‘ใครว่า SANDBOX มีแต่ในซีรี่ย์เกาหลี ม.เทคโนโลยีสุรนารีจับมือ TCELS ปล่อยของบนเวทีอินเตอร์ ส่งนักวิทยาศาสตร์ไทย สู่สมรภูมิ START UP!’
ซีรี่ย์ที่ปลุกไฟฝัน สร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ ช่วงนี้คงหนีไม่พ้น เรื่อง START-UP ซึ่งรู้หรือไม่ว่าในประเทศไทยเองก็มีสถานที่ ที่เหมือน SANDBOX, แหล่งบ่มเพาะคนรุ่นใหม่ที่คนมีความสามารถมากมาย ได้อวดศักยภาพ และพิเศษกว่านั้นคือ นวัตกรรมที่ถูกพัฒนาขึ้นไม่ได้เฉพาะด้าน IT เท่านั้น แต่คือการผสมผสานองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ ที่นำเอาเทคโนโลยี ผสานเคมี ฟิสิกส์ ชีวะ เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ สุขภาพ ที่ในอนาคตจะไม่ใช่แค่พัฒนาคุณภาพชีวิตแต่ว่าจะกลายเป็นไลฟ์สไตล์!
…และที่นั่นคือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี!
ใครที่ชมเรื่อง START-UP แล้วคงเห็นความพยายามของทีมพระเอกนักพัฒนาซอฟต์แวร์อนาคตไกล ที่ก่อตั้งบริษัทมาแล้วถึง 2 ปี แต่ก็ไปไม่ถึงไหน พยายามสร้างชื่อด้วยการส่งผลงานจนชนะเลิศระดับโลก แต่เมื่อต้องนำเสนองานกับนักลงทุนก็กลับไม่ประสบความสำเร็จ สิ่งที่ทีมถนัดคือการเป็นนักประดิษฐ์ แต่ไม่ถนัดด้านการสื่อสาร และทางออกคือพวกเขาต้องหา คนตรงกลาง หรือ นักบริหาร (CEO) ที่จะเป็นคนพาข้อมูลอรรถประโยชน์ของนวัตกรรม มาสื่อสารให้นักลงทุนเข้าใจ การมี Mentor ที่อ่านเกมส์ขาด คอยปลุกปั้นทีม Start up ให้ผ่านในแต่ละด่านได้ และนี่คือสิ่งที่เรามองเห็นใน นโยบาย “SUT Re-profile 2020” ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เพื่อให้มหาวิทยาลัยสามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในยุค Disruptive Technology และพร้อมก้าวสู่การเป็น “มหาวิทยาลัยแห่งการประกอบการ” ที่แท้จริง
ผู้เปิดสนามเด็กเล่น : ‘เตรียมกระบะทราย และให้โอกาส’
รองศาสตราจารย์ ดร.อนันต์ ทองระอา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรม และพัฒนาเทคโนโลยี มหาวิทยาลัย สุนารี กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) เป็นมหาวิทยาลัยเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยการนำของท่านอธิการบดี รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ เราได้กำหนดยุทธศาสตร์และวางนโยบายที่ชัดเจน ภายใต้นโยบาย “SUT Re-profile 2020” ในการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ดีที่สุดของประเทศ และเป็นมหาวิทยาลัยใน 200 อันดับแรกของภูมิภาคเอเชีย ท่านอธิการบดีมีเป้าหมายที่จะขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยไปสู่การเป็น Social Enterprise (SE) หมายถึง การเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน และเป็นที่พึ่งของสังคม
มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญในเรื่อง การบริหารจัดการนวัตกรรม (Innovation management) มีหน่วยงานภายในชื่อ เทคโนธานี (Technopolis) ทำหน้าที่ในการบริหารจัดการนวัตกรรมจากงานวิจัยของคณาจารย์และนักวิจัย ในมหาวิทยาลัย ไปสู่การปรับแปลง ถ่ายทอด และพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อช่วยขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในประเทศ ในส่วนของการบ่มเพาะนักศึกษาให้มีความเป็นผู้ประกอบการนั้น มหาวิทยาลัยได้จัดตั้งสถานพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการสำหรับนักศึกษา (Student Entrepreneurship Development Academy, SEDA) ทำหน้าที่ส่งเสริมและพัฒนาทักษะความเป็นผู้ประกอบการให้กับนักศึกษา เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้กระบวนการคิดในการสร้างธุรกิจฐานนวัตกรรมใหม่ ๆ โดยในช่วงระยะเวลา 3-4 ปีที่ผ่านมา SEDA ได้ร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และหน่วยงานต่าง ๆ ดำเนินโครงการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมเกิดใหม่ที่มีการเติบโตสูง โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการจัดการเรียนการสอน และการดำเนินกิจกรรมเสริมหลักสูตรในการพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการอย่างเข้มข้น รวมถึง การพัฒนาศักยภาพอาจารย์และพี่เลี้ยงในการพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการ
มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญในเรื่องการสร้าง Venture Ecosystem, Industrial Collaboration, Talents (คณาจารย์ นักวิจัย และนักศึกษา) ที่มี mindset ในเรื่อง Entrepreneurship, การสร้าง Startups/Spin-offs และการสร้างผู้ประกอบการ (Entrepreneurs) ตัวอย่าง Startup จากแนวคิดของนักศึกษา อาทิ นวัตกรรมวัสดุผสม (Composite Material) จากพลาสติกรีไซเคิลและขยะจากอุตสาหกรรมเกษตร เป็นผลงานของนักศึกษาปริญญาตรี สาขาวิชาวิศวกรรมพอลิเมอร์ สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ ได้รับรางวัลผลงานนวัตกรรมยอดเยี่ยม Blue Ribbon ในงาน Shenzhen Maker Faire 2019 ประเทศจีน ตัวอย่าง Spin-off ที่ใช้ผลงานวิจัยและพัฒนาของมหาวิทยาลัย เช่น เทคโนโลยีการทำความเย็นแบบยิ่งยวด (Thermoelectric) เพื่อฟื้นฟูการบาดเจ็บหลังจากการผ่าตัด เป็นผลงานของศูนย์ความเป็นเลิศด้านวัสดุหน้าที่พิเศษขั้นสูง ร่วมกับ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีวกลศาสตร์ทางการแพทย์ ได้รับทุนสำหรับพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อออกสู่ตลาด กองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม อว. (TED Fund)”
พาร์ทเนอร์ที่อ่านเกมส์ขาด : ‘เปิดประตูห้องแล็บ สู่สาธารณะ พาผลงานสู่ระดับอินเตอร์’
