บริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน โดยใช้คลื่นสนามแม่เหล็กไฟฟ้า QRS PelviCenter (Magnetic Field Therapy)
รพ.กรุงเทพ เพิ่มทางเลือกการบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานโดย เครื่องบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานด้วยคลื่นสนามแม่เหล็กไฟฟ้า QRS PelviCenterช่วยบรรเทาอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่และอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ
ปวดปัสสาวะ กลั้นไม่อยู่ รู้สึกปวดทีไรปัสสาวะก็พาลจะซึมเล็ดออกมาทันที เข้าห้องน้ำแทบไม่ทัน ปัญหานี้อาจไม่ใช่เรื่องที่ถูกนำมาพูดถึงต่อหน้าสาธารณะกันมากนัก เพราะคนที่ประสบปัญหาเหล่านี้บางคนรู้สึกว่าเป็นเรื่องน่าอาย หลายคนกังวลใจจนไม่อยากจะออกนอกบ้าน ปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าไม่เคยได้พูดถึงกันก่อนมากนัก แต่ใน 3-4 ปีนี้ ได้มีผลงานศึกษาวิจัย ที่ได้รับการตีพิมพ์ออกมาว่าเป็นผลดีสำหรับผู้ป่วยกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ศูนย์โรคระบบทางเดินปัสสาวะกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ จึงเพิ่มทางเลือกของการรักษา ด้วยเครื่องบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน โดยใช้คลื่นสนามแม่เหล็กไฟฟ้า QRS PelviCenter (Magnetic Field Therapy)
นพ. ดำรงพันธุ์ วัฒนะโชติ ผู้อำนวยการศูนย์โรคระบบทางเดินปัสสาวะกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวถึง หน้าที่ของกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน คือ หดรัดตัว เมื่อไอ จาม หรือออกแรงเบ่ง ป้องกันไม่ให้เกิดภาวะเล็ดโดยไม่ตั้งใจ ช่วยพยุงอวัยวะในช่องท้องโดยเฉพาะเมื่อคนเราอยู่ในท่ายืน ช่วยปกป้องอวัยวะในอุ้งเชิงกราน ควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะ และการเคลื่อนไหวของลำไส้ รวมถึงมีบทบาทหน้าที่ขณะมีเพศสัมพันธ์ ที่จะต้องแข็งแรงและกำลังที่เพียงพอจึงจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อใดก็ตามที่มีการตั้งครรภ์ คลอดบุตรในคุณผู้หญิง หรือมีภาวะน้ำหนักเกิน อาจส่งผลให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานอ่อนแรงและไม่กระชับเหมือนเดิม
เมื่อใดก็ตามที่กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานอ่อนแรง อาจก่อให้เกิดอาการต่างๆ ได้อาทิ ภาวะอาการกลั้นปัสสาวะไม่ได้ปัสสาวะเล็ดราด ซึ่งเป็นปัญหาที่พบบ่อยในผู้หญิง ไม่ใช่เพียงแค่ผู้สูงอายุเท่านั้น สาเหตุที่ทำให้เกิดการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ได้แก่
1. กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานอ่อนแรง ที่เกิดจากการคลอดบุตร อายุที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงกรรมพันธุ์ที่ส่งผลกระทบได้เช่นกัน
2. กล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะอ่อนแรง ประสาทความความรู้สึกหย่อนลง ไม่คงที่ (unstable) โดยปกติแล้วกระเพาะปัสสาวะของคนเราจะปิดสนิท และจะยังไม่ปัสสาวะจนกว่าจะรู้สึกปวด แต่ในคนที่มีปัญหานี้ แม้จะยังไม่อยากปัสสาวะแต่ก็กลั้นไม่อยู่ ปัสสาวะซึมราดออกมายังไม่ทันถึงประตูห้องน้ำด้วยซ้ำไป (over active bladder) หรือที่เรียกว่า ภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน ก็พบได้ในทุกช่วงอายุเช่นกัน สาเหตุนี้เกิดจากระบบประสาทที่กล้ามเนื้อของกระเพาะปัสสาวะผิดปกติ ทำให้กล้ามเนื้อบีบตัวบ่อยและไวกว่าปกติ ส่งผลให้ปวดปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะตอนกลางคืน หรือรู้สึกปวดปัสสาวะกะทันหัน
