วช. หนุนสำรวจสุขภาวะโรคกระดูกและข้อเตรียมพร้อมสังคมผู้สูงวัย

ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ในปี พ.ศ.2564 หนึ่งในปัญหาสุขภาพของผู้สูงอายุที่ต้องเผชิญคือภาวะโรคกระดูกและข้อ ที่ส่งผลให้ผู้ป่วยสูงวัยที่มีภาวะโรคดังกล่าวมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดี ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล หัวหน้าโครงการวิจัยการสำรวจสุขภาวะโรคกระดูกและข้อในผู้สูงอายุของประเทศไทย จึงได้เริ่มการศึกษาสำรวจภาวะโรคดังกล่าวในประชากรสูงวัยทั่วประเทศ เพื่อนำข้อมูลที่สำคัญมาวิเคราะห์เตรียมความพร้อมและป้องกันโรคกระดูกและข้อที่ส่งผลให้ผู้สูงวัยมีบั้นปลายชีวิตที่เป็นสุข

ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในแผนการวิจัยโครงการสำรวจสุขภาวะโรคกระดูกและข้อในผู้สูงอายุของประเทศไทย ได้ให้ข้อมูลว่าปัจจุบันประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์แบบ ซึ่งโรคที่พบบ่อยในผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปมักจะเป็นกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD) เช่น โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน มะเร็ง รวมทั้งผู้สูงวัยมักมีอาการโรคทางกระดูกและข้อ โรคดังกล่าวถือเป็นปัญหาสาธารณสุขและมีผลต่อภาระทางเศรษฐกิจและสังคมอื่น ๆ ตามมา

ตัวอย่างปัญหาด้านสุขภาพในผู้สูงอายุที่พบในโรคทางกระดูกและข้อ เช่น ผู้สูงอายุที่มีปัญหาโรคกระดูกพรุน โรคข้อสะโพกหรือข้อเข่าเสื่อม ทำให้ประสิทธิภาพการเดินลดลงและทรงตัวไม่ดี เมื่อพลัดตกหกล้มจะมีโอกาสทำให้กระดูกหักตามมาได้บ่อย โรคกระดูกพรุนทำให้กระดูกเปราะบางและเพิ่มปัจจัยเสี่ยงต่อการกระดูกหักในตำแหน่งต่าง ๆ ผู้สูงอายุที่เกิดกระดูกหักต้องได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องและต้องมีญาติหรือคนดูแลอย่างใกล้ชิด แต่หากผู้ป่วยในกลุ่มนี้ไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม สุดท้ายจะนำไปสู่คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุที่ลดลงและมีอัตราการเสียชีวิตที่เพิ่มสูงขึ้น ปัจจุบันนี้พบว่ามีข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับโรคกระดูกพรุนของประชากรผู้สูงอายุในประเทศไทยมีไม่มากและไม่ทันสมัย ไม่สามารถนำมาใช้เป็นข้อมูลของประชากรไทย ในปัจจุบันที่มีโครงสร้างทางสังคมเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง

นอกจากนี้ มีงานวิจัยอื่นที่ค้นพบว่าโรคมวลกล้ามเนื้อน้อยสัมพันธ์กับการพลัดตกหกล้ม ภาวะการเกิดกระดูกหัก การเสื่อมสมรรถภาพทางกาย ภาวะอ่อนแอเปราะบาง คุณภาพชีวิตที่ลดลง และต้องพึ่งพาคนดูแล รวมถึงมีอัตราเสียชีวิตที่สูงขึ้น อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้ป่วยที่มีมวลกล้ามเนื้อน้อยสูงกว่าผู้ป่วยที่ไม่มีโรคมวลกล้ามเนื้อถดถอยถึง 5 เท่า แต่ยังไม่เคยมีการศึกษาวิจัยถึงอัตราความชุกโรคมวลกล้ามเนื้อน้อยในประเทศไทยมาก่อน

