วัดถ้าเสือ จังหวัดกระบี่
วัดถ้ำเสือ
ในปี พ.ศ. 2518 หลวงพ่อจำเนียรมีความประสงค์จะหาสถานที่ปฏิบัติธรรมใหม่ ก็เกิดนิมิตในมโนภาพว่าเป็นสถานที่มีภูเขาล้อมรอบ และถ้ำชื่อ “ถ้ำเสือ” ตลอดถึงถ้ำต่างๆ หลายถ้ำ และอยู่ในเขตจังหวัดกระบี่ด้วย ทันทีที่เกิดนิมิตเห็นก็เกิดความรู้สึกนึกรักสถานที่นั้นขึ้นมาจับใจ เหมือนรู้สึกคุ้นเคยกับสถานที่นี้มาก่อน หลวงพ่อได้ให้พระอาจารย์หีด ไปเสาะแสวงหาสถานที่จะตั้งสำนัก จนในที่สุดพระอาจารย์หีดได้พบสถานที่หลายๆแห่งรวมถึงถ้ำเสือด้วย
หลวงพ่อได้มีโอกาสไปดูสถานที่ถ้ำตามที่พระอาจารย์หีดบอก ก็ตรงกับนิมิตที่หลวงพ่อเห็นจริงๆ หลวงพ่อจำเนียร ได้นำคณะพระภิกษุ สามเณร 53 แม่ชี 56ท่าน จากวัดสุคนธาวาส มาอยู่ ณ สถานที่แห่งนี้อันมีนามว่าถ้ำเสือ หรือในอดีตวัดมี ชื่อว่า “สำนักสงฆ์หน้าชิง” ตามชื่อหมู่บ้าน เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2518
และได้เปลี่ยนเป็น “วัดถ้ำเสือ” เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2533 มาบุกเบิกเปิดเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมวิปัสสนากรรมฐานจนถึงปัจจุบัน ที่ได้ชื่อว่า วัดถ้ำเสือนั้น จากการสอบถามชาวบ้านได้ความว่า ในอดีตเคยมีเสือโคร่งจำนวนมากอาศัยอยู่บริเวณของถ้ำที่ตั้งอยู่หน้าเขาแก้ว ภายในถ้ำยังปรากฏหินธรรมชาติเป็นรูปแบบอุ้งเท้าเสืออีกด้วย
วัดแห่งนี้เป็นที่รู้จักกันดีในจังหวัดกระบี่และจังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งชาวต่างประเทศ ทั้งความโดดเด่นของวัดและชื่อเสียงของ “หลวงพ่อจำเนียร” ประธานสงฆ์วัดถ้ำเสือที่มีผู้เลื่อมใสศรัทธามาช้านาน สภาพโดยทั่วไปของ วัดถ้ำเสือมีลักษณะ เป็นสวนป่า เป็นโพรงถ้ำ มีเพิงผาและแหล่งถ้ำธรรมชาติ เช่น ถ้ำคนธรรพ์ ถ้ำลอด ถ้ำช้างแก้ว ถ้ำลูกธนู ถ้ำงู ถ้ำเต่า ถ้ำมือเสือ สิ่งสำคัญใน “วัดถ้ำเสือ” นั้นที่ดูเหมือนจะโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์มากที่สุดและ เป็นที่นิยมชื่นชอบของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ
วัดถ้ำเสือ อยู่ห่างจากตัวเมืองกระบี่ประมาณ 9 กิโลเมตร ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ บ้านถ้ำเสือ ตำบลกระบี่น้อย อ.เมือง จ.กระบี่ พื้นที่บริเวณวัดประมาณ 200 ไร่ ประกอบไปด้วยพื้นที่ราบ หุบเขาและยอดเขา
การเดินทาง จากตัวเมืองกระบี่ เลี้ยวซ้ายที่สี่แยกตลาดเก่า ใช้เส้นทางถนนเพชรเกษม (ทางหลวงหมายเลข 4) เส้นทางอำเภอเหนือคลอง เลี้ยวซ้ายที่สามแยกถ้ำเสือไปตามถนนราษฎรพัฒนา (ทางหลวงหมายเลข 4037) ไปประมาณ 2 กิโลเมตร จะมีป้ายบอกทางอย่างชัดเจน
23 ตุลาคม 2563