ทีเซลส์ (TCELS : Thailand Centre of Excellence for Life Sciences) หรือชื่อไทยว่า ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) คือ 1 ในผู้เปิดเวทีให้กลุ่มสตาร์ทอัพด้าน Bio Sience ได้รู้จักกัน สร้างเครือข่าย และนำเสนอผลงานสู่สารธารณะ จนถึงต่างประเทศ ดร.ศิรศักดิ์ เทพาคำ ผู้อำนวยการศูนย์ความเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ กล่าวว่า “บทบาทหน้าที่หลักของ TCELS คือพัฒนาธุรกิจไลฟ์สไตล์ ให้ครอบคลุมตั้งแต่อินฟราสตรัคเจอร์ การอบรม การทำให้เกิดธุรกิจ การเชื่อมโยงเครือข่าย การสร้างให้เกิดการลงทุนด้านไลฟ์สไตล์ ตอบโจทย์การนำงานวิจัยจากห้องแล็บ
มาสู่โลกภายนอก
การสร้างพื้นที่ให้กลุ่มสตาร์ทอัพด้าน Bio Sciences เราเริ่มตั้งแต่พาเขาไปดูงานที่เมืองนอก จนเกิดไอเดียและความคิดสร้างสรรค์ บางคนได้คอนเน็คชั่น ได้พาร์ทเนอร์ นำมาต่อยอดให้กับงานตัวเอง สิ่งที่เป็น indicator บอกว่าอุตสาหกรรมเข้มแข็งหรือไม่ คือการจัด Exhibition รวบรวม Stakeholder มาให้ได้บ่อยและสม่ำเสมอ เพราะนั่นหมายถึงอุตสาหกรรมเราเข้มแข็งพร้อมต่อการเติบโต และด้วยนโยบายของรัฐที่ให้เพิ่มขีดความสามาถในการแข่งขัน ส่วนหนึ่งถ้าเราจะแข่งขันได้เราต้องไปตลาดโลกได้ด้วย ทางTCELS ก็จะพาผู้ประกอบการ หน่วยงานไปออกงานในต่างประเทศ ให้เขารู้สึกว่าเขาหา partner หา Collaborator ได้ และเราเองก็มีการเพิ่มโอกาสโดยการดึงนักลงทุนเข้ามา เช่น งาน Bio Asia Pacific2020 ที่เพิ่งจบไป ในหัวข้อ Virtual Conference 47 หัวข้อ มีผู้เข้าร่วมออนไลน์ 545 คน เกิดความร่วมมือในการพัฒนาเมืองการแพทย์อมตะเมดิทาวน์ การตั้ง Thailand Life Sciences Cluster (TLSC) ซึ่งเป็น Life Sciences Cluster แรกของประเทศ และคาดว่าจะมีการต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการไม่น้อยกว่า 5 ผลิตภัณฑ์และบริการ คาดว่า
จะสร้างงาน สร้างอาชีพและเม็ดเงินที่เกิดจากการลงทุนมากกว่า 1,500 ล้านบาท”
START UP หน้าใหม่ : หา Pain point ของ Customer เพื่อดูว่าเราจะช่วยเขาได้อย่างไร
“ในการที่จะทำงานวิจัยหรือนวัตกรรมใด เราต้องศึกษาว่าผู้บริโภคมีปัญหาอะไร และเราจะเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาเขาอย่างไร” ศิริเพ็ญ รัตนสมบูรณ์ชัย หนึ่งในทีมวิจัยอุปกรณ์วัดระดับน้ำตาลในเลือดจากลมหายใจ เพื่อผู้ป่วยโรคเบาหวาน ในชื่อ DM Sense เล่าถึงที่มา “เริ่มแรกจากงานวิจัยหลักสูตรปริญญาโท นวัตกรรมชีวการแพทย์ จะได้เรียนทั้งด้านวิศวะ การแพทย์ และการเป็นผู้ประกอบการ เรามองว่างานวิจัยนี้น่านำไปต่อยอด รวมถึงการได้ไปศึกษา pain point ของผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ต้องเจาะเลือดที่ปลายนิ้วทุกวัน วันละหลายครั้ง ซึ่งการเจาะเลือดทุกวันทำให้มีแผลที่นิ้ว และผู้ป่วยเบาหวานก็เป็นแผลหายยาก จึงมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ จึงคิดว่าน่าจะมีวิธีอื่นไหมที่ตรวจโรคเบาหวาน
ได้โดยไม่ต้องเจาะเลือด ทางทีมสนใจการตรวจจากลมหายใจ
DM Sense วัดจากอะซีโตนที่ออกมาจากลมหายใจอีกทีนึง ซึ่งค่าอะซีโตนมีความสัมพันธ์กับค่าน้ำตาลในเลือด คือ ค่าน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้น ค่าอะซีโตนในลมหายใจก็เพิ่มขึ้น การพัฒนานี้เรามองไปที่ Home Use เพื่อผู้ป่วยเบาหวานไว้ใช้ตามบ้านได้เลย ซึ่งคาดว่าจะนำมาใช้ได้อีกภายใน 1-2 ปี ภายหลังจากได้รับการรับรองมาตรฐานแล้ว”
