รอง อธิบดี พช. เยี่ยมกลุ่มทอผ้ากี่กระตุกบ้านวังร่อง น้อมนำผ้าลายขอพระราชทาน "ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ" เป็นต้นแบบและพัฒนาต่อยอด ตามวิถีเอกลักษณ์ประจำถิ่น สร้างรายได้กลับสู่ชุมชน

นายสุรศักดิ์ อักษรกุล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนเดินทางลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมกลุ่มทอผ้ากี่กระตุกบ้านวังร่อง หมู่ที่ 8 ตำบลสักหลง อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยมีสาวมนทิรา เข็มทอง พัฒนาการจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้รายงานผลการขับเคลื่อนกิจกรรมประชาสัมพันธ์ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ตามพระดําริ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา

นายสุรศักดิ์ อักษรกุล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เปิดเผยว่า เป็นพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้ประทานพระอนุญาตแบบลายมัดหมี่แก่ช่างทอผ้า ชื่อลาย "ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ" ผ่านอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เพื่อเป็นของขวัญวันปีใหม่และสื่อความหมายถึงการส่งมอบความรักและความสุขให้แก่ชาวไทยทุกคน ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชนได้ขับเคลื่อนงานตามพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พร้อมทั้งจัดทำพิธีมอบแบบลายผ้ามัดหมี่พระราชทาน ชื่อลาย "ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ" แก่กลุ่มทอผ้าในจังหวัดให้ประชาชนนำไปใช้ทอผ้า ตลอดทั้งนำไปเป็นต้นแบบและพัฒนาต่อยอดไปสู่เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ ตามวิถีที่เป็นเอกลักษณ์ประจำถิ่น เพื่อสร้างรายได้กลับสู่ชุมชน 

ขณะที่นางสาวมนทิรา เข็มทอง พัฒนาการจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้รายงานผลการขับเคลื่อนกิจกรรมประชาสัมพันธ์ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ตามพระดําริ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ว่า พช.เพชรบูรณ์ ได้ส่งเสริมให้กลุ่มทอผ้าที่รับมอบแบบลายผ้ามัดหมี่พระราชทาน “ผ้ามัดหมี่ ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” จํานวน 11 กลุ่ม และได้มอบในระดับอําเภอให้ช่างทอทุกกลุ่ม ทุกเทคนิค สามารถนําไปใช้ทอผ้า ผลิตผ้าได้ทุกสี ทุกเทคนิค โดยเน้นการใช้สีธรรมชาติ นําไปเป็นต้นแบบและพัฒนา ต่อยอดไปสู่เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ ตามวิถีที่เป็นเอกลักษณ์ประจําถิ่น เพื่อให้รายได้กลับสู่ชุมชน ส่งเสริม กระตุ้นผ้าไทยให้ทันสมัยสู่สากล เป็นที่นิยม ในทุกเพศ ทุกวัย และทุกโอกาส โดยกลุ่มทอผ้า ส่งผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ เข้าประกวดจํานวน 11 ผืน ได้แก่ เทคนิคผสม จํานวน 1 ผืน เทคนิคบนพื้นฐาน เอกลักษณ์ของจังหวัด จํานวน 2 ผืน เทคนิคมัดหมี่ 2 ตะกรอ จํานวน 3 ผืน เทคนิคขิด จํานวน 2 ผืน เทคนิคยกดอก จํานวน 1 ผืน และผ้าปัก จํานวน 2 ผืน 

อย่างไรก็ตาม มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 เรื่อง มาตรการส่งเสริมการใช้และสวมใส่ผ้าไทยนั้น นายกฤษณ์ คงเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ มีนโยบายให้ ทุกหน่วยงาน ทุกภาคส่วน สวมใส่ผ้าพื้นถิ่นประจําจังหวัดเพชรบูรณ์ โดยในวันอังคาร สวมใส่ผ้าพื้นถิ่นประจําจังหวัด และวันศุกร์สวมใส่ผ้ามุกสีฟ้า ซึ่งได้ส่งเสริมการตลาด โดยการเปิดรับจองผ้ามุก ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ผ่านระบบ Google form ทั้งนี้ มียอดจองกว่า 520 เมตร เป็นเงิน 212,500 บาท เพื่อเป็นต้นแบบในการรณรงค์ การแต่งกายด้วยผ้าพื้นถิ่น อย่างเป็นรูปธรรม 

นอกจากนี้ นางสาวมนทิรา ยังได้รายงานภาพรวมผู้ประกอบการ OTOP ที่ลงทะเบียนกับจังหวัดเพชรบูรณ์ พบว่า มีจำนวน 906 ราย แบ่งเป็นประเภทผู้ผลิตชุมชน จํานวน 527 กลุ่ม, ประเภทรายเดียว จํานวน 348 ราย และประเภท SMEs จํานวน 18 ราย 

