เที่ยวไป รวยไป... โดย... เอก จักรพรรดิ
“ ระยอง มีของดี... ฮิ! “ คำๆนี้มีมนต์ขลัง ฟังง่ายๆ ถ้าได้ไปแล้วจะรู้ว่าเป็นความจริงทุกกระเบียดอารมณ์
นับแต่โควิดมาเยือนราวสองปี ผมไม่ได้มีโอกาสออกไปสำรวจแหล่งท่องเที่ยวในภาคพื้นเลย ได้แต่เที่ยวทิพย์ในโซเชียลไปวันๆ แต่อารมณ์การลิ้มอรรถรสจากการท่องเที่ยวจริงย่อมแตกต่างกันแน่นอน และเมื่อช่วงวันวาเลนไทน์ในปีนี้ก็ได้รับเชิญจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ( ททท. ) สำนักงานระยอง โดยคุณวัชรพล สารสอน ผู้อำนวยการสำนักงาน ได้จัดให้สื่อมวลชน และเหล่าบรรดาบล็อกเกอร์ สื่อโซเชียลหลากหลายแขนงลงสำรวจพื้นที่เมืองระยองกันอีกครั้งในวันที่ 12-14กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
แน่นอนครับ ...ระยอง... หนึ่งในจังหวัดภาคตะวันออกของประเทศไทย ยังคงเสน่ห์มนต์ขลังมิเสื่อมคลาย เพราะจากที่ได้ลงสัมผัสพื้นที่แล้ว ระยองยังเป็นจังหวัดท่องเที่ยวที่ครบรส ทั้งภูมิทัศน์ สถาปัตยกรรม วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และสินค้าทางการท่องเที่ยวอย่างมากมายที่มีอัตลักษณ์ของพื้นที่ ซึ่งนับได้ว่าเป็นจังหวัดที่สร้างรายได้ให้ประเทศอย่างมหาศาลในยามปรกติ ถึงแม้ว่ารายได้จากการท่องเที่ยวจะลดลงไปบ้างตามสภาวะเหตุการณ์โรคระบาดโควิด-19 ซึ่งเป็นไปทั่วประเทศ และทั่วโลก แต่อีกอุตสาหกรรมหนึ่งที่ระยองยังพอเสริมสร้างรายได้ให้กับครัวเรือน ชุมชนในจังหวัดคือเรื่องของ สินค้าเกษตรกรรม อุปโภค บริโภคต่างๆ ที่ยังพอประทังไปได้ ทั้งผลหมากรากไม้นานาชนิด อาหารทะเลสด อาหารทะเลแปรรูป รวมถึงการกสิกรรมที่มูลค่าสูงบางชนิด ก็นับเป็นความโชคดีของชาวระยอง ที่ไม่ต้องถึงขั้นมีน้ำตานองหน้าเหมือนอีกหลายๆจังหวัดที่กำลังประสบชะตากรรมจากโรคร้ายแรงครั้งนี้
แต่เหมือนเคราะห์ซ้ำกระหน่ำเติม จากวิกฤติการณ์ท่อน้ำมันรั่วบริเวณหาดแม่รำพึงถึงสองครั้งสองครา ตามที่เราๆท่านๆได้รับทราบจากสื่อต่างๆแล้ว ทุกภาคส่วนทั้งรัฐและเอกชนในจังหวัดต่างมิได้นิ่งนอนใจ หาทางแก้ไขสถานการณ์ให้กลับมาสู่ภาวะปรกติโดยเร็ว โดยเฉพาะการกำจัดคราบน้ำมัน และสารพิษต่างๆที่ตกค้างบนผิวน้ำทะเล และหาดทรายบริเวณหาดแม่รำพึง รวมถึงระบบนิเวศน์ในบริเวณใกล้เคียง และหาทางป้องกันมิให้คราบน้ำมันกระจายเป็นวงกว้าง หรือไปกระทบกระเทือนต่อแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ก็ต้องขอชมเชยในความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่ทำให้สถานการณ์กลับคืนสู่สภาวะปรกติในเวลาอันรวดเร็ว เป็นห่วงก็เพียงว่า “ ความวิตก ความกังวล ความกลัว ความไม่แน่ใจ “ ของนักท่องเที่ยว พี่น้องชาวไทยที่มีผลต่อเหตุการณ์ครั้งนี้
