สกสว. จับมือภาคีวิจัยประชุมเข้ม จัดลำดับความสำคัญงานวิจัยแก้ปัญหาโควิด–19 ปีงบ’64

สกสว.  พร้อมด้วย ภาคีวิจัยร่วมกันหารือจัดลำดับความสำคัญงานวิจัยแก้โควิด – 19  ปีงบประมาณ 2564 เฟ้นหาโจทย์จำเป็น เน้นการแก้ปัญหาทั้งในเชิงการแพทย์ พร้อมเชิงเศรษฐกิจและสังคมอย่างสมดุล

เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2563 ศ.นพ. สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานกรรมการคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) เปิดการประชุม “การจัดสรรงบประมาณพร้อมรับมือโควิด – 19”  ณ โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพฯ โดย  รศ.ดร ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. เปิดเผยข้อมูลว่า การประชุมครั้งนี้มีขึ้นเพื่อระดมสมอง แนวทางการจัดลำดับการจัดสรรงบวิจัยรับมือโควิด – 19  ที่มีการวางกรอบงบประมาณวิจัยไว้ 1,200 ล้านบาท   ซึ่งสืบเนื่องจากการจัดสรรงบประมาณไปแล้วจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.)  ภายใต้การดูแลของ สกสว. ในช่วงปี 2563 ตลอดจนเป็นพื้นที่ของการออกแบบการทำงานร่วมกันสำหรับงบประมาณวิจัยปี 2564 – 2565

โอกาสนี้ ศ.นพ. สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ  ได้กล่าวถึงความจำเป็นที่ประเทศต้องมีนโยบายการลงทุน ววน. ด้านการแพทย์ ว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์โควิด – 19 สังคมรับทราบว่าประเทศไทยรับมือได้ดี มีจำนวนผู้ป่วยน้อย มีอุปกรณ์การแพทย์ที่พอเพียง พร้อมทั้งมีแผนรองรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นอีก ซึ่งเกิดจากความร่วมมือกันระหว่างหลายภาคส่วนเพื่อแก้ปัญหาทั้งเชิงสุขภาพและเศรษฐกิจ จากสถานการณ์โควิด – 19 ทำให้เห็นความจำเป็นของการที่ประเทศไทยต้องลงทุนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมด้านการแพทย์ ทั้งหมดด้วย  โดยควรเป็นการวิจัยที่แก้ปัญหาทั้งทางต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวัคซีน การแพยท์ทางไกล ระบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (E – Health) ซึ่งต้องทำเชื่อมโยงร่วมกันทั้งหมด  เครื่องมือแพทย์ อุตสาหกรรมการแพทย์ การประกันอุปกรณ์การแพทย์ สมุนไพร ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานทางการแพทย์ จีโนมิกส์ (การวิจัยด้านกลุ่มยีน หรือพันธุกรรมของเซลล์สิ่งมีชีวิต) เป็นต้น

ด้าน ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง  รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)  รักษาราชการแทน ผอ.วช. ได้นำเสนอ  ผลงานจากการสนับสนุนงบประมาณ ววน. สำหรับโรคโควิด – 19 ในปีงบ 2563 ผ่านมาว่า  วช. สนับสนุนทุนวิจัยทั้งในเรื่องชุดตรวจโควิด หน้ากากผ้าและหน้ากากอนามัย การคิดค้นวัคซีน การเยียวยาและลดผลกระทบ   การวิจัยด้านเวชภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการรักษา การวิจัยเชิงเศรษฐกิจและสังคม การกำจัดเชื้อในอุปกรณ์เวชภัณฑ์ต่างๆ โดยมีการจัดเวทีระดมสมองจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง (Stakeholders) เพื่อให้ได้แผนงานวิจัย โจทย์วิจัยที่จำเป็นกับสถานการณ์จริง ภายใต้งบประมาณกว่า 360 ล้านบาท โดยสัดส่วนของงบประมาณอยู่ที่เรื่องวัคซีนมากที่สุด ซึ่งสอดคล้องกับกรอบวิจัยขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ออกแบบไว้ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน วช. ยังคงติดตามสถานการณ์การทำงานของหน่วยงานภาครัฐถึงการออกแบบมาตรการต่างๆ เพื่อให้เกิดการสนับสนุนการวิจัย ให้ได้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายที่สำคัญของประเทศต่อไป

ต่อมาในที่ประชุม นำโดย นายแพทย์สุวิทย์  วิบุลผลประเสริฐ  ที่ปรึกษาสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข ด้านการต่างประเทศ   เป็นประธานหารือ ร่วมกับ สกสว.  สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) หน่วยงานภาคีวิจัยอย่าง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)   หน่วยบริหารจัดการทุนวิจัย (พีเอ็มยู) มหาวิทยาลัยต่างๆ ตลอดจน กองยุทธศาสตร์และแผนงาน – กระทรวงสาธารณสุข (กยผ.) สถาบันวัคซีนแห่งชาติ (สวช.) และ ธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อจัดลำดับความสำคัญของการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อการจัดสรรงบประมาณรับมือโควิด – 19 โดยเบื้องต้นที่ประชุมเสนอประเด็นวิจัยเร่งด่วนของประเทศ ทั้งในประเด็น การวิจัยเตรียมพร้อมกรณีเกิดโรคระบาดเร่งด่วนในอนาคตอีก จริยธรรม (สิทธิการได้รับวีคซีนก่อนหลัง) วัคซีนที่ดีที่สุดควรมีประสิทธิภาพอย่างไร ประเทศไทยควรลงทุนทำวัคซีนเพื่อรองรับการรักษาและนำไปสู่การขายเชิงพาณิชย์ การพัฒนาทุนมนุษย์ด้านการวิจัยทางการแพทย์ โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ของศูนย์สัตว์ทดลองการลงทุนในห้องปฏิบัติการ (Laboratory) เวชภัณฑ์เพื่อการวินิจฉัยและการรักษา  เป็นต้น อย่างไรก็ตามข้อสรุปสำคัญจากการประชุมนี้ จะนำไปสู่กระบวนการต่อไปของการจัดลำดับความสำคัญของงานวิจัยโควิด – 19 และการออกแบบแผนวิจัยต่อไป

25 พฤศจิกายน 2563


บริษัท มีเดีย เน็ทเวิร์ค จำกัด
138, 140 ซอยอนามัย ถนนศรีนครินทร์ แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ 10250
MEDIA NETWORK Co.,Ltd
138, 140 Soi Anamai Srinakarin Road Suanluang Suanluang Bangkok 10250
Tel. 02 721 4417 Fax. 02 721 5516
E-mail : phototechthailand@gmail.com


ติดต่อโฆษณาหรือข้อมูลเพิ่มเติม
โทร. 02 721 4417 , 097 921 2929 คุณขวัญ

แฟนเพจ Phototech Magazine


ออกแบบโดย touronthai