นักพัฒนา : ความสร้างสรรค์และนวัตกรรม คือการผสมผสานชิ้นงานวิทยาศาสตร์ให้จับต้องได้ และเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ของโลกอนาคต
ระบบการถ่ายภาพจอประสาทตา ด้วยเทคโนโลยี OCT 3D Retinal Scan :
การป้องกันย่อมดีกว่าการรักษา เราป้องกันได้ตั้งแต่ Early Stage
“รู้ไหมครับว่า โรคเกี่ยวกับตานี่ต้องรอให้เป็นก่อนถึงจะเริ่มกระบวนการรักษา”รศ.ดร.พนมศักดิ์ มีมนต์ อาจารย์ที่ปรึกษา งานวิจัยระบบการถ่ายภาพจอประสาทตา (non invasive 3 d retina scanner) บอกเล่าถึงที่มาของนวัตกรรมชิ้นนี้ “ในประเทศไทยยังต้องนำเข้าเครื่องนี้ ตกเครื่องละ 3-4 ล้านบาท จึงมีแค่ตามโรงพยาบาลใหญ่ๆ ประชาชนทั่วไปเข้าถึงได้ยาก ส่วนใหญ่จึงต้องรอจนกว่าโรคทางตาจะแสดงอาการเพื่อให้การวินิจฉัยแม่นยำแล้วจึงค่อยเริ่มกระบวนการรักษา” ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อเข้าสู่กระบวนการรักษา ค่ายา ค่าเข็มก็เริ่มต้นที่หลักพันถึงหลักหมื่น
“เครื่องตรวจวัดสายตาแบบ 3D นี้ ใช้ระบบเทคโนโลยี OCT ใช้เลเซอร์ในช่วงอินฟาเรดช่วง 800 นาโนเมตร
โดยจะมีความละเอียดสูงกว่าระบบอัลตราซาวด์ประมาณ 10,000 เท่า และสามารถถ่ายภาพลงได้ลึกประมาณ 2-5 มิลลิเมตร ไม่ทำลายเนื้อเยื่อเซลล์สิ่งมีชีวิตจึงมีความปลอดภัยสูง จากนั้นจะทำการแปลงสัญญาณที่สะท้อนกลับจากจอประสาทตาออกมาแปลงเป็นสัญญาณภาพออกมา ประโยชน์ของเครื่องนี้คือการดูอะไรก็ตามที่มีขนาดเล็กและมีความลึกด้วย นั่นก็คือจอประสาทตาของคนเรา ซึ่งระบบเดิมการดูจอประสาทตาจะสามารถดูได้แค่พื้นผิวเท่านั้น
ระบบเทคโนโลยี OCT นี้ทำให้เราเห็นใต้จอประสาทตาลงไป เมื่อมีอะไรก็ตามที่ผิดปกติ ตั้งแต่ในระดับไมครอนเราจะเจอก่อนและบอกได้ว่าเราต้องรักษาแล้ว เป็นการตรวจตั้งแต่ Early Stage เห็นความผิดปกติตั้งแต่ระยะแรก ผู้ป่วย
ก็รักษาได้ไว
โรคเกี่ยวกับดวงตาไม่เหมือนโรคทั่วไปที่เมื่อรักษาจะมีการสร้างเซลล์ใหม่ทดแทน แต่ดวงตาเมื่อเป็นแล้วรักษาไม่ได้ทำได้แค่การยับยั้งและหยุดความผิดปกติ ดังนั้นถ้าเราตรวจพบตั้งแต่แรกๆ ก็จะทำให้ผู้ป่วยลดความเสี่ยงที่จะเป็นเกี่ยวกับโรคจอประสาทตา อาทิ โรคต้อหิน รวมไปถึงโรคความดันตา โรคเบาหวาน และโรคอื่นๆ ที่เกี่ยวกับจอประสาทตาด้วย สำหรับเครื่องนี้ยังอยู่ในช่วงการทดลองในห้องแล็บ ทางทีมได้มีการนำระบบ AI เข้ามาช่วยวิเคราะห์ผล คาดว่าน่าจะเริ่มได้ใช้อีกประมาณ 2 ปี”
Electrospinning & 3D Printing Technology :
ความสำเร็จของเราคือการขึ้นรูปเส้นใยขขนาดเล็กระดับนาโนให้ออกมาเป็นรูปทรง 3 มิติ
นั่นหมายถึง ‘ความฝันในการสร้างอวัยวะเทียมอยู่อีกไม่ไกล’
