ม.บูรพาเล็งโชว์ “การผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลด้วยเทคโนโลยี RO” งาน Thailand Research Expo 2020

“มหกรรมวิจัยแห่งชาติ 2563” หรือ “Thailand Research Expo 2020” ภายใต้คอนเซ็ปต์ “วิจัยเพื่อพัฒนาประเทศ สู่ความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน” ใกล้เข้ามาแล้ว งานจะมีขึ้นระหว่าง 2-6 สิงหาคม 2563 ณ ชั้น 22-23 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์ หน่วยงานเครือข่ายระบบวิจัยทั่วประเทศเตรียมโชว์สุดยอดงานวิจัยมากกว่า 300 ผลงาน เช่นเดียวกับ มหาวิทยาลัยบูรพา เตรียมโชว์ผลงานวิจัย “การผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลด้วยเทคโนโลยีRevers Osmosis (RO) สำหรับการแก้วิกฤตขาดแคลนน้ำเพื่อการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน” อีกผลงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ในกลุ่มงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อน BCG Economy Model

อาจารย์ ว่าที่ร้อยตรี พิสุทธิ์ เทศสวัสดิ์ และ ดร.บัลลังก์ เนื่องแสง ทีมวิจัยจากคณะเทคโนโลยีทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี เปิดเผยว่า การวิจัย “การผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลด้วยเทคโนโลยีRevers Osmosis (RO) สำหรับการแก้วิกฤตขาดแคลนน้ำเพื่อการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน” ได้เริ่มทำการศึกษาติดตั้งระบบต้นแบบในปี 2559 หลังจากทางคณะเล็งเห็นว่า สถานการณ์วิกฤตน้ำมีมากขึ้น เช่นเดียวกับจังหวัดจันทบุรี เกษตรกรขาดแคลนน้ำใช้ทำการเกษตรในช่วงฤดูร้อน

วัตถุประสงค์ในการทำโครงการวิจัยนี้จึงมุ่งสนับสนุนเกษตรกรในหน้าแล้ง โดยเฉพาะเกษตรกรพื้นที่ชายฝั่ง ขณะเดียวกันยังเป็นประโยชน์สำหรับประชาชนที่อาศัยในชุมชนพื้นที่ห่างไกล หรืออาศัยอยู่บนเกาะและรีสอร์ตต่าง ๆ สามารถนำไปใช้ได้ นอกจากนี้ในระบบการทำน้ำจืดจากน้ำทะเลยังมีเกิดน้ำทิ้งที่เป็นน้ำเค็มสามารถนำไปใช้เลี้ยงสัตว์น้ำ สาหร่าย และหญ้าทะเลได้อีกทางหนึ่ง

“สำหรับเป้าหมายการวิจัยในขณะนี้ยังเน้นที่เกษตรกรพื้นที่ชายฝั่งทะเลเป็นหลัก โดยในพื้นที่อื่น ๆ อาจยังมองไม่เห็นความคุ้มค่า จึงเป็นสาเหตุที่เราต้องพิสูจน์ให้เห็นค่าที่ได้จากการผลิตและปัจจุบันผลิตน้ำจืดได้ใช้ภายในวิทยาเขตแล้ว”

ทั้งนี้ในระบบวิจัยได้ใช้อุปกรณ์เครื่องมือภายในประเทศ ระบบทำงานโดยสูบน้ำทะเลมาที่พักน้ำ เพื่อกรองฝุ่นละอองออก จากนั้นกรองด้วยเทคนิค RO เพื่อให้ได้น้ำจืดมาใช้ในการบริโภคและอุปโภค โดยในการวิจัยได้มีการหาค่ามาตรฐานของน้ำทะเลที่ความเค็มระดับต่าง ๆ และค้นพบว่า น้ำทะเล 1,000 ลิตรสามารถกรองเป็นน้ำจืดได้ 400 ลิตรและได้ส่วนที่เป็นน้ำเค็มเข้มข้นสูง 600 ลิตร

