107 ปี ธนาคารออมสิน “ก้าวสู่การเป็นธนาคารเพื่อความยั่งยืน GSB Sustainable Banking” ความภาคภูมิใจกับบทบาทผู้นำผู้พลิกโฉมธนาคารออมสิน ตลอด 5 ปีครึ่ง ของ “ดร.ชาติชาย พยุหนาวีชัย”
ดร.ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ในปี 2563 ในวาระครบรอบการสถาปนาธนาคารออมสิน 107 ปี ธนาคารฯ ยังคงมุ่งมั่นทำหน้าที่เป็นสถาบันการเงินเพื่อการออมของประเทศ และทำหน้าที่สืบสาน สร้างสรรค์ พัฒนาสังคมในทุกด้าน เพื่อสร้างความสุขและอนาคตที่ยั่งยืนให้ประชาชนคนไทย ด้วยการเป็นเสาหลักสำคัญของประเทศในการผลักดันมาตรการต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และในอีกมิติที่ยังมุ่งมั่นพัฒนายกระดับองค์กรให้มีคุณภาพ มีมาตรฐานเทียบเคียงคู่แข่งขันอยู่ตลอดเวลา เพื่อรองรับและสร้างโอกาสจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและปัจจัยอื่นๆ ในอนาคต ภายใต้การกำกับดูแลที่ความโปร่งใสและมีธรรมาภิบาล
โดยตลอดระยะเวลา 5 ปี 5 เดือนกว่า ที่ได้เข้ามาบริหารงานในฐานะผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ได้นำแนวคิดและประสบการณ์ มาประยุกต์ใช้บริหารงาน ซึ่งมีความท้าทายอย่างมากจากการเป็นธนาคารของรัฐอันดับ 1 ที่มีความเก่าแก่มากกว่า 100 ปี ในขณะที่ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของธุรกิจภาคการเงิน คือ Digital Banking ซึ่งจากการพัฒนาและปรับเปลี่ยนองค์กรด้วยกลไกลการบริหารจัดการที่โดดเด่น สร้างการเติบโตของธนาคารออมสินอย่างมั่นคงและสง่างาม ตลอดกว่า 5 ปีที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นถึงการพลิกโฉมธนาคารออมสินอย่างแท้จริง และด้วยความมุ่งมั่น ทุ่มเท ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทำให้เห็นผลสำเร็จที่สร้างความภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่ทำให้องค์กรที่เป็นเสาหลักของประเทศอย่างธนาคารออมสินเติบโตอย่างยิ่งใหญ่ ดังนี้
1) การสร้างคุณค่าจากภาพลักษณ์ที่มีความแข็งแกร่ง “การเป็นธนาคารเพื่อการออมที่มั่นคงของประเทศ” เพื่อตอกย้ำ สร้างการรับรู้การปรับภาพลักษณ์เพื่อพลิกโฉมหน้าสู่การเป็น “ธนาคารออมสินยุคใหม่ที่ทันสมัย ก้าวไกลสู่อนาคต : GSB New Era” ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงองค์กรให้มีความทันสมัย เป็นเลิศทางด้านผลิตภัณฑ์ บริการ การปฏิบัติงาน และการสร้างความยั่งยืนให้กับประชาชนทุกกลุ่ม จนผลักดันมูลค่าตราสัญลักษณ์ธนาคารออมสินเพิ่มขึ้นจาก 52,353 ล้านบาท เมื่อปี 2558 ขึ้นมาอยู่ที่ 132,573 ล้านบาท ในปัจจุบัน ซึ่งได้รับการยืนยันและรับรองความสำเร็จผ่านรางวัลเกียรติมากมายทั้งในประเทศและระดับสากล
2) การพัฒนาและยกระดับ Traditional Banking สู่การเป็น Digital Banking โดยมุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทุกรูปแบบภายใต้แนวคิด “My Life...My Digital Bank” ซึ่งสะท้อนได้จากความสำเร็จของบริการโมบายล์แบงก์กิ้ง “MyMo” จากผู้ใช้บริการเมื่อเริ่มเปิดตัว 300,000 ราย ในปี 2558 เพิ่มเป็น 9.4 ล้านราย ณ วันที่ 30 เมษายน 2563 พร้อมกับ Delivery Banking ผ่านบริการรถยนต์บริการเคลื่อนที่ เรือออมสิน และการออกไปให้บริการด้วยเครื่องมือให้บริการในชื่อ “SUMO” ที่เสมือนเป็นบริการของสาขานอกสถานที่ ที่สามารถรับฝาก เปิดบัญชี และยื่นขอสินเชื่อได้
3) การปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารจัดการเพื่อปรับความแข็งแกร่งภายใน จากธนาคารเพื่อการออม สู่การดูแลลูกค้าทุกกลุ่ม โดยใช้การบริหารงานและให้บริการในแบบ Customer Centric เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านองค์กร ซึ่งแบ่งกลุ่มลูกค้าและรูปแบบการบริหารจัดการเพื่อตอบสนองความต้องของลูกค้าอย่างครบวงจร ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริการ ช่องทาง ที่ตรงตามพฤติกรรมและ Life Style เพื่อยกระดับความพึงพอใจของลูกค้า ทำให้ ณ สิ้นปี 2562 ธนาคารออมสินมีฐานลูกค้ากว่า 22 ล้านราย ตั้งแต่เกิดจนถึงผู้สูงวัย คิดเป็น 36% ของประชากรไทยทั้งประเทศ ซึ่งขยายตัวถึง 20% เมื่อเทียบจากปี 2557
4) การปรับยุทธศาสตร์เพื่อขับเคลื่อนนโยบายรัฐ สู่การดูแลประเทศชาติและสังคม ด้วย Social Development Bank เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากสู่ความยั่งยืน ดำเนินการภายใต้กรอบแนวคิด 3 ออมสร้างโลกสีชมพู ได้แก่ ออมเศรษฐกิจ ออมสังคม และออมสิ่งแวดล้อม โดยพัฒนากลไก 3 สร้างสู่ความยั่งยืน เพื่อการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากอย่างครบวงจร ตั้งแต่การสร้างความรู้/สร้างอาชีพ สร้างตลาด/สร้างรายได้ และสร้างโอกาสการเข้าถึงแหล่งทุน ด้วยการยกระดับสาขาจำนวน 100 แห่ง กระจายครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ ให้เป็น Social Development Center พร้อมกับยกระดับศูนย์สินเชื่อธุรกิจ SMEs ทั่วประเทศจำนวน 82 ศูนย์ ให้เป็น SMEs Development Center ศูนย์กลางพัฒนาส่งเสริม SMEs เพื่อความยั่งยืน ให้บริการเป็นที่ปรึกษาทางธุรกิจ บ่มเพาะธุรกิจ สนับสนุนข้อมูล SMEs เป็นต้น
5) การยกระดับจากธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ สู่การเป็นธนาคารที่มั่นคงและเติบโตอย่างแข็งแกร่งด้วย Global Standards คือ การสร้างความมั่นคงทางการเงินให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง (Financial Strengthening) การดูแลลูกค้าและผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม (Stakeholder Responsibility) การสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม (Business Environment) และการดำเนินธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล (Corporate Governance) ซึ่งเป็นแนวทางการบริหารจัดการธนาคารที่ต่อยอดจากแนวทางที่ดำเนินการมาและพัฒนาไปสู่การเป็นองค์กรที่เป็นเสาหลักของประเทศ เป็นกลไลภาคการเงินในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของรัฐบาล เป็นองค์กรชั้นนำของประเทศที่มีมาตรฐานสากลที่มีความแข็งแกร่งในทุกๆ ด้าน สามารถเผชิญกับการแข่งขันและการเปลี่ยนแปลง ได้อย่างมีเสถียรภาพ
ดร.ชาติชาย กล่าวทิ้งท้ายว่า ผมภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งขององค์กรที่เติบโตอย่างยิ่งใหญ่ คู่มากับสังคมไทยกว่า 107 ปี ภูมิใจที่มีส่วนช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบการเงินของประเทศ และสานต่อเจตจำนงในการเป็นสถาบันการเงินที่เป็นผู้นำในการส่งเสริมการออม เสริมสร้างความสุขและความมั่นคงของประชาชน เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยังยืน โดยพร้อมขับเคลื่อนการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจฐานราก และนโยบายรัฐบาล ด้วยการทำงานที่เข้มแข็ง ยึดหลักความซื่อสัตย์สุจริตและให้บริการด้วยใจ และมีส่วนทำให้ประชาชนคนไทยทุกพื้นที่ทั่วประเทศ สามารถได้รับบริการทางการเงินที่มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง
11 มิถุนายน 2563