เอปสันเผยผลสำรวจ ผู้คนยังคงมองโลกในแง่ดีแม้ขัดแย้งกับความเป็นจริงของปัญหา ด้านสภาพอากาศของโลก ซึ่งอาจส่งผลต่อความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม

เอปสันเผยผลสำรวจเกี่ยวกับการตื่นตัวต่อผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ชี้ให้เห็นถึงการขาดการรับรู้ต่อปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบันและจะส่งผลกระทบที่รุนแรงยิ่งขึ้นในอนาคต
นายยรรยง มุนีมงคลทร ผู้อำนวยการบริหาร บริษัท เอปสัน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “เอปสัน สำนักงานใหญ่ที่ประเทศญี่ปุ่น ได้มีการจัดทำ Epson Climate Reality Barometer ซึ่งเป็นการสำรวจเกี่ยวกับประสบการณ์และการรับรู้ต่อภาวะการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ ซึ่งมีกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้บริโภคในเอเชีย ยุโรป อเมริกาเหนือ และอเมริกาใต้ จำนวน 15,264 คน โดยมีเป้าหมายในการยกระดับการรับรู้ของสาธารณชนต่อผลกระทบจากการเปลี่ยน แปลงทางสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน กระตุ้นภาคธุรกิจให้ตัดสินใจสร้างการเปลี่ยนแปลง และให้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจของผู้มีอำนาจกำหนดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งยังเป็นการสนับสนุนการจัดงานประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 (The 26th UN Climate Change Conference of the Parties; COP 26) ซึ่งจะจัดขึ้นที่ประเทศอังกฤษ ระหว่าง 31 ตุลาคม ถึง 12 พฤศจิกายนนี้”

ตัวอย่างคำถามจากการสำรวจซึ่งได้รับคำตอบที่น่าสนใจ เช่น เมื่อกลุ่มตัวอย่างถูกถามว่าในช่วงชีวิตนี้ จะได้เห็นมนุษย์เอาชนะวิกฤตสภาพภูมิอากาศหรือไม่ ขณะที่ 27% ตอบว่าไม่ได้ แต่มีถึง 46% ที่มองโลกในแง่ดี โดยมี 3 เหตุผลที่ถูกใช้อธิบายมากที่สุดคือ ปัจจุบันผู้คนตื่นตัวต่อปัญหานี้เพิ่มขึ้นมากแล้ว คิดเป็น 33% เชื่อว่าความก้าว หน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะช่วยแก้ปัญหาได้ 28% และการเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียนคือคำตอบ 19% นอกจากนี้ยังมีกลุ่มตัวอย่างอีก 5% ที่ไม่เชื่อว่ามีภาวะวิกฤติทางสภาพภูมิอากาศ ซึ่งในกลุ่มนี้มาจากประเทศสหรัฐอเมริกา 11% เยอรมนี 7% และอังกฤษ 6%

คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ยังระบุอีกว่าปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศจากฝีมือมนุษย์เกิดขึ้นมานับพันปีและขยายวงกว้างไปทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นปรากฏการณ์ July 2021 ที่ร้อนที่สุดในโลกตั้งแต่มีการจดบันทึกสถิติ ไฟป่าในยุโรป อเมริกาเหนือ และเอเชีย หรือน้ำท่วมหนักในประเทศจีน โคลัมเบีย และเยอรมนี ดังนั้นจากผลสำรวจของเอปสัน จึงสรุปได้ว่าการมองโลกในแง่ดี ท่ามกลางหลักฐานที่ชัดเจนเช่นนี้ เป็นการขาดการรับรู้ต่อภาวะความเป็นจริงของวิกฤตสภาพภูมิอากาศในขณะนี้

ผลสำรวจยังระบุอีกว่าราว 3 ใน 4 ของกลุ่มตัวอย่างมองเห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศกับเหตุการณ์ต่างๆ เช่น อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น (77%) สภาพอากาศแบบสุดขั้ว (74%) และ ไฟป่า (73%) แต่กลับลดลงมาเหลือประมาณครึ่งหนึ่ง เมื่อถูกถามถึงความเชื่อมโยงกับปัญหาอื่นๆ อย่างความอดยาก (57%) การอพยพใหญ่ (55%) และการระบาดหนักของแมลง (51%) จึงตั้งสันนิษฐานได้ว่าการมองแง่ดีในกรณีนี้ อาจทำให้มองไม่เห็นถึงขอบเขตของผลกระทบทั้งหมดจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

เมื่อถูกถามถึงความรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหา 27% ของกลุ่มตัวอย่างเชื่อว่าเป็นหน้าที่ของรัฐบาล 18% ระบุว่าเป็นของภาคธุรกิจ และอีก 18% มองว่าเป็นความรับผิดชอบส่วนบุคคล แต่มีจำนวนน้อยมากที่ชี้ว่าเป็นความรับผิด ชอบร่วมกันของทุกฝ่าย นอกจากนี้ ผู้คนส่วนใหญ่ยินดีที่จะปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์เพื่อช่วยลดภาวะวิกฤต โดยการสำรวจระบุว่ามีถึง 78% ที่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนหรือมีแผนที่จะเปลี่ยนไปใช้พลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน แต่มี 29% ที่ได้เริ่มใช้จริงแล้ว มี 82% ที่เห็นด้วยกับการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีความยั่งยืน แต่มี 45% ที่ใช้อยู่แล้ว ขณะที่ 58% เห็นด้วยกับการกินอาหารที่เน้นพืช โดยมี 27% ที่เปลี่ยนมากินอาหารมังสวิรัติ หรือแม้แต่ในด้านการเลือกซื้อสินค้า 63% ที่มีความคิดจะเลิกใช้สินค้าที่ไม่มีส่วนสนับสนุนในด้านความยั่งยืน แต่มี 29% ที่ได้เปลี่ยนนิสัยการซื้อสินค้าตามนี้

ด้านนายยาสึโนริ โอกาวะ ประธานบริษัท ไซโก้ เอปสัน คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า “การสำรวจที่ค้นพบว่ามีการขาดการรับรู้ความจริงเกี่ยวกับปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศ มีส่วนสำคัญอย่างมากกับการแก้ปัญหาฉุกเฉิน โดยเอปสันมีเป้าหมายที่จะสร้างความตระหนักรู้และสร้างเทคโนโลยีที่จำเป็นต่อการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ควบคู่กับความร่วมมือกันระหว่างเอปสัน พันธมิตร คู่ค้า และผู้ใช้งานสินค้าเอปสันทั่วโลก ซึ่งเอปสันได้กำหนดให้ “ความยั่งยืน” เป็นหัวใจของแผนธุรกิจ และทุ่มทรัพยากรสำคัญเพื่อส่งเสริมการสร้างความยั่งยืนมาโดยตลอด ด้วยความเชื่อมั่นว่าเราจะสามารถสร้างอนาคตที่ดีกว่าวันนี้ได้”

21 ตุลาคม 2564


บริษัท มีเดีย เน็ทเวิร์ค จำกัด
138, 140 ซอยอนามัย ถนนศรีนครินทร์ แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ 10250
MEDIA NETWORK Co.,Ltd
138, 140 Soi Anamai Srinakarin Road Suanluang Suanluang Bangkok 10250
Tel. 02 721 4417 Fax. 02 721 5516
E-mail : phototechthailand@gmail.com


ติดต่อโฆษณาหรือข้อมูลเพิ่มเติม
โทร. 02 721 4417 , 097 921 2929 คุณขวัญ

แฟนเพจ Phototech Magazine


ออกแบบโดย touronthai