อาจารย์พิสุทธิ์ เปิดเผยในตอนท้ายว่า เวลานี้ระบบสามารถทำงานได้น้ำจืดไว้ดื่มได้จริงและอยู่ระหว่างการผลักดันให้ได้มาตรฐานของคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) นอกจากนี้ยังกำลังพัฒนาระบบให้ถูกลง เพื่อลดต้นทุนจากระบบปัจจุบันที่มองว่ายังมีต้นทุนที่สูงอยู่ โดยแพงกว่าการผลิตปริมาณน้ำประปา เป็นมูลค่าสูงกว่าประมาณ 15-25 บาทต่อ 1,000 ลิตร หรือ 1 ยูนิต

ส่วนผลงานอื่น ๆ ของมหาวิทยาลัยบูรพาที่จะนำไปจัดแสดงในงานมหกรรมวิจัยในครั้งที่ 15 นี้ได้ ยังรวมถึงงานวิจัยและนวัตกรรม “INNOVATION FOR ECO-GARDENING” นวัตกรรมในสวนเพื่อสิ่งแวดล้อมของ รองศาสตราจารย์ ดร.สุปราณี แก้วภิรมย์ (คณะวิทยาศาสตร์) FerGel ปุ๋ยเคมีชนิดควบคุมการปลดปล่อยได้ พัฒนาจากวัสดุย่อยสลายได้ เมื่อได้รับน้ำและความชื้นจากดินจะบวมตัวและปลดปล่อยปุ๋ยออกมาจากเม็ดอย่างช้าๆ ในปริมาณที่ควบคุมได้ จึงช่วยประหยัดเวลาและงบประมาณของเกษตรในการให้ปุ๋ยและช่วยประหยัดปุ๋ยไม่ให้ละลายออกไปปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมในปริมาณมาก

และผลงานนวัตกรรม BioPot (บรรจุภัณฑ์จากพลาสติกย่อยสลายได้ผสมเส้นใยธรรมชาติ) ชนิดพอลิแลคติกแอซิด(Poly(lactic acid),PLA) และพอลิบิวทิลีนซักซีเนท(Poly(butylene succinate), PBS) ผสมกับเซลลูโลสที่ได้จากธรรมชาติ เช่น แกลบ เส้นใยสัปปะรด เส้นใยจากเปลือกทุเรียน สามารถขึ้นรูปเป็นบรรจุภัณฑ์ได้หลายชนิดและรูปทรง หลังการใช้งานสามารถฝังกลบหรือหมักกับเศษวัสดุอื่น เพื่อทำเป็นปุ๋ยหมักหรือวัสดุปลูกได้ จึงช่วยลดการใช้พลาสติกจากปิโตรเลียม ลดขยะพลาสติกและลดปัญหาการปนเปื้อนขยะพลาสติกในสิ่งแวดล้อม

เชิญชวนไปชมงานวิจัยดี ๆ กันที่งาน “มหกรรมวิจัยแห่งชาติ 2563” หรือ “Thailand Research Expo 2020” ที่จัดขึ้นภายใต้คอนเซ็ปต์ “วิจัยเพื่อพัฒนาประเทศ สู่ความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน” ระหว่าง 2-6 สิงหาคม 2563 ณ ชั้น 22-23 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์

31 กรกฏาคม 2563


บริษัท มีเดีย เน็ทเวิร์ค จำกัด
138, 140 ซอยอนามัย ถนนศรีนครินทร์ แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ 10250
MEDIA NETWORK Co.,Ltd
138, 140 Soi Anamai Srinakarin Road Suanluang Suanluang Bangkok 10250
Tel. 02 721 4417 Fax. 02 721 5516
E-mail : phototechthailand@gmail.com


ติดต่อโฆษณาหรือข้อมูลเพิ่มเติม
โทร. 02 721 4417 , 097 921 2929 คุณขวัญ

แฟนเพจ Phototech Magazine


ออกแบบโดย touronthai