กระทรวงวัฒนธรรม จัดงาน “สายธารพระเมตตา จากภูมิปัญญา สู่สากล” เทิดไท้สมเด็จฯ พระพันปีหลวง
กรุงเทพฯ วันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๖๓ – สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ต้อนรับเทศกาลวันแม่ จัดงาน “สายธารพระเมตตา จากภูมิปัญญา สู่สากล” นิทรรศการและการแสดงผลงานการออกแบบเครื่องแต่งกายผ้าไหมไทย ยกขบวนมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์โชว์ชุดไหมไทยอันล้ำค่า เพื่อเทิดพระเกียรติและน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ด้านการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาผ้าไหมไทย ระหว่างวันที่ ๓ - ๒๓ สิงหาคมนี้ ณ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน
นับเป็นเวลาหลายศตวรรษที่สมเด็จฯ พระพันปีหลวง ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจและมีพระราชปณิธานในการส่งเสริมงานศิลปาชีพด้านผ้าไหมไทย เนื่องในโอกาสที่ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๘๘ พรรษา ในวันที่ ๑๒ สิงหาคมนี้ สำนักงานศิลปกระทรวงวัฒนธรรมจึงได้จัดงาน “สายธารพระเมตตา จากภูมิปัญญา สู่สากล” ขึ้น เพื่อเทิดพระเกียรติและฉลองปีมงคลนี้
นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ในฐานะประธานเปิดเผยถึงการจัดงานงาน “สายธารพระเมตตา จากภูมิปัญญา สู่สากล” ว่า งานนี้จะเป็นการรวบรวมผลงานผ้าไหมที่มีความงดงามหลากหลายรูปแบบ เพื่อแสดงถึงพระอัจฉริยภาพและพระมหากรุณาธิคุณของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่มีต่อผ้าไทย ทั้งยังทรงส่งเสริมอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมแก่พสกนิกร และอาชีพทางด้านหัตถกรรมการถักทอผืนผ้าไหมที่มีความสวยงามเป็นเอกลักษณ์และมรดกของประเทศไทยสืบต่อไป
นิทรรศการอันวิจิตรตระการตาจะจัดขึ้นภายใต้แนวคิด “ล้ำค่าผ้าไหมไทยสู่สากล” ผ่านเทคนิคการแสดงที่ล้ำสมัย โดยแบ่งเป็น ๒ ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ ๑: การผลิตผ้าไหมไทย นำเสนอเรื่องราวการผลิตผ้าไหมไทย แสดงถึงชีพจักรไหม, แสดงการย้อมสี, การทอผ้าไหม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ้าไหมมัดหมี่ ลวดลายมัดหมี่ที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ เป็นลวดลายที่มาจากธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ขนบธรรมเนียมประเพณี และความเชื่อ อาทิ ลายดอกแก้ว ลายต้นสน ลายนาค ลายใบไผ่ ลายโคมห้า ลายขันหมากเบ็ง (ลายบายศรี) เป็นต้น ซึ่งเป็นศิลปะการทอผ้าที่ยากจะลอกเลียนให้เหมือนเดิมได้ในปัจจุบัน ส่วนที่ ๒: การแสดงหุ่นโชว์ชุดราตรีผ้าไหมไทยที่เคยแสดงในงาน “Thai Night” งานเลี้ยงต้อนรับสาวงามผู้เข้าประกวดมิสยูนิเวิร์ส ๒๐๑๘ ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ โดยชุดทั้งหมดตัดเย็บจากผ้าไหมมัดหมี่ของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จฯ พระพันปีหลวง ภายใต้คอนเซ็ปต์ “มงคล” ไล่เรียงตามสีมงคลประจำวันของไทย จากวันจันทร์ไปจนถึงวันอาทิตย์ ได้แก่ สีเหลือง, สีชมพู, สีเขียว, สีส้ม, สีฟ้า, สีม่วง และสีแดง
