สกก. ลำพระเพลิง ชูเศรษฐกิจพอเพียงรับมือวิกฤตเศรษฐกิจ หนุนเกษตรกรปลูกผัก – ผลไม้ปลอดสารสร้างรายได้ เสริมความมั่นคง

         นางสาวสุมาลี  ทองธีระ ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรลำพระเพลิง จำกัด เปิดเผยว่า ในอดีตสหกรณ์การเกษตรลำพระเพลิง จำกัด ประสบปัญหาด้านการบริหารจัดการ ประสบภาวะขาดทุนจนเกือบต้องเลิกและถอนชื่อ  แต่จากความร่วมมือร่วมใจของคณะกรรมการ ฝ่ายจัดการ และสมาชิก  ได้นำเอาความล้มเหลวมาเป็นบทเรียน ประกอบกับการนำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการบริหารงาน ทำให้สหกรณ์สามารถพลิกฟื้นสถานการณ์ พัฒนาให้ก้าวหน้าและสามารถสร้างผลกำไรมาจนถึงปัจจุบัน ถึงแม้จะเป็นสหกรณ์เล็ก แต่ด้วยแนวทางการดำเนินงานเช่นนี้ ทำให้ธุรกิจของสหกรณ์ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยแล้วประมาณปีละ 15 – 20 %  การขยายธุรกิจของสหกรณ์จะไม่ใช้แหล่งเงินกู้จากภายนอก  แต่จะใช้เงินทุนของสหกรณ์เอง เช่นเดียวกับแนวทางส่งเสริมอาชีพให้เกษตรกรสมาชิก ซึ่งส่วนใหญ่มีอาชีพในการทำนา ทำนาสวนผสม และผลไม้  สหกรณ์ฯ จะส่งเสริมให้นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต  จึงส่งผลให้เกษตรกรสมาชิกมีรายได้ และความเป็นอยู่มั่นคง

โดยเฉลี่ยแล้ว เกษตรกรสมาชิกของสหกรณ์การเกษตรลำพระเพลิง จำกัด จะมีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนประมาณ 25,000 – 30,000 บาท/เดือน  หรือประมาณ 300,000 – 360,000 บาท/ครัวเรือน/ปี  จากปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่สหกรณ์ ฯ และเกษตรกรสมาชิกนำมาเป็นแนวทาง เมื่อเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่าน ๆ มา  หรือแม้กระทั่งผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า (โควิด – 19)  สหกรณ์ ฯ และเกษตรกรสมาชิกไม่ค่อยได้รับผลกระทบมากนัก สังเกตได้จากเงินที่สมาชิกกู้ยืมจากสหกรณ์  เกษตรกรก็ยังสามารถมาชำระได้ตามปกติ ไม่มีการติดค้าง   ส่วนเรื่องอาหารการกินของแต่ละครัวเรือนก็ยิ่งไม่มีผลกระทบ  เพราะแต่ละครัวเรือน นอกจากการปลูกข้าวเป็นหลักแล้ว ผลผลิตส่วนหนึ่งจะเก็บไว้บริโภค  อีกส่วนหนึ่งก็จะนำไปขาย นอกจากนี้  เกษตรกรสมาชิกส่วนใหญ่จะปลูกพืชผักสวนครัว เลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ ไว้บริโภคในครัวเรือน  ผลผลิตที่มีจึงเพียงพอสำหรับการบริโภคโดยไม่เดือดร้อน ส่วนที่เหลือก็นำไปขายเพื่อเป็นรายได้เสริม

นอกจากนี้สหกรณ์ ฯ ยังได้ส่งเสริมให้เกษตรกรสมาชิกปลูกพืชผักปลอดสารเคมี  และปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่  จำหน่ายเป็นรายได้เสริมโดยสหกรณ์จะช่วยหาตลาดให้ ขณะนี้สมาชิกที่เข้ามาร่วมโครงการประมาณ 100 ราย  โดยมีพื้นที่ของเกษตรกรประมาณร้อยละ 10  ผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP ขณะนี้สหกรณ์ฯ กำลังผลักดันให้ยกระดับเป็นพื้นที่ปลูกพืชผักอินทรีย์ โดยได้รับการสนับสนุนโรงเรือนปลูกผักจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)  และการสนับสนุนทั้งในด้านวิชาการ ในด้านการลดต้นทุน การพัฒนาผลผลิต และการตลาด  จากมหาวิทยาลัยสุรนารี  สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)  เกษตรกรที่ร่วมโครงการส่วนใหญ่จะปลูกพืชผักสวนครัว  บางส่วนก็เป็นผลไม้  ส่วนเรื่องการจำหน่าย  ผลผลิตบางส่วนเกษตรกรจะนำไปขายเองที่ตลาด  เพราะพืชผักของสหกรณ์ฯ ได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคในพื้นที่อำเภอปักธงชัย  ผลผลิตบางส่วนจะส่งมาจำหน่ายที่ฟาร์มเมอร์มาร์เก็ต ของสหกรณ์  และอีกส่วนหนึ่งสหกรณ์จะนำไปหาตลาดเองโดยจะเจาะไปที่กลุ่มผู้บริโภคตลาดบน และมีการนำผลผลิต เช่น ฝรั่งกิมจู ส้มโอ ละมุด มีวางจำหน่ายที่ตลาดจริงใจ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล นครราชสีมา  ข้าวไรซ์เบอร์รี่จำหน่ายที่แมคโคร  ร้านเลมอนฟาร์ม  ปัจจุบันยอดขายของพืชผักปลอดสารตกประมาณเดือนละ 50,000 – 60,000 บาท  ซึ่งช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณเดือนละ 6,000 – 13,000 บาท ขณะนี้สหกรณ์ฯ กำลังขยายจำนวนผู้ผลิตผักปลอดสารเคมีให้ได้ประมาณ 200 ราย  คาดว่าประมาณปลายปี 2563 จะได้ตามเป้า  ถึงตอนนั้นสหกรณ์ฯ จะเริ่มทำแผนการตลาดและแผนการผลิตอย่างจริงจัง โดยจะใช้ฟาร์มเมอร์มาร์เก็ต ของสหกรณ์การเกษตรลำพระเพลิง จำกัด เป็นจุดรวบรวมผลผลิต และคัดบรรจุ เพื่อส่งไปจำหน่ายตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล  สหกรณ์ร้านค้าในเครือข่าย โรงพยาบาลมหาราช ในจังหวัดนครราชสีมา หรือการเจาะตลาดเข้าไปที่โรงเรียนนานาชาติ ฯลฯ  ซึ่งมีส่วนช่วยในการเสริมรายได้และสร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้แก่เกษตรกรสมาชิก

