นักวิจัย ประเมินน้ำท่วมกระทบนาข้าว 3.5 ล้านไร่ แต่คาดการณ์ปีหน้าน้ำอาจน้อย

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สนับสนุนทุนวิจัย แก่ ผศ.ดร.พงษ์ศักดิ์ สุทธินนท์ ภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิจัยภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม แผนการบริหารจัดการน้ำ ปีที่ 1 งานวิจัยเข็มมุ่ง ประเมินความเสียหายของข้าวจากน้ำท่วม เผยกระทบพื้นที่ภาคอีสานมากที่สุด ตามด้วยภาคกลาง และภาคเหนือตามลำดับ แต่อนาคตคาดน้ำน้อย ห่วงประชาชนจำนวนมากกลับต่างจังหวัด หวังทำการเกษตร กระทบเศรษฐกิจอีกรอบ


 

แม้ว่าภาพรวมในช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม ประเทศไทยจะเผชิญกับสถานการณ์น้ำท่วม อย่างไรก็ตาม หากมองถึงปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ ซึ่งเป็นเขื่อนหลักที่ส่งน้ำเข้ามาดูแลภาคกลาง รวมถึงกรุงเทพฯ และปริมณฑล กลับมีปริมาณน้ำที่ใช้การได้เพียง 41% และ 24 % เท่านั้น (ข้อมูลจากศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ ณ วันที่ 25 ตุลาคม 2564) ด้วยปริมาณน้ำเพียงเท่านี้ อีกทั้งต้องนำไปใช้ดูแลพื้นที่ปลูกข้าวและพัฒนาเศรษฐกิจของลุ่มน้ำเจ้าพระยาในฤดูแล้งที่กำลังจะมาถึง อาจทำให้ประเทศไทยต้องเผชิญกับภาวการณ์ขาดแคลนน้ำ ส่งผลกระทบต่อความเสียหายทางเศรษฐกิจได้อีกรอบหนึ่ง
 
ประเด็นที่ห่วงใย คือ ประชาชนจำนวนมากกลับไปบ้านเกิดในต่างจังหวัด เนื่องจากไม่มีงานทำในเมืองจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 การเกษตรเป็นความหวังในการสร้างงาน สร้างรายได้ แต่หากในอนาคตที่จะถึงเราไม่มีน้ำในการทำเกษตร ประชาชนที่กลับไปบ้านเกิดจะเดือดร้อนมากขึ้นอีก ควรมีมาตรการรองรับล่วงหน้าไว้ด้วย
 
นอกจากนี้ งานวิจัยได้ประเมินผลเสียหายจากน้ำท่วม พบว่า นาข้าวเสียหายกว่า 3.5 ล้านไร่คิดเป็น 1.6 หมื่นล้านบาท โดยใช้ข้อมูลจากดาวเทียมที่แสดงพื้นที่น้ำท่วมและพื้นที่เพาะปลูกข้าวในช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคมของปี 2564 ของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบต่อข้าวมากที่สุดคือ ภาคอีสาน น้ำท่วมข้าวประมาณ 2 ล้านไร่ สำหรับภาคกลางและภาคเหนือ นาข้าวที่ถูกน้ำท่วมประมาณ 1 ล้านและ 5 แสนไร่ตามลำดับ อย่างไรก็ตามความเสียหายจะถูกประเมินจากชนิดของข้าว เช่น ข้าวเจ้าในภาคกลาง ข้าวเหนียวในภาคอีสานตอนบน และข้าวหอมมะลิในภาคอีสานตอนล่าง รวมถึงราคาข้าวในแต่ละชนิด ณ ขณะนั้นโดยใช้ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


       


 ผศ.ดร.พงษ์ศักดิ์ สุทธินนท์ เปิดเผยว่า “ ผลการประเมินโดยแบบจำลองตัวแรกที่ถูกพัฒนาขึ้นจากงานวิจัย ที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในปี 2563 ทำให้เราสามารถประเมินความเสียหายของน้ำท่วมได้ โดยภาพถ่ายดาวเทียม มีจุดเด่น คือ มีข้อมูลที่อัพเดตทุกวัน ลดความยุ่งยากในการสำรวจในพื้นที่ที่มีอุปสรรคจากน้ำท่วม เป็นการใช้ข้อมูล BIG DATA ในการบริหารจัดการภัยน้ำที่ทันสมัยในอีกรูปหนึ่ง งานวิจัยมีความตอบโจทย์ตามคำแนะนำของ คณะกรรมการส่วนภูมิภาคของคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCAP ด้านการบริหารจัดการภัยในอนาคตโดยคำนึงถึงความเสียหายทางเศรษฐกิจจากภัยด้วยการออกนโยบายที่ถูกต้องและแม่นยำกับสถานการณ์ นอกจากการดำเนินการวิจัยในครั้งนี้ ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติแล้ว สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. ยังได้ดำเนินการโครงการปรับปรุงระบบประเมินและเชื่อมโยงผลการดำเนินงานตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ ในการประเมินความเสียหายจากอุทกภัยและภัยแล้ง ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการดำเนินงานในระดับนานาชาติ ตามกรอบเซนได, SDGs และ ยุทธศาสตร์ชาติของประเทศไทย อีกเช่นเดียวกัน ”

27 ตุลาคม 2564


บริษัท มีเดีย เน็ทเวิร์ค จำกัด
138, 140 ซอยอนามัย ถนนศรีนครินทร์ แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ 10250
MEDIA NETWORK Co.,Ltd
138, 140 Soi Anamai Srinakarin Road Suanluang Suanluang Bangkok 10250
Tel. 02 721 4417 Fax. 02 721 5516
E-mail : phototechthailand@gmail.com


ติดต่อโฆษณาหรือข้อมูลเพิ่มเติม
โทร. 02 721 4417 , 097 921 2929 คุณขวัญ

แฟนเพจ Phototech Magazine


ออกแบบโดย touronthai