สวทช. เปิดตัวเยาวชนทุน JSTP รุ่น 22 -​ JSTP-SCB รุ่น 1-2 ปูเส้นทางอนาคตสู่นักวิทย์-นักเทคโนฯ​- นักวิจัย

สวทช. เปิดตัวเยาวชนทุน JSTP รุ่น 22 และ JSTP-SCB รุ่น 1-2​ ปูเส้นทางอนาคตสู่นักวิทยาศาสตร์ นักเทคโนฯ และนักวิจัย

เมื่อเร็ว ๆ นี้ (9 ส.ค. 63) ที่บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี – สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยงานส่งเสริมและพัฒนาเด็กและเยาวชนที่มีศักยภาพสูง (JSTP) ฝ่ายพัฒนาบุคลากรวิจัย เปิดตัวพร้อมปฐมนิเทศและแสดงความยินดีแก่เยาวชนนักเรียนนักศึกษาผู้ได้รับทุน JSTP รุ่นที่ 22 จำนวน 18 คน และทุน JSTP-SCB รุ่นที่ 1-2 จำนวน 10 คน รวม 28 คน เพื่อมุ่งผลักดันเยาวชนเข้าสู่อาชีพวิจัย โดยจะสนับสนุนทุนการศึกษาและทุนทำวิจัย รวมถึงโอกาสฝึกทักษะวิจัยกับนักวิจัย สวทช. หรือตามสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัย ตลอดจนประสบการณ์เข้าค่ายวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ เป็นการสร้างอนาคตของชาติ เพื่อก้าวเป็นกำลังสำคัญของประเทศไทยต่อไป

ดร.ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า โครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน หรือ “JSTP” (Junior Science Talent Project) เป็นหนึ่งในโครงการพัฒนากำลังคนของ สวทช. ที่เฟ้นหาและคัดเลือกเด็กและเยาวชนที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ตอนปลาย และปริญญาตรี เข้ามารับการส่งเสริมและพัฒนาในรูปแบบที่หลากหลายและเหมาะสมกับความถนัดของแต่ละคน โดยจัดหานักวิทยาศาสตร์พี่เลี้ยงคอยให้แนะนำและดูแล เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้แสดงศักยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนจบการศึกษาในระดับปริญญาเอก เพื่อพัฒนาเป็นนักวิทยาศาสตร์ นักเทคโนโลยี และนักวิจัย ที่มีคุณภาพและมีจริยธรรมต่อไปในอนาคต

ขณะที่ โครงการการสนับสนุนนักเรียนที่มีศักยภาพสูงเพื่อรับการบ่มเพาะผ่านกิจกรรมของโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อเข้าสู่อาชีพวิจัย ภายใต้การสนับสนุนจาก ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ “JSTP-SCB” เป็นโครงการที่ขยายผลจากโครงการ JSTP ซึ่งได้คัดเลือกเยาวชนมาแล้ว 2 รุ่น ซึ่งทางธนาคารฯ เห็นความสำคัญของการพัฒนากำลังคนเพื่อพัฒนาประเทศ ได้สนับสนุนงบประมาณเพื่อส่งเสริมเยาวชน โดยอาศัยแนวทางบ่มเพาะด้วยระบบนักวิทยาศาสตร์พี่เลี้ยงและกิจกรรมเสริมสร้างประสบการณ์ต่าง ๆ ตามแนวทางของ JSTP เพื่อผลักดันให้เยาวชนก้าวสู่การเป็นนักวิทยาศาสตร์หรือนักวิจัยชั้นนำ

ซึ่งทั้ง 2 ทุน มุ่งที่จะผลักดันเยาวชนเข้าสู่อาชีพวิจัย โดยจะสนับสนุนทุนการศึกษา และทุนทำวิจัย รวมถึงการเข้าฝึกทักษะวิจัยกับนักวิจัย สวทช. และอาจารย์หรือนักวิจัยจากสถาบันการศึกษา/สถาบันวิจัยต่าง ๆ ตลอดจนกิจกรรมเสริมสร้างประสบการณ์ เช่น กิจกรรมค่าย การอบรมทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 เป็นต้น 

