เปิดแนวทางฟื้นฟูสหกรณ์การเกษตรด่านขุนทด จากขาดทุน 18.7 ล้าน สร้างความมั่นคงใน 4 ปี

     จากปัญหาการทุจริตในอดีตส่งผลให้ สหกรณ์การเกษตรด่านขุนทด จำกัด จังหวัดนครราชสีมา ประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนัก  ในปี พ.ศ. 2550 สหกรณ์ฯ มียอดขาดทุนสะสม 3 ปี จำนวน 18.7 ล้านบาท วงเงินสินเชื่อเบิกเกินบัญชี (วงเงินโอดี) ติดลบประมาณ 30 - 45 ล้านบาท  สมาชิกก็ไม่อยากเข้ามายุ่งเกี่ยวกับกิจการของสหกรณ์ เพราะไม่เคยได้รับเงินปันผลจากสหกรณ์ฯ บางส่วนกู้เงินสหกรณ์แล้วไม่ยอมมาผ่อนชำระ สหกรณ์ขาดสภาพคล่อง ไม่มีเงินจะชำระให้กับคู่ค้า  แต่หลังจากการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการของสหกรณ์ในปี 2550  การตรวจสอบ และแก้ไขปัญหาทุจริตจึงเริ่มดำเนินการอย่างจริงจัง  

นายสุระ  พาขุนทด ประธานกรรมการสหกรณ์การเกษตรด่านขุนทด จำกัด เปิดเผยว่า สิ่งแรกที่เริ่มดำเนินการหลังจากที่เข้ามารับตำแหน่งประธานกรรมการสหกรณ์ ฯ คือ 1) เรียกตรวจสอบบัญชีของสหกรณ์ทั้งหมด จึงพบว่าปัญหาการทุจริตเกิดจากฝ่ายจัดการที่สหกรณ์จ้างเข้ามาบริหาร  มีการใช้อำนาจเกินตัว เช่น การสั่งซื้อปุ๋ยวงเงิน 10 ล้านบาท โดยไม่ผ่านการประมูล แต่ฝ่ายจัดการเป็นคนหาผู้ค้า เจรจาต่อรองเอง โดยไม่มีคู่แข่ง  แล้วจึงมาตั้งงบจัดซื้อ  และขออนุมัติใช้จ่ายจากที่ประชุม  ทุกอย่างเบิกจ่ายโดยผู้จัดการทั้งหมด สินค้าที่ซื้อเข้าสหกรณ์ก็เสื่อมคุณภาพ   มีการวางเครือข่ายบุคคลที่ร่วมทุจริตในจุดต่าง ๆ ส่งผลให้คนที่ตั้งใจทำงานขาดขวัญกำลังใจ  ไม่กระตือรือร้นในการทำงาน การใช้เงินขาดการตรวจสอบ เพราะส่วนใหญ่จะคิดกันว่า บุคคลที่จ้างเข้ามาบริหารงานสหกรณ์มีความรู้ ความสามารถมากกว่าเกษตรกรซึ่งเป็นกรรมการของสหกรณ์  จึงให้ความเชื่อใจ ขาดการตรวจสอบ  และเป็นจุดอ่อนของสหกรณ์โดยส่วนใหญ่ หลังจากตรวจสอบเอกสารทั้งหมด

ทำให้มองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นในจุดต่าง ๆ  จึงไล่คนที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตออกทั้งหมด  2) หลังจากนั้นได้เรียกประชุมคณะกรรมการ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับสหกรณ์ทั้งหมด เพื่อทำความเข้าใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้น  ชี้แจงถึงความตั้งใจ เป้าหมาย แนวทางการดำเนินงานเพื่อสร้างจุดหมายร่วมกัน คือสร้างความเข้มแข็ง สร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นในองค์กร และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่สมาชิก 3) สำหรับปัญหาเงินรั่วไหลที่เกิดจากการจัดซื้อจัดจ้าง และการเบิกจ่าย  ได้นำระเบียบพัสดุที่ใช้ในองค์การบริหารส่วนตำบลมาเป็นแนวทางการดำเนินงาน การใช้จ่ายต่างๆ จะต้องมีการบันทึกเป็นเอกสาร สามารถตรวจสอบได้ ตั้งแต่การจัดซื้อ การตรวจรับ การเบิกจ่าย ซึ่งก่อนหน้านี้การจัดซื้อจัดจ้าง  การใช้จ่ายไม่ได้เป็นไปตามระเบียบ  4) สำหรับแผนการดำเนินงานของสหกรณ์  ให้แต่ละฝ่ายจัดทำแผนรายปี ทั้งแผนการจัดหารายได้ แผนรายจ่าย แผนจัดซื้อ แผนการเร่งรัดหนี้สิน  โดยจะต้องนำแผนและเป้าหมายมาเสนอเพื่อให้ที่ประชุมที่ใหญ่เป็นผู้อนุมัติ   สำหรับการขออนุมัติใช้เงินตามแผนต่าง ๆ  ให้เป็นไปตามระเบียบพัสดุ  โดยจะมีการติดตามและประเมินผลและตรวจสอบการทำงานอย่างใกล้ชิดทุกๆ เดือน  5) ส่วนการสร้างขวัญ กำลังใจและความสามัคคีให้พนักงาน ใช้ระบบการให้ผลตอบแทนตามความสามารถ ใครทำดีมีรางวัล เงินเดือนเพิ่ม หรือเลื่อนตำแหน่ง เพื่อจูงใจให้คนอยากสร้างผลงาน  