“ความฝันของผมเลยนะ อีก 3-5 ปี เราอาจจะทำอวัยวะเทียมอย่าง กระเพาะปัสสาวะ ปอด หลอดเลือด และหัวใจ ได้จากเครื่องนี้” ดร.วิวัฒน์ นวลสิงห์ นักวิจัยและอาจารย์ที่ปรึกษา การพัฒนาเครื่อง Electrospinning & 3D Printing Technology เล่าถึงความมุ่งมั่นในการต่อยอดนวัตกรรมสู่อนาคต “เครื่องนี้สามารถขึ้นรูปวัสดุให้อยู่ในรูปแบบ 3 มิติ จากไฟล์ 3 มิติ แบบดิจิทัลที่ใช้คอมพิวเตอร์สร้างขึ้น เส้นใยนาโน คือ เส้นใยที่มีขนาดเล็กมาก เล็กกว่าเส้นผมของเราประมาณ 100-1000 เท่า แต่เราสามารถควบคุมเส้นใยนาโนให้ก่อตัวขึ้นเป็นรูปร่างตามที่เราออกแบบเป็น 3 มิติ
เราได้ทำงานร่วมกับอาจารย์และนักวิจัยด้านไบโอเทค เพื่อทดลองใช้วัสดุจากธรรมชาติ เช่น การนำเซลลูโลสจากชานอ้อยที่มีทั้งขนาดเล็กในระดับไมโครเมตรและนาโนเมตร มาผสมกับพอลิเมอร์ชีวภาพชนิดต่าง ๆ เพื่อพัฒนาวัสดุให้มีสมบัติความเข้ากันได้กับร่างกายมนุษย์ สมบัติเชิงกลที่เหมาะสมกับการใช้งาน และจนกระทั่งสามารถขึ้นรูปออกมาเป็นโครงสร้างจากเส้นใยนาโนได้ จากนั้นเราจะนำโครงสร้างแบบ 3 มิติ มาทดสอบกับเซลล์ว่ามีสมบัติอย่างไรบ้าง
นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือกับนักวิจัย อาจารย์ในสาขาวิชาอื่น ๆ ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เพื่อนำผลที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในทางการแพทย์จริง ตัวอย่างเช่น การสร้างเนื้อเยื่อเทียมให้กับผู้ประสบอุบัติเหตุไฟไหม้ผิวหนังถูกทำลายในชั้นลึกมาก ๆ บางวิธีรักษาต้องใช้ผิวหนังส่วนอื่นในร่างกายมาแปะทดแทน แต่เนื่องจากเราทำโครงสร้างสำเร็จรูป 3 มิติ ได้จากเครื่องที่เราพัฒนาขึ้นและเมื่อผ่านการเลี้ยงเซลล์ เราก็สามารถนำไปปลูกถ่ายใช้กับผู้ป่วยได้ สิ่งนี้เป็นตัวอย่างการนำไปใช้ในขั้นแรก ซึ่งขณะนี้สำเร็จในระดับห้องปฏิบัติการ ยังขาดในเรื่องของการควบคุมด้านมาตรฐานการผลิต GMP เพื่อให้ได้รับการอนุมัติและนำไปใช้ในโรงพยาบาลได้
อย่างการทำเนื้อเยื่อ 3 มิติ ให้ลองนึกถึงแผลกดทับที่ต้องคว้านเนื้อออกและมีช่องว่างอยู่ เราจึงจำเป็นต้องใช้วัสดุที่เป็น 3 มิติ เพื่อให้เข้ากับการใช้งานได้จริงมากขึ้น หรืออีกงานวิจัยที่วางแผนไว้ คือ การผลิตวัสดุทดแทนกระดูก เป็นโครงสร้างที่เซลล์กระดูกสามารถเจริญเติบโตได้ โดยการขึ้นรูปโครงสร้างขึ้นมาให้ใกล้เคียงกับกระดูก และผสมวัสดุหลายๆ ตัว ให้มีสมบัติใกล้เคียงกระดูก โดยมีโครงสร้างรูพรุนสูงจากเส้นใยนาโน
สิ่งที่ทีมวิจัยหวังต่อยอดการพัฒนาต่อไป เราหวังถึงการทำอวัยวะเทียม เพราะปัจจุบันมนุษย์ยังมีปัญหาด้านสุขภาพเจ็บป่วยจำนวนมาก ซึ่งเทคโนโลยี 3D printing เริ่มมีการพัฒนาให้สามารถทำอวัยวะเทียมได้ เช่น ใบหู กระเพาะปัสสาวะ หรืออย่างปัจจุบันนี้กับสถานการณ์ Covid-19 เราพบว่ามีผู้ป่วยโรคโควิดที่รักษาหาย แต่ปอดถูกทำลายไปแล้ว ถ้าเราสามารถทำปอดเทียมเพื่อใส่ทดแทนเข้าไป ก็น่าจะทำให้คุณภาพชีวิตมนุษย์โลกดีขึ้นได้ในอนาคต หรืออย่างหัวใจเทียม ที่ปัจจุบันในต่างประเทศเริ่มมีการทดลองใช้การพิมพ์ 3 มิติแบบชีวภาพ ขึ้นรูปหัวใจเทียมด้วยเซลล์จากมนุษย์ได้ แต่ยังมีขนาดเล็กเท่าหัวใจของกระต่าย ซึ่งเรามองว่าในประเทศไทย ยังต้องใช้เวลาศึกษาพัฒนาต่อในห้องปฏิบัติการอีกขั้นตํ่า 3-5 ปี”
7 ธันวาคม 2563