“สกสว. จับมือ มจธ. ยกระดับมาตรฐานวารสารวิชาการไทยสู่มาตรฐานโลก”
เมื่อเร็วๆนี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาสร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดประชุมนำเสนอโครงการ “ระบบวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อกำหนดทิศทางงานวิจัยและนวัตกรรมของไทย ระยะที่ 1: ปีที่ 2 – 3” ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่าง สกสว. และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ที่จัดทำขึ้นเพื่อพัฒนาและยกระดับคุณภาพวารสารวิชาการไทยเทียบเท่ามาตรฐานโลก
ศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์ สมบัติสมภพ หัวหน้าศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (TCI, Thai Citation Index Centre) เผยว่า ที่ผ่านมา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) (หรือหน่วยงาน สกสว.เดิม) ให้ความสำคัญกับการพัฒนาวารสารวิชาการให้มีคุณภาพมาตั้งแต่ปี 2545 และได้ดำเนินการภารกิจสำคัญหลายประการ ทั้งการสนับสนุนเพื่อจัดตั้งศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย รวมถึงสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพวารสารไทยโดยร่วมมือกับสำนักพิมพ์วิชาการระดับโลก เช่น แอ็ลเซอเฟียร์ (Elsevier) ที่เน้นตีพิมพ์ผลงานที่มีคุณภาพสูงทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อคัดเลือกวารสารไทยเข้าสู่ฐานข้อมูลที่รวมรวมบทคัดย่อและการอ้างอิงจากวารสารวิชาการทั่วโลกอย่างสโกปัส (Scopus) ด้วย
ทั้งนี้ ศูนย์ TCI หรือ ศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย เป็นหน่วยงานภายในของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เติบโตมาจากงานวิจัยที่ สกว. เคยให้การสนับสนุนตั้งแต่ พ.ศ. 2545 ภายใต้โครงการ “การศึกษาวิจัยดัชนีผลกระทบการอ้างอิงของวารสารวิชาการภายในประเทศ” และประสบความสำเร็จอย่างมากในการผลักดันให้บทความในวารสารไทยถูกอ้างอิงถึงมากขึ้นจากแต่เดิมที่ถูกอ้างอิงเพียง 8.4% รวมถึงยังมีผลพลอยได้ในการพัฒนาฐานข้อมูลเบื้องต้นของวารสารไทยที่เข้มแข็ง จนปัจจุบันฐานข้อมูล TCI กลายเป็นต้นแบบที่ทุกเกือบทุกประเทศในอาเซียนต้องเดินทางมาศึกษาเพื่อนำไปพัฒนาฐานข้อมูลของประเทศตน
สำหรับโครงการ “ระบบวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อกำหนดทิศทางงานวิจัยและนวัตกรรมของไทย ระยะที่ 1: ปีที่ 2 – 3” ที่ได้นำเสนอในครั้งนี้นั้นมีวัตถุประสงค์สำคัญ คือ
1) พัฒนาและยกระดับคุณภาพวารสารวิชาการไทยและการเข้าถึงผลงานวิจัยไทย (Visibilities) โดยตั้งเป้าให้วารสารและผลงานวิจัยไทยจากในฐานข้อมูล TCI เพิ่มเข้าสู่ Scopus และฐานข้อมูลอื่นๆ จากเดิม 100 เพิ่มเป็น 900 วารสาร
2) จัดทำระบบวิเคราะห์ข้อมูลทิศทางการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อให้สามารถติดตามขีดความสามารถด้านการวิจัยและนวัตกรรมได้ โดยใช้ฐานข้อมูลการตีพิมพ์บทความในระดับชาติ ควบคู่กับระะวิเคราะห์การข้อมูลในระดับนานาชาติซึ่งมีอยู่แล้ว เพื่อให้หน่วยงานของรัฐโดยเฉพาะหน่วยงานบริหารจัดการทุนวิจัยของประเทศสามารถนำผลการวิเคราะห์ข้อมูลและทิศทางการวิจัยนวัตกรรมไปใช้ประกอบในการพิจารณาการให้ทุน และเพื่อให้หน่วยงานนโยบายสามารถนำไปใช้กำหนดนโยบายทางวิทยาศาสตร์ วิจัย และเทคโนโลยีของประเทศได้ต่อไป
3) เพื่อติดตามและประเมินขีดความสามารถด้านการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ (ในกรณีศึกษาด้านเกษตรและอาหาร และด้านอื่นๆที่เป็นจุดมุ่งเน้นของประเทศ) เพื่อเป็นข้อมูลหนุนเสริมความสามารถในการบริหารจัดการงานวิจัยของกองทุน
ทั้งนี้จากการประชุมดังกล่าว ที่ประชุมคณะอนุกรรมการด้านการพัฒนาระบบนวัตกรรม มีมติเห็นชอบให้ สกสว. พิจารณางบประมาณการสนับสนุนโครงการ “ระบบวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อกำหนดทิศทางงานวิจัยและนวัตกรรมของไทย โดยมีข้อเสนอที่สำคัญ เช่น ระบบวิเคราะห์ข้อมูลทิศทาง การวิจัยและนวัตกรรมที่จะดำเนินการพัฒนา ต้องทำให้ใช้งานร่วมกับระบบโปรแกรม SciVal อันเป็นเครื่องมือในการศึกษาสมรรถนะด้านการวิจัยในระดับนานาชาติ เพื่อให้สามารถวิเคราะห์ข้อมูลให้เห็นภาพรวมของประเทศได้อย่างครอบคลุม
3 มีนาคม 2564