GIT และ มศว ร่วมพิธีลงนามความร่วมมือทางวิชาการ พร้อมเตรียมจัดประชุม Entrepreneurial Conference on Innovation for Smart Jewelry หนุนผู้ประกอบการเพิ่มศักยภาพด้วยเทคโนโลยีสมาร์ทจิวเวลรี่

      สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) และ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (Memorandums of Understanding) ความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก เพื่อช่วยยกระดับและพัฒนาบุคลากรในด้านระบบการศึกษา การเรียนการสอน การวิจัย และการบริการวิชาการ พร้อมเป็นแนวทางในการพัฒนาขีดความสามารถให้แก่คณาจารย์ บุคลากร และนิสิต-นักศึกษาเพื่อสามารถนำไปปฏิบัติงานได้จริง รวมถึงสร้างความเข้มแข็งในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยให้เป็นระบบสากล โดยเตรียมจัดกิจกรรมแรกหลังร่วมลงนามอย่างเป็นทางการ คือ การจัดประชุมวิชาการ Entrepreneurial Conference on Innovation for Smart Jewelry หรือ ECI for Smart Jewelry ระหว่างวันที่ 3-4 พฤศจิกายน 2563

     นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค ประธานกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เผยว่า “สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้เป็นการทำงานร่วมกันของหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับตลาดจิวเวลรี่ไทย โดยทาง GIT ในฐานะตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐได้ให้การสนับสนุนหลักในด้านงบประมาณเพื่อการดำเนินโครงการ พร้อมทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงเครือข่ายอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ เพื่อขยายต่อผลงานวิจัยในระดับสถาบันการศึกษาไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ในระดับประเทศและนานาชาติ โดยวางรูปแบบการทำงานร่วมกันในหลายภาคส่วน เพื่อช่วยกระตุ้นตลาด สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ ส่งเสริมการขาย การจ้างงาน และอื่น ๆ เนื่องจากเรามองว่าอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทย ถือเป็นหนึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่นำรายได้เข้าประเทศเป็นจำนวนมากในแต่ละปี” 

“นอกจากนี้ ยังเป็นการร่วมมือกันพัฒนาบุคลากรในด้านระบบการศึกษา การเรียนการสอน การวิจัย และการบริการวิชาการของไทยให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ได้ประโยชน์จากองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีอัญมณีและเครื่องประดับที่ช่วยในการพัฒนาและต่อยอดแนวความคิดสู่การปฏิบัติจริงอีกด้วย” 
โดยมีขอบเขตของความร่วมมือ ดังนี้
1.  การแลกเปลี่ยนบุคลากรเพื่อให้มีการพัฒนาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านอัญมณีและเครื่องประดับ เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งของฐานความรู้ระหว่าง สวอ. กับ มศว 
2.  การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาการเกี่ยวกับอัญมณีและเครื่องประดับระบบมาตรฐานของกระบวนการทำงานเพื่อการพัฒนายกระดับสู่องค์กรสากล ซึ่งกิจกรรมแรกที่จะเกิดขึ้นเป็นการจัดประชุมทางวิชาการ ECI for Smart Jewelry
3.  การฝึกประสบการณ์เพื่อพัฒนาประสบการณ์ทางวิชาการและทักษะการทำงานให้แก่นิสิต นักศึกษา ในกิจกรรม อาทิ ฝึกงาน สหกิจศึกษา เป็นต้น
4.  การร่วมมือทำงานวิจัยและการใช้ทรัพยากรในการวิจัยร่วมกัน เพื่อสร้างโจทย์นวัตกรรม และการนำงานนวัตกรรมไปใช้ให้เกิดประโยชน์ระหว่าง สวอ. กับ มศว และความร่วมมืออื่น ๆ ในอนาคต เพื่อส่งผลต่อภาพลักษณ์ที่ดีของสองสถาบัน และส่งเสริมความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมอัญมณี

