สกสว. แจงข้อมูลเพิ่มเติม พร้อมขับเคลื่อน พรบ. ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยฯ
สกสว. เข้านำเสนอข้อมูลต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. …. เป็นครั้งที่ 2 พร้อมปลดล็อคความเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรม สร้างแรงจูงใจให้นักวิจัยสามารถสร้างสรรค์ผลงานเพื่อพัฒนาประเทศ
เมื่อวันที่ 23 มีนาคม ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. …. เปิดการประชุมพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. …. ณ อาคารรัฐสภา โดยเชิญผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และผู้แทนเครือข่ายมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ เข้าร่วมประชุมเพื่อให้ข้อมูลเพิ่มเติมประกอบการพิจารณาร่าง พรบ.ฉบับนี้
รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า ร่าง พรบ.ฉบับนี้ เป็นกลไกสำคัญในการปลดล็อคประเด็นความเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ได้รับทุนจากหน่วยงานของรัฐ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์หรือสาธารณประโยชน์ได้อย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น สร้างแรงจูงใจให้นักวิจัยมาร่วมสร้างสรรค์ผลงานเพื่อแก้ปัญหาของประเทศ นอกจากนี้ สกสว. ยังมีบทบาทในขับเคลื่อนระบบการติดตามและประเมินผลงานวิจัยและนวัตกรรม โดยมีการจัดทำกรอบและเกณฑ์การประเมินผลฯ ที่จะสะท้อนผลสัมฤทฺธิ์ของการดำเนินงานในแต่ละแพลตฟอร์มและโปรแกรม ผ่านการประเมินผลการดำเนินงานของหน่วยบริหารและจัดการทุน และหน่วยงานในระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ที่ได้รับเงินงบประมาณจากกองทุนส่งเสริม ววน. ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการสนับสนุนวิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม
การประชุมในวันนี้ ผู้แทนจากเครือข่ายมหาวิทยาลัยต่างเห็นชอบในหลักการของ ร่าง พรบ. ฉบับนี้ อย่างไรก็ตามยังคงต้องร่วมกันพิจารณาถึงแนวทางการปฏิบัติกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และการประชุมในครั้งต่อไปยังคงมีการพิจารณาถึงรายละเอียดใน พรบ.ฯ รายมาตรา ก่อนจะส่งเข้าสู่รัฐสภาเพื่อให้ความเห็นชอบในวาระต่อไป ซึ่งต่อจากนี้ สกสว. มีแผนการจัดทำกฎหมายลูกที่จำเป็นกว่า 10 ฉบับ รวมทั้งการผลักดันมาตรการอื่นๆที่สำคัญ เพื่อให้ภาคเอกชนนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ และพัฒนาศักยภาพของภาคเอกชนในการทำวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ซึ่งถือเป็นภารกิจหนึ่งของ สกสว. ในการขับเคลื่อนระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศให้สามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
24 มีนาคม 2564