“กลไก ศปถ. กับทิศทางการลงทุนเพื่อความปลอดภัยทางถนนอย่างยั่งยืน”
เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 7 ธันวาคม 2560 ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา นายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย (มท.) บรรยายพิเศษ เรื่อง “กลไก ศปถ. กับทิศทางการลงทุนเพื่อความปลอดภัยทางถนนอย่างยั่งยืน” ภายในพิธีปิดงานสัมมนาวิชาการระดับชาติ เรื่องความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 13 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-7 ธันวาคม 2560 ว่า หัวใจสำคัญในการแก้ไขปัญหาเพื่อสร้างความปลอดภัยทางถนน ต้องบูรณาการระดับพื้นที่ให้เกิดการเชื่อมโยงทุกระดับทั้งท้องถิ่น อำเภอ และจังหวัด เพราะจะใช้มาตรการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มข้นหรือรณรงค์เท่านั้นไม่ได้ผล จะต้องใช้กลไกสังคมมากำกับพฤติกรรมเสี่ยงที่เป็นสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุร่วมด้วย ดังนั้น จำเป็นต้องให้กลไก ศปถ. ระดับพื้นที่มีความเข้มแข็ง ซึ่งจำเป็นต้องลงทุนในเรื่องต่างๆ ที่สำคัญ ได้แก่ 1.พัฒนา ส่งเสริมให้มี "อนุกรรมการ ศปถ." เสริมการทำงานให้ ศปถ.จังหวัด-อำเภอ ในเรื่องการจัดการข้อมูล จัดทำแผนประเมินติดตามการทำงาน 2.จัดระบบข้อมูลในระดับพื้นที่ เพื่อวิเคราะห์สาเหตุ นำเสนอเพื่อแก้ไข 3.จัดสรรงบประมาณให้ ศปถ. ระดับพื้นที่เพื่อทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เชื่อมข้อมูล วางแผนกับหน่วยงานอื่น รวมถึงติดตามประเมินผล และ 4.ส่วนกลางต้องมีหน่วยงานหรือสถาบันวิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน ที่เป็นหน่วยงานอิสระ ทำงานร่วมกับ ศปถ.ส่วนกลาง เพื่อวิเคราะห์ สอบสวนสาเหตุเชิงลึกของอุบัติเหตุ และจัดทำข้อเสนอแนะแก้ปัญหา รวมถึงประเมินและติดตามการทำงาน และหากลงทุนในสิ่งเหล่านี้เชื่อว่าจะสามารถช่วยลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุและช่วยเหลือคนได้มาก
ด้าน นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) กล่าวว่า ภาคีที่เข้าร่วมการสัมมนาในครั้งนี้สรุปข้อเสนอนโยบาย รวม 7 ด้านการลงทุน ได้แก่
1.การลงทุนกลไกระดับพื้นที่ โดยปรับปรุง-แก้ไขกฎระเบียบให้ท้องถิ่นสามารถจัดการด้านความปลอดภัยทางถนนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะคณะกรรมการกระจายอำนาจกำหนดระเบียบ บทบาทหน้าที่ท้องถิ่นที่ชัดเจน และศปถ. ลงทุนระบบสนับสนุนกลไกจัดการระดับพื้นที่ ได้แก่ การพัฒนาทีมอนุกรรมการ ศปถ. จังหวัด อำเภอ ในด้านการจัดการข้อมูล การจัดทำแผนบูรณาการ รวมถึงจัดให้มีงบประมาณที่เพียงพอ เพื่อกระบวนการบูรณาการข้อมูล แผนปฏิบัติการ และการประเมินผล และมีระบบกำกับติดตามจาก ศปถ. ส่วนกลางอย่างต่อเนื่อง
2.การลงทุนด้านถนนปลอดภัย คือ ลงทุนกระบวนการตรวจสอบความปลอดภัยทางถนนให้มีการดำเนินงานอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง ส่งเสริมการนำต้นแบบการจัดการจุดเสี่ยงระดับท้องถิ่นมาใช้ในพื้นที่ต่างๆ ให้ครอบคลุม และการจัดการความเร็ว โดยส่งเสริมการกำหนดความเร็วจำกัดในเขตเมือง โดย ศปถ. เป็นแกนหลักในการกำหนดสปีดโซน(Speed Zone) ร่วมกับตำรวจ และมีเวทีแลกเปลี่ยน สรุปบทเรียนเพื่อขยายผลต้นแบบจัดการความเร็วเขตเมือง
