักปลอดสารด้วยการเปิดเป็นแหล่งรับซื้อผลผลิตจากสมาชิก พร้อมให้ราคาที่เป็นธรรม เป็นกลไกสำคัญในการเสริมสร้างความมั่นคงแก่ธุรกิจในชุมชนนอกเหนือจาก “ข้าว” ซึ่งเป็นผลผลิตหลัก ที่สหกรณ์การเกษตรสบปราบ จำกัด จังหวัดลำปาง รับซื้อจากเกษตรกรสมาชิกเพื่อนำมาจำหน่าย สหกรณ์ยังสนับสนุน ส่งเสริมอาชีพ และขยายช่องทางการตลาดสำหรับพืชผักปลอดสารที่เกษตรกรปลูกหลังฤดูทำนาเพื่อเป็นรายได้เสริม โดยรับซื้อจากเกษตรกรแล้วนำมาขายที่สหกรณ์เพื่อเพิ่มรายได้ให้สมาชิก
นางสาวสมคิด อุ่นแก้ว ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรสบปราบ จำกัด กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า โดยส่วนใหญ่เกษตรกรที่เป็นสมาชิกของสหกรณ์มีอาชีพหลักคือการทำนา แต่หลังจากฤดูทำนาเกษตรกรจะปลูกพืชผักสวนครัวเพื่อเป็นรายได้เสริม โดยนำผลผลิตไปขายที่ตลาด หรือมีคนมารับซื้อ แต่ช่วงใดที่ผลผลิตออกมามากจะส่งผลให้พืชผักราคาตกต่ำ ส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกร จนเมื่อประมาณ 4-5 ปี ที่ผ่านมา สหกรณ์จึงได้เริ่มนำพืชผักบางส่วนของสมาชิกมาจำหน่าย เพื่อเป็นตลาดทางเลือกและเสริมรายได้ให้แก่เกษตรกร ระยะแรกมีผู้ร่วมโครงการ 5-6 ราย ต่อมามีเกษตรกรสนใจเข้าร่วมมากขึ้น จึงขยายเป็นกลุ่มปลูกผักปลอดสารบ้านสบปราบ ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 33 ราย พืชผักสวนครัวที่สมาชิกปลูก ได้แก่ กะเพรา โหระพา กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก บร็อคโคลี ฟักทอง บวบ มะเขือเทศ ผักสลัด กวางตุ้ง ผักบุ้ง มะละกอ มะนาว ฯลฯ โดยสหกรณ์จะเวียนไปรับผลผลิตจากสมาชิกสลับกันไป เฉลี่ยแล้วประมาณ 3-5 วัน จึงเวียนกลับมารับผลผลิตใหม่ แต่ละครั้งเกษตรกรก็จะมีรายได้จากการขายให้สหกรณ์ประมาณ 200 -1,000 บาท/วัน แตกต่างกันไปตามราคาของผลผลิตแต่ละชนิด ดังนั้น ในช่วง 3 เดือน ที่เกษตรกรปลูกผักเสริมรายได้ สหกรณ์ก็จะเป็นตลาดทางเลือกอีกแห่งหนึ่งที่ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ปัจจุบันพืชผักที่เกษตรกรปลูกได้ใบรับรอง GAP จากกรมวิชาการเกษตร ในอนาคตมีโครงการที่จะนำเมล็ดพันธุ์พืชผักที่เกษตรกรปลูกมาเพาะเพื่อจำหน่าย และหากเป็นไปได้จะขยายการผลิตและจำหน่ายผักปลอดสารไปสู่ระดับจังหวัด
ปัจจุบัน พืชผักปลอดสารที่รับจากเกษตรกรนอกจากการจำหน่ายที่ Farmer Market ของสหกรณ์ และนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในร้านอาหารของสหกรณ์แล้ว ยังมีสินค้าอุปโภคบริโภค อาหารสด อาหารแปรรูป สินค้าจากเครือข่ายสหกรณ์ และผลิตภัณฑ์หัตถกรรมของสมาชิก ส่วนข้าวซึ่งเป็นผลผลิตหลักของสมาชิกได้ขยายช่องทางการตลาดโดยจำหน่ายผ่านร้านค้าออนไลน์คือ “ลาซาด้า” ใช้ชื่อแบรนด์ว่า “หอมนวล” และเพื่อกระจายสินค้าของสหกรณ์ให้ออกไปในวงกว้างยิ่งขึ้น สหกรณ์การเกษตรสบปราบ จำกัด จึงได้ทำบันทึกข้อตกลงร่วม (เอ็มโอยู) ร่วมกับ บริษัท นิ่มเอ็กซ์เพรส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทรับส่งสินค้าและพัสดุ ให้มาตั้งสำนักงานที่สหกรณ์ เพื่อช่วยกระจายสินค้าของสหกรณ์ และช่วยบริการให้แก่สมาชิก
ทางด้านนายทองเทียร พุฒิคำ ประธานกลุ่มปลูกผักปลอดสารบ้านสบปราบเหนือ สหกรณ์การเกษตรสบปราบ จำกัด กล่าวถึงโครงการนี้ว่า เป็นเรื่องดีที่สหกรณ์เข้ามารับซื้อพืชผักส่วนหนึ่งจากสมาชิก เพราะเป็นช่องทางหนึ่งในการเสริมรายได้ให้แก่เกษตรกรหลังฤดูทำนา ซึ่งเป็นรายได้รายปี แต่การปลูกพืชผักสวนครัว จะทำให้เกษตรกรมีรายได้จากการขายเป็นรายวัน รายสัปดาห์ได้ ผลผลิตส่วนหนึ่งนำไปขายที่ตลาด อีกส่วนหนึ่งสหกรณ์มารับซื้อโดยหมุนเวียนสลับไปตามสมาชิกในกลุ่ม การรับซื้อแต่ละครั้งจะทำให้เกษตรกรมีรายได้อย่างต่ำ 200 – 300 บาท แต่บางรายก็ได้มากกว่านั้น ดังนั้นในช่วง 3 เดือน หลังฤดูทำนา เกษตรจึงมีรายได้เสริมจากการขายให้สหกรณ์มากพอสมควร ทางด้านนาย สิงห์ทอง แก้วปัน สมาชิกกลุ่ม ฯ กล่าวว่า ตนมีเนื้อที่ปลูกพืชผักประมาณ 2 ไร่ และทำมานานแล้ว แต่เข้าร่วมกลุ่มปลูกผักกับสหกรณ์มาประมาณ 5 – 6 ปี ผลผลิตที่ปลูก ได้แก่ กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก คะน้า กะเพรา โหระพา ฟักทอง บร็อคโครี มะนาว สหกรณ์จะเข้ามารับซื้อในราคาตลาด แต่ละวันก็จะมีรายได้ประมาณ 300 – 400 บาท แต่บางครั้งก็จะได้ 1,000 – 1,500 บาท ขึ้นอยู่กับว่าสหกรณ์จะมารับซื้อพืชผักชนิดใด ในช่วง 3 เดือน ของการปลูกพืชผักหลังฤดูทำนาสหกรณ์จะเข้ามารับซื้อตลอด ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นมากพอสมควร
30 มีนาคม 2563