เทคนิคอุดรฯ อวดโฉมสิ่งประดิษฐ์จากห้อง FabLab ที่ สวทช. สนับสนุน เพิ่มทักษะวิศวกรรม พร้อมสร้างแรงบันดาลใจสู่นวัตกร
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดกิจกรรม Site Visit to LAB ตอน FabLab วิทยาลัยเทคนิคอุดรธานี ที่ จ.อุดรธานี เยี่ยมชมนวัตกรรมเยาวชนในโครงการโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม จำนวน 5 ผลงาน ที่พัฒนาขึ้นจากเครื่องมือทางวิศวกรรมในห้อง FabLab ได้แก่ ชุดสาธิตแขนกล หุ่นยนต์มด กล่องฆ่าเชื้อด้วยแสง UV เครื่องวัดอุณหภูมิแบบไม่สัมผัส และแขนกลหุ่นยนต์ขนาดเล็ก เพื่อพัฒนาทักษะความเป็นนวัตกร (Innovator) ให้แก่เยาวชนไทย ในการคิดสร้างสรรค์ ออกแบบและสร้างชิ้นงานโดยใช้เครื่องมือทางวิศวกรรมและเครื่องมือวัดทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง
ดร.อ้อมใจ ไทรเมฆ
ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช.
ดร.อ้อมใจ ไทรเมฆ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สวทช. มีการสนับสนุนการพัฒนากำลังคนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผลักดันผ่านโครงการ FabLab หรือโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม ให้แก่สถานศึกษาหลายแห่ง เพื่อพัฒนาทักษะความเป็นนวัตกร (Innovator) ให้แก่เยาวชนไทย ในการคิดสร้างสรรค์ ออกแบบและสร้างชิ้นงานโดยใช้เครื่องมือทางวิศวกรรมและเครื่องมือวัดทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องในห้อง FabLab โดยห้องปฏิบัติการ FabLab ของ วิทยาลัยเทคนิคอุดรธานี เป็นหนึ่งใน 50 ของวิทยาลัยอาชีวศึกษาจากทั่วประเทศ ซึ่งเครื่องมือทางวิศวกรรมในห้อง FabLab ดังกล่าวจะช่วยพัฒนากิจกรรมสำหรับนักเรียนและครู ให้มีทักษะด้านวิศวกรรม ความคิดสร้างสรรค์ สามารถออกแบบและสร้างชิ้นงานได้ รวมทั้งเกิดแรงบันดาลใจและสนใจที่จะมีอาชีพเป็นวิศวกรหรือนวัตกรในอนาคต
นายชาญชัย ชาญสุข
รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารทรัพยากร วิทยาลัยเทคนิคอุดรธานี
ด้าน นายชาญชัย ชาญสุข รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารทรัพยากร วิทยาลัยเทคนิคอุดรธานี กล่าวเสริมว่า วิทยาลัยเทคนิคอุดรธานี ได้รับการสนับสนุนงบประมาณดำเนินโครงการโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม หรือห้อง Fab Lab จาก สวทช. ตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งเป็นห้องที่ประกอบด้วยเครื่องไม้เครื่องมือทางวิศวกรรมและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ช่วยพัฒนาครูและนักเรียนของวิทยาลัยฯ ให้มีทักษะด้านวิศวกรรม และความคิดสร้างสรรค์เพิ่มมากขึ้น เช่น เครื่องพิมพ์สามมิติและวัสดุพิมพ์ เครื่องตัดเลเซอร์ และเครื่องมือพื้นฐานต่าง ๆ เป็นต้น โดยผลงานสิ่งประดิษฐ์ที่สำคัญของนักเรียน นักศึกษา ที่พัฒนาขึ้นจากห้อง FabLab วิทยาลัยเทคนิคอุดรธานี เช่น ชุดสาธิตแขนกล (Robot Arm) หุ่นยนต์เพื่อการศึกษาเบื้องต้น (หุ่นยนต์มด) กล่องฆ่าเชื้อด้วยแสง UV เครื่องวัดอุณหภูมิแบบไม่สัมผัส และแขนกลหุ่นยนต์ขนาดเล็ก เป็นต้น