3.การลงทุนด้านยานพาหนะปลอดภัย ได้แก่ ลงทุนเทคโนโลยีการผลิตยุคใหม่กับความปลอดภัยของยานพาหนะ เช่น ภาครัฐร่วมผลักดันกฎระเบียบที่ได้มาตรฐาน เพื่อให้ยานพาหนะบนท้องถนนไทยมีการติดตั้งเทคโนโลยีความปลอดภัย และทุกฝ่ายมีส่วนผลักดันให้เกิดกลไกตลาดที่เกิดจากความต้องการซื้อยานพาหนะที่มีมาตรฐานความปลอดภัย เป็นต้น สนับสนุนทิศทางและบทเรียนการจัดการปัญหารถรับส่งนักเรียนในระดับพื้นที่ โดยมีเป้าหมายขั้นต้น อาทิ รถตู้รับส่งนักเรียนทุกคันต้องได้รับการขึ้นทะเบียน การจัดให้มีการประกันภัยรถที่เทียบเท่ากับรถโดยสารสาธารณะ
4.การลงทุนด้านกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมาย โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และกระทรวงยุติธรรม(ยธ.) ร่วมกันจัดทำฐานข้อมูลกระทำความผิดซ้ำโดยเฉพาะคดีเมาแล้วขับ พร้อมกำหนดให้สัดส่วนผู้ถูกคุมประพฤติซ้ำเท่ากับ 0 เป็นตัวชี้วัดในการประเมินคุณภาพกระบวนการคุมประพฤติ กรณีเมาขับ และยธ.ออกระเบียบ ข้อบังคับให้ผู้กระทำผิดรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับกระบวนการคุมประพฤติ
5.การลงทุนด้านสถานประกอบการปลอดภัยทางถนน ให้ศึกษาและปรับปรุงกฎระเบียบ เพื่อสนับสนุนให้ระบบความปลอดภัยและคณะกรรมการความปลอดภัยเข้ามามีบทบาทในการจัดการความปลอดภัยทางถนนให้กับบุคลากรในองค์กร และ ส่งเสริมให้ทุกองค์กรมีมาตรการองค์กรเพื่อความปลอดภัยทางถนน ร่วมกับกลไก อื่นๆ เช่น ประชารัฐเพื่อสังคม ระบบ จปถ.-เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางถนน ในสถานประกอบการ เป็นต้น
6.ด้านการลงทุนเพื่อเด็กไทยปลอดภัย ให้กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) มีนโยบายสนับสนุนให้สถานศึกษาภายใต้สังกัดมีการจัดการข้อมูลจากระบบที่มีอยู่มาจัดการวิเคราะห์ความเสี่ยงเพื่อออกมาตรการ นโยบายในการป้องกันแก้ไขปัญหา และให้ ศปถ.จังหวัดร่วมมือกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และภาคีเครือข่ายระดับพื้นที่ในการวิเคราะห์ นำเสนอข้อมูลในการประชุมศปถ.ระดับจังหวัด พร้อม ให้ศธ.สนับสนุนให้สถานศึกษาภายใต้สังกัดจัดการเรียนรู้เรื่องความปลอดภัยทางถนนครอบคลุมทุกช่วงวัย
7.การลงทุนด้านการตอบสนองหลังเกิดเหตุ ได้แก่ พัฒนาและผลักดันระบบข้อมูลสอบสวนการบาดเจ็บ พร้อมทั้งมีกระบวนการนำเสนอสู่การป้องกันแก้ไข ผ่านกลไกต่างๆ เช่า ศปถ.จังหวัด อำเภอ เป็นต้น พร้อมพัฒนา ระบบจัดการรถพยาบาลปลอดภัย โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างรถที่ปลอดภัย ระบบการกำกับความเสี่ยง ที่สำคัญ เช่น ขับต่อเนื่องเกินเวลา และสนับสนุนการทำงานกู้ชีพ กู้ภัย ที่จะช่วยระบุข้อมูลจุดเกิดเหตุที่จะนำไปสู่การสื่อสาร และป้องกันแก้ไข ทั้งนี้ จะมีการนำเสนอข้อสรุปที่ได้จากการสัมมนาครั้งนี้ขับเคลื่อนสู่การพัฒนาต่อไป
7 ธันวาคม 2560