วัคซีนโควิด-19 โดยคนไทยก้าวแรกในการพึ่งพาตัวเอง

แม้ว่าวัคซีนโควิด-19 ที่พัฒนาโดยคนไทยยังอยู่ในขั้นตอนของการทดลอง ขณะที่เริ่มมีวัคซีนจากผู้ผลิตหลายรายออกสู่ตลาดแล้ว แต่ความพยายามนี้ไม่สูญเปล่าเพราะเป็นก้าวสำคัญของการพึ่งพาตัวเอง และเป็นการทดสอบความพร้อมรับมือกับโรคระบาดอื่นๆ ที่อาจจะเข้ามาในอนาคต รวมทั้งยังเป็นโอกาสในการผลักดันงานวิจัยออกไปสู่ภาคอุตสากรรมอีกด้วย

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้สนับสนุนทุนวิจัยวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ให้แก่ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ซึ่งได้มอบหมายให้ ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนาวัคซีน ChulaCov19 และมี ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม เป็นผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 และวัคซีนดังกล่าวยังได้รับการสนับสนุนจาก ทุนศตวรรษที่สอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเงินบริจาคจากสมาคมศิษย์เก่าแพทย์จุฬาฯ กองทุนบริจาควิจัยวัคซีน สภากาชาดไทย

วัคซีน ChulaCov19 เป็นวัคซีนชนิด mRNA ที่สร้างขึ้นจากชิ้นส่วนสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโควิด-19 เมื่อฉีดเข้าร่างกายจะทำให้ร่างกายสร้างโปรตีนที่เป็นส่วนปุ่มหนามของไวรัส และกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันไว้ต่อสู่กับไวรัสเมื่อสัมผัสเชื้อไวรัส หลังจากวัคซีนชนิด mRNA กระตุ้นให้สร้างกายสร้างโปรตีนดังกล่าวแล้ว ชิ้นส่วน mRNA จะถูกสลายไปในเวลาไม่กี่วัน ซึ่งเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนชนิดนี้ได้รับการอนุมัติให้ใช้ในภาวะฉุกเฉินแล้วในหลายประเทศ และมีการฉีดให้แก่ประชาชนแล้วกว่า 140 ล้านโดสทั่วโลก

ขณะนี้วัคซีน ChulaCov19 ผ่านการทดลองเข็มที่สองในลิง ซึ่งพบว่าลิงสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ในระดับสูงและมีสุขภาพดี และจากผลทดสอบในหนูชนิดพิเศษที่ติดเชื้อโควิด-19 ได้พบว่าวัคซีน ChulaCov19 สามารถป้องกันหนูไม่ให้เจ็บป่วยจากโรคได้ 100% และยับยั้งเชื้อไม่ให้เข้ากระแสเลือดได้ 100% รวมทั้งสามารถลดจำนวนเชื้อที่ใส่เข้าไปในจมูกของหนูทดลองและเชื้อในปอดลงไปได้มากกว่า 10,000,000 เท่า หลังจากนั้นจะเข้าสู่การทดลองในมนุษย์ซึ่งเป็นอาสาสมัครต่อไปประมาณปลายเดือนเมษายนถึงต้นเดือนพฤษภาคมนี้

ถึงแม้ความสำเร็จของวัคซีนโควิด-19 โดยคนไทยจะสำเร็จช้ากว่าผู้ผลิตวัคซีนจากต่างประเทศหลายราย แต่ ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ให้ความเห็นว่า การวิจัยครั้งนี้เป็นก้าวสำคัญที่ไทยสามารถผลิตวัคซีนได้เองทุกขั้นตอน ต่างจากในอดีตที่งานวิจัยมีเป้าหมายแค่เพื่อตีพิมพ์ แต่สำหรับงานวิจัยวัคซีนครั้งนี้ยังมีเป้าหมายขับเคลื่อนไปสู่การผลิตในภาคอุตสาหกรรมด้วย

30 มีนาคม 2564


บริษัท มีเดีย เน็ทเวิร์ค จำกัด
138, 140 ซอยอนามัย ถนนศรีนครินทร์ แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ 10250
MEDIA NETWORK Co.,Ltd
138, 140 Soi Anamai Srinakarin Road Suanluang Suanluang Bangkok 10250
Tel. 02 721 4417 Fax. 02 721 5516
E-mail : phototechthailand@gmail.com


ติดต่อโฆษณาหรือข้อมูลเพิ่มเติม
โทร. 02 721 4417 , 097 921 2929 คุณขวัญ

แฟนเพจ Phototech Magazine


ออกแบบโดย touronthai