“เยาวชน JSTP รุ่นที่ 22 มีการคัดเลือกจากใบสมัครทั่วประเทศ จากนั้นมีการสัมภาษณ์ และเข้าร่วมโครงการระยะสั้น เป็นเวลา 1 ปี เยาวชนจะได้ทำโครงงานวิทยาศาสตร์ภายใต้การดูแลของนักวิทยาศาสตร์พี่เลี้ยง โดยได้คัดเลือกเข้ารับทุนระยะยาว จำนวน 18 คน ส่วนเยาวชน JSTP-SCB รุ่นที่ 1-2 คัดเลือกรุ่นละ 5 คน รวมเป็น 10 คน โดยคัดเลือกจากเยาวชนผู้มีความสามารถพิเศษจากโครงการต่าง ๆ ของ สวทช. เช่น โครงการประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ (YSC) โครงการการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย (NSC) เป็นต้น” รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าว


ด้าน ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และที่ปรึกษาอาวุโส ผู้อำนวยการ สวทช. รวมถึงในฐานะผู้ก่อตั้ง JSTP กล่าวเสริมว่า สวทช. ได้จัดตั้งโครงการ JSTP ขึ้นเมื่อ 22 ปีที่แล้ว เป็นโครงการที่มีเป้าหมายจะสร้างคนรุ่นใหม่ ที่จะเป็นนักวิจัย หรือประกอบอาชีพใดที่เกี่ยวกับงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ผ่านมามี JSTP รุ่นพี่ ๆ ที่มีความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน และการรับใช้ประเทศชาติอย่างต่อเนื่อง มีการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ รวมถึงมีผลงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยและทั่วโลกจำนวนมาก รวมถึงนับเป็นโอกาสอันดีที่โครงการ JSTP ได้มีการขยายตัวขึ้น โดยได้รับความร่วมมือจาก ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ในโครงการ JSTP-SCB ซึ่งจะให้ทุนและให้การสนับสนุนนักศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย ขนานไปกับโครงการ JSTP ที่จะให้การสนับสนุนนักเรียนตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาขึ้นไป เป็นโครงการระยะยาว เพื่อสร้างอนาคตของประเทศ

ด้านตัวแทนเยาวชนผู้ได้รับทุน JSTP#22 ด.ช.ปิตุภูมิ ชัยเจริญวรรณ หรือนโม นักเรียนชั้น ม.3 โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย จ.เชียงใหม่ เจ้าของโครงงานวิทยาศาสตร์เรื่อง Air4All – Air Purifier with Permanent and Reusable เปิดเผยว่า โครงงานที่ทำ คือ เครื่องฟอกอากาศแบบถาวรและใช้ซ้ำได้ เป็นการศึกษาในเรื่องประเภทของผ้าแต่ละชนิดที่คนทั่วไปสามารถหาได้ มาทำวิจัยว่า ผ้าประเภทใดมีประสิทธิภาพในการฟอกอากาศได้ดีที่สุดในราคาที่ต่ำ เพื่อให้ทุกคนสามารถหามาใช้งานง่าย ใช้ได้จริง และมีประโยชน์ โดยที่สนใจทำโครงงานเรื่องนี้ เพราะตัวผมเองชอบในด้าน Health Tech หรือนวัตกรรมสุขภาพ และอยากให้เกิดการใช้งานจริง ๆ ในสังคม ส่วนตัวแทนเยาวชนชั้น ม.ปลาย นายภูวพัศ เทียมจรรยา หรือกอล์ฟ นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ เจ้าของโครงงานวิทยาศาสตร์เรื่อง การพัฒนาเซนเซอร์ชนิดพอลิไดอะเซทิลีนสำหรับการตรวจจับฟอร์มาลดีไฮด์ เปิดเผยถึงความรู้สึกที่ได้รับทุน JSTP ว่า รู้สึกดีใจมาก เพราะการได้รับทุน JSTP จะเป็นโอกาสอันดีที่จะทำให้ผมต่อไปยังสาขาวิชาอาชีพที่ผมอยากจะดำเนินในอนาคตได้ คือ ด้านวิทยาศาสตร์ อยากเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย สาขาเคมี โดยอยากจะทั้งสอนด้วยและทำวิจัยด้วย ซึ่งโครงงานที่ทำนี้เป็นการศึกษาการสังเคราะห์ของพอลิเมอร์ที่เปลี่ยนสีจากสีน้ำเงินเป็นสีแดงได้ เมื่อมีการตรวจพบฟอร์มาลดีไฮด์ ซึ่งเป็นสารที่ใช้ในการรักษาสภาพเนื้อเยื่อ แต่ผู้ค้าบางรายนำสารนี้มาใช้รักษาสภาพอาหารสด แต่ฟอร์มาลดีไฮด์เป็นสารที่เป็นพิษต่อร่างกาย ฉะนั้น โครงงานนี้สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ โดยนำเซนเซอร์ไปใช้ในการทดสอบก่อนว่าอาหารแต่ละอย่างที่ซื้อมามีการใช้สารฟอร์มาลดีไฮด์หรือไหม หากมีจะได้หลีกเลี่ยง หากไม่มีจะได้บริโภคอย่างปลอดภัย