ตลอดปีบัญชี 2551/2552 ช่วงแรกผมและคณะกรรมการได้เดินสายประชุมกลุ่มพูดคุย ชี้แจงกับเกษตรกรสมาชิกทุกกลุ่ม เพื่อชี้แจง ทำความเข้าใจถึงปัญหาทุจริตที่เกิดขึ้นในสหกรณ์ รวมถึงแนวทางการแก้ไขปัญหา และการดำเนินงานของสหกรณ์ แต่การชี้แจงดังกล่าวก็ยังไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้สมาชิกได้เท่าที่ควร เพราะสมาชิกเขาขาดความเชื่อมั่นในสหกรณ์ไปแล้วเรื่องทุจริต 

แต่ผมและคณะกรรมการก็ไม่ย่อท้อ และได้วางแนวทางการทำงานของสหกรณ์ดำเนินการควบคู่ไปกับการใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือการรู้จักพอเพียง เก็บออมและแบ่งปัน จากการดำเนินงานตามแนวทางดังกล่าว ส่งผลให้ผลการดำเนินงานของสหกรณ์ดีขึ้นเป็นลำดับ โดยในปี 2551/2552  มีผลกำไร 6.3 ล้านบาท จึงได้มีการขออนุมัติมีการจ่ายเงินปันผลให้กับสมาชิก  เพื่อทำให้สมาชิกเห็นว่าสหกรณ์มีความห่วงใย ดูแลสมาชิก เป็นการสร้างศรัทธาและความเชื่อมั่นในตัวสหกรณ์ และให้ความร่วมมือกับสหกรณ์  นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับฝ่ายบริหารของสหกรณ์อีกด้วย เมื่อความเชื่อมั่นของสมาชิกเริ่มกลับมา ความร่วมมือของสมาชิกก็ดีขึ้น  ในปีถัดมาคือ ปี 2552/2553 มีผลกำไร 13.8 ล้านบาท  และปี 2553/2554 กำไร 15 ล้านบาท  สหกรณ์จึงสามารถชำระหนี้สินที่ค้างอยู่ 20 ล้านบาท เป็นผลสำเร็จ เมื่อเริ่มมีผลกำไร สหกรณ์ฯ จึงมาดูแลสมาชิกด้วยโครงการต่างๆ เช่น การลดดอกเบี้ยเงินกู้ เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับสมาชิก  จำหน่ายปุ๋ยในราคาถูกกว่าท้องตลาด การส่งเสริมอาชีพต่างๆ กำไรที่ได้จากธุรกิจของสหกรณ์ก็นำกลับไปคืนกำไรให้กับสมาชิกด้วยการแจกคูปองส่วนลดในการซื้อสินค้า ขณะเดียวกันก็เป็นการส่งเสริมการขายสินค้าของสหกรณ์ในไปตัวด้วย จากนั้นสหกรณ์จึงเริ่มขยายธุรกิจ จากเดิมที่มีเพียงธุรกิจสินเชื่อ รับซื้อพืชผลการเกษตร ฟาร์มสุกร และผลิตอาหารสัตว์ จึงเริ่มขยายไปสู่การผลิตปุ๋ยเพื่อจำหน่ายให้แก่สมาชิกและสหกรณ์เครือข่ายโดยจำหน่ายในราคาถูกกว่าท้องตลาด 800 -100 บาท การจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้า สำหรับจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค และกระจายออกเป็นเครือข่ายร้านค้า หรือร้านค้าชุมชนในระดับหมู่บ้านอีก 140 กลุ่ม  เมื่อสมาชิกมีความจำเป็นจะต้องใช้สินค้า อาหารแห้งเพื่อไปจัดงานในโอกาสต่างๆ  ก็สามารถนำเอาสินค้าจากร้านไปใช้ก่อน แล้วมาชำระเงินภายหลังจากจัดงาน 7 วัน  ธุรกิจศูนย์บริการรถยนต์แบบครบวงจร นอกจากนี้ยังมีโครงการส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรมให้สมาชิกโดยได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ เช่น โครงการขุดบ่อกักเก็บน้ำในไร่นา การขุดบ่อบาดาล  การทำระบบน้ำหยด ส่งเสริมการทำเกษตรแบบเศรษฐกิจพอเพียง ฯลฯ  

นายสุระ กล่าวว่า ปัจจุบัน (ปี 2561/2562)  สหกรณ์มีกำไรประมาณ 22 ล้านบาท ซึ่งกำไรส่วนนี้เราก็จะนำกลับมาสร้างบริการที่ดีเพื่อสมาชิกของเราอีก  จากผลสำเร็จนี้จะเห็นได้ว่าเกิดขึ้นจากความร่วมมือของสมาชิกที่ไม่ตื่นตระหนก ความสามัคคีร่วมคิดร่วมทำของคณะกรรมการ ความซื่อสัตย์สุจริต การทำงานเป็นทีม และใส่ใจความกินดีอยู่ดีของสมาชิก ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของสหกรณ์คือ “พัฒนาบุคลากร พัฒนาธุรกิจ องค์กรโปร่งใส ใส่ใจสมาชิก”

18 มิถุนายน 2563


บริษัท มีเดีย เน็ทเวิร์ค จำกัด
138, 140 ซอยอนามัย ถนนศรีนครินทร์ แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ 10250
MEDIA NETWORK Co.,Ltd
138, 140 Soi Anamai Srinakarin Road Suanluang Suanluang Bangkok 10250
Tel. 02 721 4417 Fax. 02 721 5516
E-mail : phototechthailand@gmail.com


ติดต่อโฆษณาหรือข้อมูลเพิ่มเติม
โทร. 02 721 4417 , 097 921 2929 คุณขวัญ

แฟนเพจ Phototech Magazine


ออกแบบโดย touronthai