สำหรับแผนการวิจัยการสำรวจสุขภาวะโรคกระดูกและข้อในผู้สูงอายุของประเทศไทย มีโครงการวิจัยย่อย 3 โครงการ ได้แก่ โครงการวิจัยความชุกของผู้สูงอายุชาวไทยที่มีโรคกระดูกพรุนโดยใช้เครื่องมือและการตรวจความหนาแน่นของกระดูก โครงการวิจัยความชุกของผู้สูงอายุชาวไทยที่มีโรคมวลกล้ามเนื้อน้อยโดยใช้เครื่องมือประเมินมวลกล้ามเนื้อ (Bio-impedance analysis : BIA) การวัดแรงบีบมือ (Hand grip strength) และ การวัดความเร็วของการเดินปกติ (Gait speed) และโครงการศึกษาความเสี่ยงของการหกล้มในผู้สูงอายุของประชากรไทย ซึ่งจะศึกษาในตัวแทนตัวแทนประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปีที่ครอบคลุมจังหวัดในทุกภูมิภาคจำนวน 12 จังหวัด โดยมีผู้เข้าร่วมในโครงการนี้จำนวน 3,000 คน

“ข้อมูลจากการสำรวจจากแผนการวิจัยนี้จะนำไปใช้วิเคราะห์ความเสี่ยงและคัดกรองเพื่อป้องกันการเกิดโรคกระดูกพรุนและการเกิดกระดูกหักก่อนวัยอันควร และนำไปสู่แนวทางการป้องกัน ส่งเสริมและรักษาผู้สูงอายุให้มีคุณภาพชีวิตในช่วงนี้ให้ดีที่สุด หากข้อมูลดังกล่าวนี้แล้วเสร็จเชื่อว่าจะสามารถนำไปเผยแพร่ให้แก่กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานต่างๆ เพื่อนำไปประสานงานกับโรงพยาบาลในทุกระดับตั้งแต่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) โรงพยาบาลชุมชน หรือโรงพยาบาลจังหวัด โดยเน้นให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และบุคลากรทางสาธารณสุขที่สามารถนำข้อมูลไปใช้เพื่อช่วยป้องกันปัญหาโรคกระดูกและข้อในผู้สูงอายุได้ ทีมงานเชื่อว่าข้อมูลที่ได้จากการเก็บรวบรวมจากตัวแทนประชากรทั้งประเทศอย่างเป็นระบบ จะสามารถใช้เป็นตัวชี้วัดและเป็นข้อมูลที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์แก่คนไทยต่อไป” ศ.นพ.อภิชาติระบุ

พร้อมกันนี้ ศ.นพ.อภิชาติ ได้ให้คำแนะนำในการป้องกันโรคกระดูกและข้อ โดยระบุว่า การจะเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีนั้นจะต้องให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพมาตั้งแต่วัยหนุ่มสาว โดยเฉพาะผู้หญิงในวัยกลางคนที่เข้าสู่วัยทองจะมีปัญหาขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ส่งผลให้เกิดกระดูกพรุน การรับประทานอาหารที่มีปริมาณแคลเซี่ยมสูงเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูก เช่น อาหารประเภทนม หรือเนย เป็นต้น การออกกำลังกายที่เหมาะสม พร้อมรับแสงแดดบ้างเพื่อให้ร่างกายได้รับวิตามินดีเพื่อช่วยเสริมสร้างกระดูก ซึ่งนอกจากลดภาวะกระดูกบางแล้ว ยังช่วยลดภาวะโรคอ้วนได้ด้วย การรับประทานอาหารครบทุกหมู่ มีการพักผ่อนที่พอเพียง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้สุขภาพแข็งแรง จิตใจผ่องใส ซึ่งจะส่งผลให้พวกเราเข้าสู่วัยสูงอายุที่ปราศจากโรคและมีคุณภาพในอนาคต

9 เมษายน 2564


บริษัท มีเดีย เน็ทเวิร์ค จำกัด
138, 140 ซอยอนามัย ถนนศรีนครินทร์ แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ 10250
MEDIA NETWORK Co.,Ltd
138, 140 Soi Anamai Srinakarin Road Suanluang Suanluang Bangkok 10250
Tel. 02 721 4417 Fax. 02 721 5516
E-mail : phototechthailand@gmail.com


ติดต่อโฆษณาหรือข้อมูลเพิ่มเติม
โทร. 02 721 4417 , 097 921 2929 คุณขวัญ

แฟนเพจ Phototech Magazine


ออกแบบโดย touronthai