เสวนาแลกเปลี่ยนความรู้ “เขาใหญ่ไปทางไหนดี” กังวลภาวะอันตรายที่อาจจะทำให้เขาใหญ่เสี่ยงต่อการหลุดจากมรดกโลก

คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก สั่งให้ชะลอโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำบริเวณผืนป่ามรดกโลกดงพญาเย็น–เขาใหญ่ทั้ง 7 โครงการออกไปก่อนและให้จัดทำประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) คาดว่าจะใช้เวลา​ 2​ ปี

นางสุนีย์​ ศักดิ์เสือ​ ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ​ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช​ เปิดเผย igreen ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานได้เห็นชอบให้ชะลอโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำบริเวณผืนป่ามรดกโลกดงพญาเย็น–เขาใหญ่ทั้งหมดออกไปก่อน

และให้กรมชลประทานในฐานะเจ้าของโครงการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment-SEA) ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ​ 2​ ปี

สำหรับขั้นตอนและองค์ประกอบการจัดทำ SEA อยู่ระหว่างการกำหนดขอบเขตและรายละเอียดในการศึกษาโดยจะบูรณาการกับหลายหน่วยงาน เช่น กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และกรมอุทยานฯ ตลอดจนภาคประชาชน โดยเน้นการรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

ในการศึกษานอกจากเรื่องผลกระทบในแต่ละด้านแล้ว คณกรรมการชุดดังกล่าวจะต้องเสนอทางเลือกด้วย เมื่อแล้วเสร็จก็จะนำเสนอให้คณะอนุกรรมการมรดกโลกทางธรรมชาติพิจารณาเพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกต่อไป

นอกจากนี้ นางสุนีย์​ กล่าวระหว่างร่วมเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้ภายใต้หัวข้อ “เขาใหญ่ไปทางไหนดี” ณ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เนื่องในโอกาสครบรอบ 60 ปี อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เมื่อวันที่ 22​ มกราคม 2565 ตอนหนึ่งว่า มติที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก​ สมัยสามัญ ครั้งที่ 44 ได้แสดงข้อกังวลภาวะอันตรายที่อาจจะทำให้เขาใหญ่เสี่ยงต่อการหลุดจากมรดกโลก​

ยกตัวอย่างเช่น โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ​ โดยเฉพาะพื้นที่ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่​ ลุ่มน้ำปราจีน​ บางปะกง​ ปลายลุ่มน้ำมูล​ ซึ่งมีข้อเสนอให้พัฒนาแหล่งน้ำ​ 7-8 โครงการรอบเขาใหญ่​ ทั้งใสน้อย-ใสใหญ่​ คลองมะเดื่อ​ คลองพญาธาร​ ประเด็นนี้คณะกรรมการมรดกโลกมองว่าเป็นภัยคุกคาม​ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อคุณค่าในพื้นที่

ประเด็นต่อมาคือ การลักลอบตัดไม้พะยูง​ซึ่งมีชาวต่างชาติลักลอบเข้ามาตัดไม้อย่างต่อเนื่อง​ และที่ผ่านมากรมอุทยานฯ ได้ดำเนินมาตรการอย่างเข้มข้นมาโดยตลอด​ โดยเจ้าหน้าที่เขาใหญ่มีการเดินลาดตระเวนครอบคลุมพื้นที่ถึง​ 70-80% และหัวหน้าอุทยานฯ​ ร่วมเดินลาดตระเวนกับลูกน้องเพื่อเป็นขวัญกำลังใจด้วย

เรื่องที่สามคือ​ กฎหมายใหม่​ที่คณะกรรมการมรดกโลกมองว่าอาจส่งผลกระทบด้านลบต่อพื้นที่หรือไม่​ และสุดท้ายคือประเด็นการท่องเที่ยว​ เนื่องจากเขาใหญ่มีการกระจุกตัวการท่องเที่ยวอย่างหนาแน่น​ จึงอาจต้องบริหารจัดการเพื่อกระจายการท่องเที่ยวไปในอุทยานแห่งชาติรอบข้างด้วย

อย่างไรก็ตาม การประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยสามัญ ครั้งที่ 44 ที่ประเทศจีน จัดขึ้นระหว่างวันที่ 16 - 31 กรกฎาคม 2564 โดยได้มีมติให้ไทยดำเนินการเกี่ยวกับแหล่งมรดกทางธรรมชาติดงพญาเย็น-เขาใหญ่ 6 ข้อ ดังนี้

1.ให้กำหนดนิยามในการบ่งชี้แผนปฏิบัติการ เพื่อให้มั่นใจว่ามีวิธีการตรวจสอบที่เพียงพอในการวัดประสิทธิผลในการดำเนินการตามคำแนะนำขอคณะผู้ติดตามตรวจสอบ (Reactive Monitoring mission) เมื่อปี 2559