นางวารี ขวัญเกตุ สมาชิกสหกรณ์การเกษตรลำพระเพลิง จำกัด กล่าวว่า ตนมีพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 23 ไร่  พื้นที่เกือบ 20 ไร่ ใช้ปลูกข้าวเจ้าพันธุ์พิษณุโลก 80 และ กข. 49  โดยผลผลิตส่วนหนึ่งจะเก็บไว้สำหรับบริโภคในครัวเรือน ผลผลิตอีกส่วนหนึ่งจะส่งขายให้โรงสี  เนื่องจากพื้นที่อยู่ในเขตชลประทานจึงสามารถทำนาได้ปีละ 2 ครั้ง ในรอบ 1 ปี จึงมีรายได้จากการขายข้าวเกือบ 200,000 บาท  นอกจากนี้ยังกันพื้นที่ไว้ประมาณ 4 ไร่  เพื่อปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่ ที่สหกรณ์การเกษตรลำพระเพลิง จำกัด ฯ มาส่งเสริม และสนับสนุนการผลิตตลอดกระบวนการ เช่น นำรถมาช่วยดำนา และนำรถมาเกี่ยว หลังจากตากข้าวแล้วตนจึงบรรทุกไปให้สหกรณ์ฯ  ปีหนึ่งจะปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่ไม่เกิน 1 ครั้ง  เพราะหากปลูกติดต่อกันผลผลิตที่ได้ในรอบที่สองเมล็ดข้าวจะเล็กลง  มีรายได้เสริมจากการขายข้างไรซ์เบอร์รี่ ปีละประมาณ 30,000 บาท  นอกจากนี้ยังมีการปลูกพืชผักสวนครัวเพื่อไว้บริโภคในครัวเรือน  เหลือจากการบริโภคจะนำออกไปขายที่ตลาด แต่ก็ไม่มาก  สำหรับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการระบาดของไวรัสโคโรน่า (โควิด – 19)  นางวารีบอกว่า ที่บ้านมีของกินเกือบทุกอย่าง แทบไม่ต้องไปซื้อจากข้างนอก จึงไม่รู้สึกว่าได้รับผลกระทบอะไรในเรื่องอาหารการกิน ส่วนเรื่องรายได้จากการขายข้าวก็ไม่ได้กระทบกระเทือนอะไร 

นายอ่าง เทียมสำโรง สมาชิกสหกรณ์อีกคนหนึ่งให้ความเห็นว่า นอกเหนือจากการปลูกข้าวตามปกติแล้ว ในส่วนที่สหกรณ์ ฯ เข้ามาให้การส่งเสริม ตนได้ปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่ประมาณ 3 ไร่ ได้ผลผลิตประมาณ 700-800 กิโลกรัม/ไร่ โดยสหกรณ์ฯ จะรับซื้อผลผลิตทั้งหมดในราคากิโลกรัมละประมาณ 18-20 บาท หนึ่งรอบการผลิตจะมีรายได้ประมาณ 37,800 – 48,000 บาท นอกจากนี้ยังปลูกผักปลอดสารพิษอีกประมาณ 2 ไร่  โดยจะปลูกพืชแทบทุกชนิด หมุนเวียนกันไป เช่น ต้นหอม กระเทียม ผักกวางตุ้ง คะน้า พริก กะเพรา โหระพา ฯลฯ นอกจากนี้ยังปลูกละมุดไว้อีกประมาณ 2 ไร่  สำหรับผลผลิตที่ได้ บางวันแม่บ้านจะนำไปขายเองที่สหกรณ์ฯ  หรือไม่ก็ฝากร้านค้าของสหกรณ์ฯ ขายให้  บางครั้งก็นำไปขายที่ตลาดในจังหวัดนครราชสีมา รายได้จากการขายผักแต่ละวันไม่น้อยกว่า 300 – 400 บาท  เดือนหนึ่งมีรายได้รวมประมาณเกือบ 20,000 บาท  สำหรับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการระบาดของไวรัสโคโรน่า (โควิด – 19)   นายอ่างบอกว่าไม่มีผลกระทบอะไร  เพราะที่บ้านมีกินมีใช้เกือบหมดแล้ว

 

8 พฤษภาคม 2563


บริษัท มีเดีย เน็ทเวิร์ค จำกัด
138, 140 ซอยอนามัย ถนนศรีนครินทร์ แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ 10250
MEDIA NETWORK Co.,Ltd
138, 140 Soi Anamai Srinakarin Road Suanluang Suanluang Bangkok 10250
Tel. 02 721 4417 Fax. 02 721 5516
E-mail : phototechthailand@gmail.com


ติดต่อโฆษณาหรือข้อมูลเพิ่มเติม
โทร. 02 721 4417 , 097 921 2929 คุณขวัญ

แฟนเพจ Phototech Magazine


ออกแบบโดย touronthai