พช.เชียงดาว เดินหน้า “เอามื้อสามัคคี”ตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียง ร่วมสร้างฐาน “คนหัวเห็ด” ส่งเสริมการเรียนรู้ และบูรณาการ สร้างความมั่นคงทางอาหาร สู้วิกฤตการณ์โควิด-19

วันที่ 30 เมษายน 2564 นางพรทิพย์ สมโสภา พัฒนาการอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ มอบหมายให้ นางเพ็ญศิริ หวันน้อย นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ พัฒนากรผู้ประสานงานตำบลแม่นะ อำเภอเชียงดาว จัดกิจกรรมเอามื้อสามัคคี ฐานการเรียนรู้ “คนหัวเห็ด” ภายใต้โครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง งบประมาณ พ.ศ. 2564 โดยกิจกรรมในครั้งนี้เป็นการรวมกลุ่มของตัวแทนครัวเรือนพัฒนาในหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง จำนวน 15 คน ณ ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนแปลงของ นายพิทักษ์ หน่อคำ หมู่ที่ 6 บ้านสบคาบ ตำบลแม่นะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่

นางเพ็ญศิริ หวันน้อย เปิดเผยว่า “พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงตระหนักอย่างดียิ่งในคุณค่าแห่งแนวพระราชดำริเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระองค์ทรงมุ่งมั่นยึดแนวพระราชดำรินี้เป็นแสงส่องนำทางความสุขที่ถาวร แก่แผ่นดินไทย ดังทรงพระราชทานโครงการ “โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง” โดยผสานแนวทางทฤษฎีใหม่และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง อันเป็นหนทางสร้างความดีงานในชีวิต เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมที่สมดุล มั่นคง และยั่งยืน โดยตลอดมากรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นหลักในการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้และการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่สมดุลเป็นธรรม มีภูมิคุ้มกันในทุกครัวเรือน และปรับตัวให้สามารถดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข มีอาชีพ สร้างรายได้ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ของสังคม

สำหรับกิจกรรมการเอามื้อสามัคคี ในวันนี้ เป็นการพัฒนา สร้างความรู้ ความเข้าใจ วิถีแห่งความพอเพียง ให้ประชาชนเกิดการยอมรับและน้อมนำไปปฏิบัติ ผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นอย่างชัดเจน นั้น คือ การสร้างพลังแห่งความสมานสามัคคี เอื้ออาทรให้เกิดขึ้นในชุมชน ท้องถิ่น และการเพิ่มทักษะการดำเนินชีวิตในรูปแบบการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำจริงทุกขั้นตอน โดยใช้กระบวนการ “ฐานคนหัวเห็ด” การเพาะเห็ดฟาง 2 รูปแบบ ประกอบด้วย 1) การเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ย เพื่อจัดทำเป็นแปลงสาธิตภายในศูนย์เรียนรู้ทฤษฎีใหม่ รูปแบบ “โคก หนอง นา” ประชาชนในหมู่บ้านสามารถเข้ามาเรียนรู้ได้ ซึ่งการเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ยเป็นวิธีที่ง่ายและได้รับความนิยมกันมาก เนื่องจากเป็นวิธีที่ ประหยัดวัสดุเพาะเห็ด ใช้ระยะเวลาเพาะสั้น จึงสามารถเพาะได้ทุกฤดูกาล ปกติแล้วเกษตรกรจะเพาะในฤดูหลังนา เพราะมีฟางข้าว และตอซัง เป็นวัสดุเพาะ เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าวัสดุที่เหลือใช้จากครัวเรือนและการเกษตร มาให้เกิดประโยชน์เป็นการเพิ่มแหล่งอาหารและเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่งด้วย และ 2) การเพาะเห็ดฟางในตะกร้า ที่เป็นรูปแบบการเพาะเห็ดฟางที่ประยุกต์ใช้ตะกร้าพลาสติกเป็นโครงสร้างของกองวัสดุเพาะ เหมาะสำหรับการเพาะเห็ดฟางในพื้นที่ที่จำกัด โดยเฉพาะผู้ที่ไม่มีแปลงไร่นา มีพื้นที่น้อย หรือผู้ที่อยู่ในชุมชนเมือง โดยผลงานความร่วมมือเพาะเห็ดฟางในรูปแบบที่ 2 นี้ จะมอบให้ครัวเรือนเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการ เป็นดังจุดเริ่มต้นเพื่อเป็นต้นแบบที่ดี สร้างความมั่นคงทางอาหาร สู้กับวิกฤตการณ์ การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระลอกใหม่ และขยายผลสู่ทุกครัวเรือนต่อไป”

30 เมษายน 2564


บริษัท มีเดีย เน็ทเวิร์ค จำกัด
138, 140 ซอยอนามัย ถนนศรีนครินทร์ แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ 10250
MEDIA NETWORK Co.,Ltd
138, 140 Soi Anamai Srinakarin Road Suanluang Suanluang Bangkok 10250
Tel. 02 721 4417 Fax. 02 721 5516
E-mail : phototechthailand@gmail.com


ติดต่อโฆษณาหรือข้อมูลเพิ่มเติม
โทร. 02 721 4417 , 097 921 2929 คุณขวัญ

แฟนเพจ Phototech Magazine


ออกแบบโดย touronthai