รวมถึงหุ่นโชว์ชุดฝีพระหัตถ์ทรงออกแบบโดย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เค้าโครงมาจากชุดในคอลเลกชั่น SIRIVANNAVARI Couture ที่มีการออกแบบตัดเย็บชั้นสูง ได้แรงบันดาลใจมาจากฉลองพระองค์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ใช้เทคนิคการร้อยและปักลูกปัดแบบ Haute Couture มีการใช้ผ้าไหมมัดหมี่ และผ้าไหมแพรวามาผสมกัน ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งความท้าทายในการตัดเย็บผ้าไหมไทยโดยไม่ให้ความงดงามดั้งเดิมสูญเสียไป ทุกพื้นที่บนผืนผ้าของชุดยังได้ถ่ายทอดความเป็น “นกยูง” เป็นสัตว์ที่สะท้อนถึงความสง่างามและความอ่อนโยนในแบบผู้หญิงที่มีความสวยงาม และโดดเด่นในรูปแบบของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น ชายกระโปรงลากยาวได้ออกแบบเสมือนปีกนกยูงที่กำลังรอรำแพน มีดอกดวงหรือแววมยุราที่เล่นดีเทลด้วยการตัดเย็บผ้าสีฟ้า สีน้ำเงินอยู่ในพื้นที่วงกลม ล้อมรอบด้วยเส้นไหมให้ดูราวขนปีกนกยูง ซึ่งนับเป็นผลงานที่รังสรรค์ทุกรายละเอียดด้วยความประณีตอย่างสูง
นอกจากนี้ ยังมีผลงานของ ๑๙ ดีไซเนอร์ไทยชื่อดังผู้รังสรรค์ผ้าไหมไทยสู่ ๙๕ สาวงาม มิสยูนิเวิร์ส ๒๐๑๘ ได้แก่ Asava โดย พลพัฒน์ อัศวะประภา, Ek Thongprasert โดย เอก ทองประเสริฐ, Emotions Atelier โดย ธัญพิยสิษฐ์ หว่างพรม, La Boutique โดย พัชรวัฒน์ ตระกาลสันติกูล, Hook’s โดย ประภากาศ อังศุสิงห์, Kanapot Aunsorn โดย คณาพจน์ อุ่นศร, Kloset โดย ณัฏฐ์ มั่งคั่ง, Milin โดย มิลิน ยุวจรัสกุล, Narong โดย ณรงค์ เกตุแก้ว, Pattarat โดย พัทธรัตน์ อาจวงษ์, Patinya โดย ปฏิญญา เกี่ยวข้อง,Present โดย อนุรักษ์ ร่วมสุข, Surface โดย อธิษฐ์ ฐิรกิตติวัฒน์, Tipayaphong โดย ทิพยพงษ์ ภูษณะพงษ์, Tohns โดย ธรธรรม พงษ์พานิช, Tube Gallery โดย พิสิฐ จงนรังสิน, Valentier โดย ดนวัต พฤกษ์ชินวร, Vickteerut โดย อรประพันธ์ สุทธินรเศรษฐ์, และ Wisharawish โดย วิชระวิชญ์ อัครสันติสุข
โดยภายในงานแถลงข่าวได้มีไฮไลท์แฟชั่นโชว์ชุดผ้าไหมไทยกว่า ๑๒ ชุด แสดงแบบโดย มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ ๒๐๑๙ อาทิ ฟ้าใส - ปวีณสุดา ดรูอิ้น ฟ้าใส, มิเรียม – ศรพรหมมาศ, เบลล่า - ธนัชพร บุญแสง, คิม - โดเชคาโลวา และ เฟริส - ภัทราพร หวัง ปิดท้ายด้วยพิธีมอบ “ชุดผีตาโขน” (Phi Ta Khon of Thailand) ให้แก่จังหวัดเลย ซึ่งเป็นชุดประจำชาติที่รังสรรค์ขึ้นมาให้แก่ ฟ้าใส-ปวีณสุดา ดรูอิ้น มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ ๒๐๑๙ โชว์ความเป็นไทยในการประกวดมิสยูนิเวิร์ส ๒๐๑๙ ณ เมืองแอตแลนต้า ประเทศสหรัฐอเมริกา ออกแบบโดย ‘อลงกรณ์ กองอิน’ ผู้ชนะเลิศการออกแบบชุดประจำชาติในโครงการ ‘ความเป็นไทยร่วมสมัยที่ฟ้าใสจะใส่ไปคว้ามง’ เพื่อใช้เป็นชุดประจำชาติในการประกวดมิสยูนิเวิร์ส ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากชุดพื้นบ้านไทยของ อ.ด่านซ้าย จ.เลย
ร่วมสืบสานอัตลักษณ์ไทยและเทิดไท้สมเด็จฯ พระพันปีหลวง ได้ที่งาน “สายธารพระเมตตา จากภูมิปัญญา สู่สากล” ๓ - ๒๓ สิงหาคมนี้ ณ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน ค้นหารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.m-culture.go.th
4 สิงหาคม 2563