และอีกหนึ่งเยาวชนระดับปริญญาตรีที่ได้รับทุน JSTP-SCB#1 น.ส.จิลมิกา ระเริง หรือพลอย นิสิตชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เจ้าของโครงงานวิทยาศาสตร์เรื่อง การศึกษาประสิทธิภาพการเป็นสารหน่วงไฟของเคราตินที่สกัดจากเส้นผม เพื่อเพิ่มสมบัติการทนไฟของผ้าฝ้าย เล่าถึงโครงงานที่ทำว่า เป็นเรื่องเกี่ยวกับเส้นผม ย้อนไปสมัยมัธยมที่เราต้องตัดผมตลอด เห็นว่าผมสั้น ๆ มันทำประโยชน์อะไรไม่ได้ ส่วนผมยาวสามารถนำไปทำวิกได้ เหตุนี้จึงสนใจศึกษาในเรื่องเคราติน ว่ามันทนความร้อนได้ และถ้าเราสกัดเคราตินจากเส้นผมที่คนเราทิ้ง ๆ ไป เอามาใช้ ทำให้ผ้ามันทนความร้อนได้มากขึ้น มันจะเหมาะสมหรือเปล่า ด้วยการค้นหาสภาวะ (condition) ที่ค่อนข้างเหมาะสมสำหรับจะอัดเข้าไปกับผ้า ทำให้ผ้าที่ได้มีสีเข้มขึ้นตามสีความเข้มของเคราติน ซึ่งโครงงานนี้ยังต้องพัฒนาต่อยอดต่อไป และสำหรับเป้าหมายในอนาคต ด้วยความที่ตนสนใจด้านเกษตร อาจจะเป็นในด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีชีวภาพกับทางด้านเกษตร เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด ทำให้ภาคเกษตรของไทยที่เป็นจุดแข็งของประเทศมีความแข็งแรงมากยิ่งขึ้น

11 สิงหาคม 2563


บริษัท มีเดีย เน็ทเวิร์ค จำกัด
138, 140 ซอยอนามัย ถนนศรีนครินทร์ แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ 10250
MEDIA NETWORK Co.,Ltd
138, 140 Soi Anamai Srinakarin Road Suanluang Suanluang Bangkok 10250
Tel. 02 721 4417 Fax. 02 721 5516
E-mail : phototechthailand@gmail.com


ติดต่อโฆษณาหรือข้อมูลเพิ่มเติม
โทร. 02 721 4417 , 097 921 2929 คุณขวัญ

แฟนเพจ Phototech Magazine


ออกแบบโดย touronthai