สกสว. จัดเวทีประชุมระดมความคิดเห็น “การพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศไทย” โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิทั้งจากภาครัฐ เอกชนและนักวิชาการ ร่วมระดมสมองให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ของประเทศไทย เป้าหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขับเคลื่อนระบบ ววน. ในปี พ.ศ. 2566-2570 ยกระดับการพัฒนาประเทศไทย
วันนี้ (12 มกราคม 2564) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดประชุมระดมความคิดเห็น “การพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศไทย” โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิระดับแนวหน้าของประเทศจากหลากหลายภาคส่วน เช่น คณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) / คณะกรรมการอำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม / คณะกรรมการติดตามและประเมินผลการสนับสนุนวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งคณะกรรมการทั้ง 3 ชุดนี้ เป็นบอร์ดที่กำกับดูแลการทำงานของ สกสว. และกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.) นอกจากนี้ยังมีผู้ทรงคุณวุฒิจากคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รวมถึงผู้บริหารหน่วยงานในระบบ ววน. และผู้แทนจากภาคเอกชน ร่วมให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาระบบ ววน. ของประเทศไทย เป้าหมายเพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบ ววน. ของประเทศไทย ในปี พ.ศ.2566-2570 รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของ สกสว. ในการขับเคลื่อนระบบ ววน. เพื่อยกระดับการพัฒนาประเทศไทย โดยการประชุมครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมประชุมมากกว่า 100 คน ผ่านระบบการประชุมออนไลน์ (E-Meeting)
โอกาสนี้ รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า การประชุมวันนี้ถือเป็นการประชุมระดมสมองรับฟังความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิครั้งสำคัญ หลังจากที่มีการปฏิรูประบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2562 จนถึงปัจจุบันการปฏิรูปเริ่มมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น เกิดการขับเคลื่อนระบบ ววน. ของประเทศ โดยการประชุมครั้งนี้ สกสว. ได้นำเสนอภาพรวมการทำงานในเชิงระบบ พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบ ววน. ของประเทศ โดยเริ่มจากระดมความคิดเห็นการพัฒนาระบบ ววน. 3 ด้าน ประกอบด้วย ระบบวิจัยและนวัตกรรมด้านเศรษฐกิจ ร่วมสร้างความสามารถของเอกชนเพื่อมุ่งเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม ยกระดับห่วงโซ่อุตสาหกรรมเป้าหมาย เชื่อมต่อและกระจายสู่เศรษฐกิจฐานราก ผ่านการบริหารจัดการที่มีส่วนร่วมแบบจตุรภาคี (Quadruple helix) , ระบบวิจัยและนวัตกรรมด้านสังคม เป้าหมายเพื่อก่อให้เกิดการสร้างและใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อการบริหารจัดการทุนและทรัพยากร (Capitals and Resources) ในการสร้างคุณค่า และโอกาสการเข้าถึงทุนและทรัพยากรของประเทศ ที่สอดคล้องกับความซับซ้อนและหลากหลายของผู้คนและบริบททางสังคม รวมทั้งขจัดความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ แก้ปัญหาความท้าทายทางสังคม และเป็นการวางรากฐานให้เกิดสังคมคุณภาพ และ ระบบวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อสร้างความรู้พื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และสหวิทยาการ พัฒนากำลังคน พัฒนาเทคโนโลยีฐานที่สำคัญ รวมถึงสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นอย่างเป็นระบบ ที่จะนำไปสู่การพัฒนาและสร้างนวัตกรรมใหม่ เพื่อให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้นและบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน และสร้างความตระหนักรู้และวิถีคิดเชิงวิทยาศาสตร์ (Scientific thinking) เพื่อให้เกิดสังคมฐานความรู้ (Knowledge-based society) และเกิดการใช้ประโยชน์จากความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสหวิทยาการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทางด้าน รศ.ดร. พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รักษาการรองผู้อำนวยการด้านการพัฒนาระบบและเครือข่าย ววน. กล่าวว่า ปัจจุบัน สกสว. มีบทบาทสำคัญตามพระราชบัญญัติสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ทำหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน และขับเคลื่อน ระบบการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และสหวิทยาการ โดยแบ่งเป็น 5 บทบาทสำคัญประกอบด้วย 1.จัดทำแผนด้าน ววน. ของประเทศ 2.จัดสรรงบประมาณจากกองทุนส่งเสริม ววน. โดย สกสว. มุ่งหวังให้เกิดการจัดสรรงบประมาณในรูปแบบ Block Grant – Multiyear 3.เสริมพลังการขับเคลื่อนระบบ ววน. 4.สร้างระบบการนำผลงาน ววน. ไปใช้ประโยชน์ 5. ประเมินผลการดำเนินงานของระบบ ววน. ของประเทศ โดยระบบการติดตามและประเมินผลของกองทุนส่งเสริม ววน. นั้น เป้าหมายคือการประเมินเพื่อก่อให้เกิดการพัฒนา โดยกรอบการติดตามและประเมินการสนับสนุนวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เน้นหลักการ Double-loop Learning ที่มีทั้งการการประเมินผลงานวิจัยและนวัตกรรม และการประเมินผลการดำเนินงานของหน่วยงาน ดูประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ ผลลัพธ์และกลุ่มผลกระทบของผลงาน ววน. (Outcome and Impact Pathway)
อย่างไรก็ตาม การประชุมระดมสมองในครั้งนี้ถือเป็นเวทีสำคัญในการระดมความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อร่วมกันพัฒนาระบบ ววน. ของประเทศไทยปี พ.ศ.2566 – 2570 เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาประเทศ โดยการประชุมในครั้งนี้ผู้ทรงคุณวุฒิต่างชี้ให้เห็นถึงแนวทางการพัฒนาที่สำคัญ ที่มองบทบาทของ สกสว. ไม่ใช่แค่ทำหน้าที่จัดสรรงบประมาณด้าน ววน. เท่านั้น แต่ สกสว. ยังมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนงานเชิงระบบ เพื่อก่อให้เกิดการขับเคลื่อนระบบ ววน. ที่เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาประเทศ โดยต่อจากนี้ สกสว. จะรวบรวมความคิดเห็นทั้งหมดเพื่อนำมาประกอบการออกแบบการทำงานและพัฒนาระบบ ววน. ของประเทศไทย ให้เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาประเทศ อย่างที่สังคมคาดหวัง