รองศาสตราจารย์ ดร.สมชาย สันติวัฒนกุล รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวถึงความพร้อมของการจัดประชุมเชิงวิชาการฯ ในครั้งนี้ว่า “ในฐานะที่ มศว เป็นผู้นำในการจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรอัญมณีและเครื่องประดับที่ได้รับการยอมรับในวงกว้าง เราพร้อมประกาศจุดยืนในเรื่องงานวิจัยเกี่ยวกับสมาร์ทจิวเวลรี่ โดยได้เตรียมความพร้อมในการกำหนดทิศทางและแนวคิดหลักของการจัดการประชุมเชิงวิชาการ Entrepreneurial Conference on Innovation for Smart Jewelry หรือ ECI for Smart Jewelry ครั้งนี้ รวมถึงระดมผู้ทรงคุณวุฒิด้านจิวเวลรี่จากหลากหลายวงการมาร่วมแสดงความคิดเห็นในด้านต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นให้อุตสาหกรรมอัญมณีไทยเกิดการตื่นตัว ปรับตัว ก้าวตาม และนำเทรนด์สู่โลกอนาคตอย่างยั่งยืน และสอดรับกับกระแสความต้องการของผู้บริโภค”

ปัจจุบันตลาดอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของประเทศไทยที่มีรากฐานจากธุรกิจแบบ OEM ต่างได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว จึงมีการปรับเปลี่ยนทิศทางและรูปแบบธุรกิจเพื่อให้เอื้อต่อสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการ ผ่านการทำสินค้าที่มีลักษณะการใช้งานแบบ Functional Jewelry ที่มีความจำเป็นต่อการใช้ชีวิตในยุคนิวนอร์มอลเพื่อสนองต่อผู้บริโภค มากไปกว่าการสวมใส่เพื่อความสวยงามหรือแสดงสถานะของผู้สวมใส่เพียงอย่างเดียว 

สำหรับการจัดการประชุมเชิงวิชาการ Entrepreneurial Conference on Innovation for Smart Jewelry หรือ ECI for Smart Jewelry เป็นความร่วมมือระหว่างกลุ่มธุรกิจอัญมณีและกลุ่มธุรกิจอิเลคทรอนิกส์ ร่วมด้วย สวอ. มศว และภาคเอกชน เพื่อช่วยในการพัฒนาขีดความสามารถและศักยภาพ ผ่านการเชื่อมต่อระหว่างอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมเข้าด้วยกัน การคิดค้นวิจัยนวัตกรรมแนวทางใหม่ ซึ่งจะเกิดเป็นแนวคิดและผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เพิ่มมูลค่าได้เป็นอย่างมาก สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดในยุคดิจิตัล 4.0 และส่งผลทางมูลค่าเศรษฐกิจให้กับประเทศในระยะยาว ผ่านกิจกรรมการเสวนาโดยผู้เชี่ยวชาญชื่อดังด้านต่าง ๆ จากหลากหลายประเทศ ที่จะมาร่วมระดมความคิด ต่อยอดความรู้เพื่อสร้างการรับรู้แขนงใหม่ในวงการอัญมณีไทยให้มีรูปแบบต่างจากเดิม พร้อมมีผลการวิจัยใหม่ๆ ของสมาร์ทจิวเวลรี่ มาจัดแสดงให้ได้ชมอย่างใกล้ชิด โดยมีกำหนดจัดงานในระหว่างวันที่ 3-4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 นี้ 

สำหรับผู้ประกอบการด้านอัญมณีและเครื่องประดับ หรือผู้ที่สนใจ สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมประชุมเชิงวิชาการฯนี้ได้ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ทางอีเมล contact.kithai@gmail.com หรือลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรมได้ทาง https://docs.google.com/forms/d/11Aqe0AY7t9mxWVToX9tUK44JPlUWeSaH2KMWnGP0IJg/edit 

30 กันยายน 2563


บริษัท มีเดีย เน็ทเวิร์ค จำกัด
138, 140 ซอยอนามัย ถนนศรีนครินทร์ แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ 10250
MEDIA NETWORK Co.,Ltd
138, 140 Soi Anamai Srinakarin Road Suanluang Suanluang Bangkok 10250
Tel. 02 721 4417 Fax. 02 721 5516
E-mail : phototechthailand@gmail.com


ติดต่อโฆษณาหรือข้อมูลเพิ่มเติม
โทร. 02 721 4417 , 097 921 2929 คุณขวัญ

แฟนเพจ Phototech Magazine


ออกแบบโดย touronthai