น.ส.มนัสชนก วงค์โต น.ส.จุฬารัตน์ วงค์หาจักร และ น.ส.สัญญาลักษณ์ เหล่าสน ชั้น ปวส. 2/1
แผนกวิชาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ วิทยาลัยเทคนิคอุดรธานี
ด้านนักเรียนที่พัฒนาสิ่งประดิษฐ์ อย่างผลงาน ชุดสาธิตแขนกล (Robot Arm) โดย น.ส.มนัสชนก วงค์โต น.ส.จุฬารัตน์ วงค์หาจักร และ น.ส.สัญญาลักษณ์ เหล่าสน ชั้น ปวส. 2/1 แผนกวิชาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ วิทยาลัยเทคนิคอุดรธานี เล่าว่า ชุดสาธิตแขนกล ที่ได้จากการใช้ห้อง Fab Lab เป็นหุ่นยนต์ที่สั่งการด้วยการกดสวิตช์ ควบคุมโดยโปรแกรม เพื่อให้หุ่นยนต์จับคัดแยกสิ่งของและนับจำนวนสิ่งของ โดยควบคุมการทำงานด้วยปุ่มกดบังคับที่กำหนด ซึ่งหุ่นยนต์สามารถคัดแยกสิ่งของเป็นหมวดหมู่และนับจำนวนสิ่งของได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายกิตติพศ ฟ้ากระจ่าง นายพศวัต ศรีวงศ์ และนายธีรโชติ เหล่าเทพ ชั้น ปวส. 2/1
แผนกวิชาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ วิทยาลัยเทคนิคอุดรธานี
ขณะที่ นายกิตติพศ ฟ้ากระจ่าง นายพศวัต ศรีวงศ์ และนายธีรโชติ เหล่าเทพ ชั้น ปวส. 2/1 แผนกวิชาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ วิทยาลัยเทคนิคอุดรธานี เล่าถึงผลงาน หุ่นยนต์เพื่อการศึกษาเบื้องต้น หรือหุ่นยนต์มด ว่า เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้เข้าใจเทคโนโลยีหุ่นยนต์และกระบวนการทางวิศวกรรม ผ่านโปรแกรมหุ่นยนต์ สร้างทางเลือกใหม่ให้กับนักเรียน ในการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์และเปลี่ยนการเล่นให้เป็นการเรียนรู้ เป็นการส่งเสริมการศึกษาในศตวรรษที่ 21 และ THAILAND 4.0 ที่เน้นการเรียนรู้หุ่นยนต์
นายจรินทร์ โสภากา นายสุริยา ขนชิด และนายธนภูมิ คำภิมูล ชั้น ปวส. 2/1
แผนกวิชาอิเล็กทรอนิกส์ วิทยาลัยเทคนิคอุดรธานี
ปิดท้ายด้วย ผลงาน แขนกลหุ่นยนต์ขนาดเล็ก โดย นายจรินทร์ โสภากา นายสุริยา ขนชิด และนายธนภูมิ คำภิมูล ชั้น ปวส. 2/1 แผนกวิชาอิเล็กทรอนิกส์ วิทยาลัยเทคนิคอุดรธานี เล่าถึงผลงานนี้ว่า เพื่อพัฒนาผลการศึกษาการขับเคลื่อนแขนกลหุ่นยนต์จากการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์จำลองการทำงาน มาเป็นโครงสร้างแขนกลของจริงขนาดเล็ก โดยผลงานนี้ทำให้ได้ฝึกการใช้วัสดุวิศวกรรมหลายชิ้น เช่น เซอร์โวมอเตอร์ บอร์ด Kid Bright หรือบอร์ด Arduino ตลับลูกปืน เป็นต้น โดยแขนกลหุ่นยนต์สามารถขับเคลื่อนได้ ควบคุมด้วยรีโมทคอนโทรลแบบมีสาย และจะพัฒนาเป็นระบบไร้สาย และแบบโปรแกรมต่อไป
22 กันยายน 2563