เอกชนแห่ส่งตัวอย่างวัสดุก่อสร้างตรวจหารังสีเรดอนในที่อยู่อาศัย สทน. เร่งวิจัยเตรียมกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยวัสดุก่อสร้าง
รศ. ดร. ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. เปิดเผยว่า ปัจจุบันประชาชนเริ่มใส่ใจเรื่องของคุณภาพชีวิต คุณภาพอากาศภายในที่พัก ที่อยู่อาศัยมากขึ้นเช่นเดียวกับชาวต่างชาติ ทำให้ประชาชนในประเทศไทยเริ่มให้ความสำคัญในเรื่องนวัตกรรมในการสร้างอาคารที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัยต่อผู้อาศัยในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคัดเลือกวัสดุก่อสร้างที่มีคุณภาพในการสร้างที่อยู่อาศัย แต่วัสดุก่อสร้างที่ใช้กันอยู่โดยทั่วไปมีส่วนผสมของดิน หินทรายและแร่ธาตุต่างๆ ซึ่งธาตุเหล่านี้เป็นแหล่งที่มาของแก๊สเรดอนภายในอาคาร ซึ่งมีสถานะเป็นแก๊สเฉื่อยกัมมันตรังสี ปราศจากสี ปราศจากกลิ่น และปราศจากรส สามารถละลายน้ำและสารละลายอินทรีย์ได้ เนื่องจากเรดอนที่ปลดปล่อยออกมาจากน้ำหรือวัสดุต่างๆ ในธรรมชาติ เช่น ดิน หิน ทราย และวัสดุก่อสร้าง ดังนั้น โดยทั่วไปแก๊สเรดอนจะมีอยู่ในบ้านของเราและสิ่งแวดล้อมทั่วไป จะลอยฟุ้งกระจายในอากาศหรือเกาะตามไรฝุ่นในอากาศ เมื่อมนุษย์หายใจเอาอากาศที่ปะปนเรดอนเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจและปอดจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพ องค์การอนามัยโลก (World Health Organization :WHO) และองค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมสหรัฐอเมริกา (U.S. Environmental Protection Agency :EPA) รายงานว่า เรดอนเป็นสาเหตุการป่วยเป็นมะเร็งปอดอันดับสองรองจากการสูบบุหรี่จึงได้กำหนดเกณฑ์มาตรฐานอ้างอิงสำหรับเรดอนภายในบ้านไว้ที่ 148 Bq/m3
ปัจจุบันมีภาครัฐ และภาคเอกชนจำนวนมากส่งตัวอย่างวัสดุต่างๆ เช่น วัสดุก่อสร้าง ที่นอน หมอนยางพารา ปุ๋ย ดิน หินและทราย มาให้ สนทน. ตรวจสอบปริมาณการปล่อยแก๊สเรดอนในวัสดุต่างๆ ก่อนนำวัสดุเหล่าไปใช้งาน หรือส่งสินค้าเหล่านี้ออกไปขายในต่างประเทศ นอกจากนี้มีประชาชนและภาคเอกชนจำนวนมากที่ร้องขอให้สถาบันฯ ออกตรวจสอบปริมาณความเข้มข้นแก๊สเรดอนภายในอาคารที่อยู่อาศัยหรือพื้นที่ทำงาน เพื่อตรวจสอบความปลอดภัยของคุณภาพอากาศภายในอาคารบ้านเรือน เช่น หมูบ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม และพื้นที่ทำงาน
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องนี้อย่างมาก จึงได้จัดทำโครงการวิจัย เรื่อง “การศึกษาปริมาณสารกัมมันตรังสีที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ (NORM) ของวัสดุก่อสร้างในประเทศไทยเพื่อจัดทำฐานข้อมูล” ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการศึกษาระดับกัมมันตรังสีตามธรรมชาติ (NORM) และแก๊สเรดอนที่ตกค้างในวัสดุก่อสร้างที่ใช้ในประเทศไทย เพื่อจัดทำฐานข้อมูลในการกำหนดระดับความปลอดภัยหรือค่ามาตรฐาน (Standard level) สำหรับประเทศไทย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพของวัสดุก่อสร้างในประเทศไทยให้เป็นที่ยอมรับและมีมาตรฐานจากหน่วยงานสากล เพื่อประโยชน์ของประชาชนต่อไป นอกจากนี้ทางสถาบันฯ ได้เริ่มปรับปรุงและพัฒนามาตรฐานการวัดห้องปฏิบัติการทดสอบปริมาณกัมมันตรังสีและเรดอนที่ปะปนในวัสดุก่อสร้าง เพื่อรองรับการให้บริการประชาชน ภาครัฐ และภาคเอกชนในอนาคตด้วย
20 กรกฏาคม 2563