2. ให้ดำเนินการติดตามผลอย่างใกล้ชิดว่าการออกกฎหมายใหม่ส่งผลต่อความครบถ้วนสมบูรณ์ของแหล่งอย่างไร และให้แน่ใจว่ามีการใช้มาตรการที่เหมาะสมในการป้องกันการบุกรุกพื้นที่แหล่งอย่างผิดกฎหมาย

3. ให้ดำเนินการเพิ่มเติมเพื่อให้มั่นใจว่ามีมาตรการบรรเทาผลกระทบและการติดตามผลกระทบจากการดำเนินการภายหลังการก่อสร้างเขื่อนห้วยโสมงและทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 304 เพื่อลดผลกระทบต่อคุณค่าความโดดเด่นอันเป็นสากลของเหล่

4. ยินดีที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ยุติการขยายทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 348 และหาทางเลือกอื่นเพื่อทบทวนความจำเป็นและเหมาะสมในการก่อสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำในพื้นที่แหล่ง และการยกเลิกโครงการก่อสร้างเขื่อนลำพระยาธารเพื่อลดผลกระทบทางลบต้อคุณค่าความโดดเด่นอันเป็นสากลของแหล่ง และได้รับรายงานว่ามีการพัฒนาโครงการเขื่อนหลายโครงการในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียง จึงขอย้ำให้ยกเลิกแผนการก่อสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำภายในพื้นที่แหล่งอย่างถาวร

5. ให้ดำเนินการประเมินสิ่งแวดล้อมเชิงกลยุทธ์ (SEA) สำหรับพื้นที่ลุ่มน้ำ รวมถึงแหล่งมรดกโลกเพื่อรายงานแผนการจัดการและแผนการพัฒนาในอนาคตของพื้นที่ลุ่มน้ำ และสำหรับข้อเสนอโครงการก่อสร้างเขื่อนโดยรอบพื้นที่แหล่งมรดกโลกที่อาจส่งผลกระทบต่อคณะค่าความโดดเด่นอันเป็นสากลของแหล่ง ให้ระงับการดำเนินการจนกว่าการประเมินสิ่งแวดล้อมเชิงกลยุทธ์จะแล้วเสร็จ และได้รับการตรวจสอบโดยศูนย์มรดกโลกและสหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ (IUCN)

6. ให้จัดส่งรายงานสถานภาพการอนุรักษ์แหล่งมรดกโลกพื้นที่กลุ่มป่าดงพญาเย็น – เขาใหญ่ และรายงานความก้าวหน้าในการดำเนินงานภายในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลกพิจารณาในการประชุมสมัยสามัญ ครั้งที่ 45 ในปี 2565.

ทั้งนี้ โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำหรือเขื่อนในพื้นที่ป่ามรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่ โดยกรมชลประทานจำนวน 7 แห่ง ซึ่งเข้าข่ายเสี่ยงอันตรายต่อความเป็นมรดกโลก ประกอบด้วย ดังนี้

1. โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยสะโตน จ.สระแก้ว พื้นที่รวม 4,753 ไร่ 2. โครงการอ่างเก็บน้ำคลองมะเดื่อ จ.นครนายก พื้นที่รวม 1,853 ไร่ 3. โครงการอ่างเก็บน้ำใสน้อย-ใสใหญ่ มีพื้นที่ประมาณ 8,500 ไร่.

4.โครงการอ่างเก็บน้ำลำพระยาธาร มีพื้นที่ประมาณ 2,800 ไร่ 5. โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังมืด มีพื้นที่ประมาณ 2,400 ไร่ 6. โครงการอ่างเก็บน้ำคลองบ้านนา มีพื้นที่ประมาณ 1,419 ไร่ และ 7. โครงการอ่างเก็บน้ำคลองหนองแก้ว พื้นที่ประมาณ 133 ล้าน ลบ.ม..

ทั้งนี้ หลังจากกรมชลประทานพยายามผลักดันโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำบริเวณโดยรอบผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ มูลนิธิสืบนาคะเสถียรและเครือข่ายองค์กรอนุรักษ์ได้คัดค้านการผลักดันโครงการมาเป็นระยะเนื่องจากเห็นว่าจะส่งผลกระทบต่อความเป็นมรดกโลก

#ดงพญาเย็นเขาใหญ่ #มรดกโลกทางธรรมชาติ #คัดค้านสร้างเขื่อนเขาใหญ่

24 มกราคม 2565


บริษัท มีเดีย เน็ทเวิร์ค จำกัด
138, 140 ซอยอนามัย ถนนศรีนครินทร์ แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ 10250
MEDIA NETWORK Co.,Ltd
138, 140 Soi Anamai Srinakarin Road Suanluang Suanluang Bangkok 10250
Tel. 02 721 4417 Fax. 02 721 5516
E-mail : phototechthailand@gmail.com


ติดต่อโฆษณาหรือข้อมูลเพิ่มเติม
โทร. 02 721 4417 , 097 921 2929 คุณขวัญ

แฟนเพจ Phototech Magazine


ออกแบบโดย touronthai