3. ความอ้วน น้ำหนักตัวที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการเพิ่มแรงบีบต่อกระเพาะปัสสาวะที่มากขึ้น
4. พฤติกรรมต่างๆในการดำเนินชีวิต การรับประทานอาหาร อาหารที่ส่งผลต่อกระเพาะปัสสาวะ เช่น เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ช็อกโกแลต น้ำอัดลม อาหารเหล่านี้ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อกระเพาะปัสสาวะ ทำให้เกิดอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ได้เช่นกัน นอกจากนี้แล้ว ผู้หญิงที่ก้าวเข้าสู่วัยทองภายหลังจากหมดประจำเดือน ที่มีกล้ามเนื้อช่องคลอดและอุ้งเชิงกรานไม่แข็งแรง ไม่สามารถปิดท่อปัสสาวะได้สนิท
ในขณะที่คุณผู้ชายที่มีปัญหาทางด้านกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานอ่อนแรง อาจทำให้ประสบกับ อาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ซึ่งการหย่อนสมรรถภาพทางเพศนี้อาจเกิดขึ้นกับผู้ชายในช่วงวัยใดก็ได้ แต่โดยมากมักพบว่าสัมพันธ์กับอายุที่เพิ่มมากขึ้น กลไกเหล่านี้มีความซับซ้อน ซึ่งสาเหตุของการอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศนั้น อาจมีสาเหตุมาจากปัญหาทั้งทางร่างกายหรือจิตใจก็ได้ แต่หากมีภาวะกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานที่อ่อนแรง ก็จะมีผลต่อการแข็งตัวของอวัยวะเพศ ลดแรงหลั่งอสุจิ และเกิดการหลั่งเร็วกว่าปกติได้ การบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานที่ดี มีส่วนทำให้กล้ามเนื้อในบริเวณนั้นกลับมาแข็งแรงได้ใกล้เคียงดังเดิม
การบริหารด้วยเครื่องบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน (QRS PelviCenter)(Quantum Resonance Systems) นับเป็นเครื่องมือแพทย์สมัยใหม่ ที่เน้นการบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานให้แข็งแรงมากขึ้น โดยใช้ระบบคลื่นสนามแม่เหล็กไฟฟ้า เพื่อกระตุ้นระบบประสาทและกล้ามเนื้อที่บริเวณช่องเชิงกราน ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณอุ้งเชิงกราน เกิดการหดตัวและคลายตัวอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อบริเวณอุ้งเชิงกราน ส่งผลให้กลั้นปัสสาวะได้ดีขึ้น บรรเทาอาการปัสสาวะเล็ดราดก่อนถึงห้องน้ำ นับเป็นทางเลือกใหม่เพื่อการบำบัดและรักษาอาการผิดปกติของกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน (New treatment option for malfunctioning of pelvic floor muscles) นอกจากนี้ ระบบคลื่นสนามแม่เหล็กไฟฟ้าที่ปล่อยออกมากระตุ้นระบบประสาทส่วนล่าง ยังช่วยบรรเทาอาการปวดหลังส่วนล่างได้อีกด้วย เพราะหากกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานไม่แข็งแรง จะส่งผลต่อเส้นประสาทไขสันหลังและการรับน้ำหนักของร่างกายส่วนบน ทำให้เกิดอาการปวดหลังตามมาได้เช่นกัน
การเข้ารับการตรวจรักษาแต่เนิ่นๆ จะช่วยบรรเทาอาการของโรคที่อาจร้ายแรงในอนาคต ให้กลับมาเป็นปกติได้เร็วขึ้น ศูนย์โรคทางเดินปัสสาวะกรุงเทพ รพ.กรุงเทพ ให้บริการตรวจวินิจฉัยและรักษาด้วยอุปกรณ์การแพทย์ที่ทันสมัย รวมถึงการตรวจพิเศษทางด้านอื่นๆ เช่น ระบบประสาท กระเพาะปัสสาวะ ต่อมลูกหมากและอวัยวะเพศ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์โรคทางเดินปัสสาวะกรุงเทพ โทร.02-310-3009 หรือ Call Centerโทร. 1719
2 กุมภาพันธ์ 2561