ส่วนผลิตภัณฑ์ OTOP ที่ลงทะเบียนมีทั้งหมดจํานวน 2,256 ผลิตภัณฑ์ แบ่งเป็นกลุ่มดาวเด่นสู่สากล A จํานวน 167 ผลิตภัณฑ์,กลุ่มเอกลักษณ์สร้างคุณค่า B จํานวน 65 ผลิตภัณฑ์, กลุ่มพัฒนาสู่การแข่งขัน C จํานวน 301 ผลิตภัณฑ์ และกลุ่มปรับตัวการพัฒนา D จํานวน 2,123 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งยอดจําหน่ายผลิตภัณฑ์ OTOP ของจังหวัดเพชรบูรณ์ 6 เดือนแรกของปี 2564 อยู่ที่ 2,156,915,651 บาท คิดเป็นร้อยละ 10.38 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563


 
ด้านผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย ของจังหวัดเพชรบูรณ์ พบว่า มีจํานวน 268 กลุ่ม/ราย ประกอบด้วย 1.ผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าประเภทเสื้อผ้าและทอผ้า จํานวน 150 ราย โดยมีผู้ผลิตผ้า และทอผ้า จํานวน 44 ราย ผู้ตัดเย็บเสื้อผ้าแปรรูปผ้า จํานวน 106 ราย  และ 2. ผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าประเภทเครื่องแต่งกาย จํานวน 118 ราย 

สำหรับผ้าพื้นเมืองของจังหวัดเพชรบูรณ์นั้นมี 3 ประเภท คือ  ผ้าทอพื้นเมืองไทหล่ม ได้แก่ ผ้ามุก และผ้าหัวแดงตีนก่าน หรือ หมี่คั่นน้อยไทหล่ม ซึ่งมีมากใน อําเภอหล่มเก่า อําเภอหล่มสัก  2. ผ้าชาวเขาผ้าปักชาวเขาเผ่าม้ง ซึ่งมีมากในอําเภอเขาค้อ, อําเภอหล่มเก่า และ 3.ผ้ามัดหมี่ เป็นผ้าทอกี่กระตุกที่อยู่ในอำเภอหนองไผ่ อำเภอวิเชียรบุรี อำเภอศรีเทพ อำเภอวังโป่ง อำเภอชนแดน และอำเภอเมืองเพชรบูรณ์

อย่างไรก็ตาม การดําเนินการพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์ OTOP ผ้าไทยและ ผ้าพื้นเมือง โดยการรวมกลุ่มกันของผู้ผลิต ผู้ประกอบการ กลุ่มทอผ้า และกลุ่มตัดเย็บ จัดทําแนวคิดพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยแกนนําของ กลุ่ม “เพชปุระ” จะมีแนวคิดในการนําเอา ผ้าพื้นถิ่น ที่มีความหลากหลายมาผสมผสานให้เป็นผ้าที่มีเอกลักษณ์ของจังหวัด โดยการรวมกลุ่มกันของกลุ่มทอผ้า และแปรรูปผ้า ซึ่งมี Young OTOP, Young Desingner , ผู้ประกอบการ OTOP ขึ้นเครื่อง ,ปราชญ์ด้านการทอผ้า ผลิตภัณฑ์เด่นของ กลุ่ม “เพชปุระ” ได้แก่ ผ้าทอเทคนิคขิด ผ้าทอเทคนิคขิดผสมมัดหมี่ ผ้าทอเทคนิคหมี่คั่น น้อยไทหล่ม ผ้าทอยกดอก ผ้าปักผ้าเขียนเทียนชาวเขาเผ่าม้ง ที่เน้นเส้นใยธรรมชาติและ สีธรรมชาติ พร้อมผลิตภัณฑ์แปรรูปทหี่ ลากหลายและผ้าทอผ้า “ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” หลากหลายเทคนิคอีกด้วย

24 มิถุนายน 2564


บริษัท มีเดีย เน็ทเวิร์ค จำกัด
138, 140 ซอยอนามัย ถนนศรีนครินทร์ แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ 10250
MEDIA NETWORK Co.,Ltd
138, 140 Soi Anamai Srinakarin Road Suanluang Suanluang Bangkok 10250
Tel. 02 721 4417 Fax. 02 721 5516
E-mail : phototechthailand@gmail.com


ติดต่อโฆษณาหรือข้อมูลเพิ่มเติม
โทร. 02 721 4417 , 097 921 2929 คุณขวัญ

แฟนเพจ Phototech Magazine


ออกแบบโดย touronthai