ดังนั้นจึงเป็นที่มาของการลงพื้นที่สำรวจแหล่งท่องเที่ยวจริงของเหล่าสื่อมวลชล เพื่อสร้างความมั่นใจ ความสบายใจ และคลายความวิตกกังวลต่างๆให้กับนักท่องเที่ยว ว่าทะเลระยองยังน่ามอง น่าท่องเที่ยว น่ามาสัมผัส ถ้าจะเปรียบแล้วจุดวิกฤติน้ำมันรั่วนั้น นับเป็นเพียงจุดเล็กๆในผืนทะเลระยองที่กว่างใหญ่ โดยจะมีภาพสวยๆ จากเกาะมันนอก เกาะมันกลาง และเกาะมันใน มาฝากกัน รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างสวนพฤกษศาสตร์ระยอง พื้นที่ชุ่มน้ำพร้อมพรรณพืชแปลกๆมากมาย หรือจะเป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าชายเลน บริเวณเจดีย์กลางน้ำ และเพื่อเป็นการยืนยันว่าน้ำทะเลเมืองระยองพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวที่พิสมัยความบริสุทธิ์ จึงทำการลงทะเลดำผุดดำว่าย เพื่อพิสูจน์ความจริงให้เห็นกับตา ดำน้ำเล่นกับปลาที่แหวกว่ายกันอย่างสนุกสนาน
เช้าตรู่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ คณะสื่อของเราก็พร้อมสรรพออกเดินทางมุ่งหน้าสู่จังหวัดระยองกันเลยทีเดียว สายๆหน่อยก็มาถึงที่ทำการของ ททท. สำนักงานระยอง ใกล้ๆตลาดตะพง แหล่งซื้อขายสินค้าทางการเกษตรขึ้นชื่อของเมืองระยอง ระยะทางกรุงเทพฯ – ระยอง บอกได้เลยว่าแค่หนึ่งเพลินก็ถึงแล้ว เดินทางไปมาสะดวกมาก ทางสำนักงาน ททท.ก็มอบหมายให้ท่านรองผู้อำนวยการ คุณสุวรรณา กับน้องกี้ นางแบบประจำสำนักงาน ททท. อีกคนให้การต้อนรับ และจะเป็นลีดเดอร์นำคณะสื่อไปยังจุดต่างๆในทริปนี้ และขอย้ำสักนิดว่าบทความนี้จะมุ่งเน้นให้ท่านได้รู้จักแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ นอกจากเพื่อความสวยงาม สนุกสนาน พักผ่อนหย่อนอารมณ์แล้ว ยังมุ่งเน้นให้ท่านรู้ว่าที่จังหวัดนี้มีอะไรดี เพื่อการค้าการขาย และกระจายรายได้สู่ชุมชน ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะเสริมสร้างฐานรากการอยู่ดีกินดีให้ชุมชน และประเทศชาติอย่างแท้จริง
จุดหมายแรกที่จะไปก็น่าตื่นเต้นแล้ว เพราะเท่าที่เคยได้ยินมาว่า ต้นไม้ที่นี่ต้นหนึ่งเขาขายได้ต้นละแปดหมื่นกว่าบาท ก็ฉงนในใจว่ามันคือต้นอะไร ไม่ใช่กัญชา ไม่ใช่กระท่อมแน่นนอน และแล้วก็ต้องร้องอ๋อ เมื่อได้เดินทางมาถึงสวนหอมมีสุข หรือ มีสุขฟาร์ม แหล่งปลูกไม้กฤษณาสายพันธุ์ดี ไม้ล้ำค่าที่หายากชนิดหนึ่งของโลก และเป็นที่ต้องการของตลาดเป็นอย่างมาก ซึ่งที่นี่พี่แมว หรือคุณพิกุล กิตตพล เป็นประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรผลิตไม้กฤษณา มาให้การต้อนรับ และนำพาเราชมแหล่งเรียนรู้วิถีเกษตรไม้กฤษณา จนถึงกระบวนการผลิตน้ำมันกฤษณาทีมีราคาลิตรละเป็นแสนเป็นล้าน ที่สำคัญเป็นที่ต้องการของตลาดโลก เพราะสรรพคุณของไม้กฤษณานั้นนับได้ว่ามหาศาลเลยทีเดียว ตามคัมภีร์ยาแผนโบราณระบุว่าสรรพคุณของกฤษณาจะมีรสขม ใช้คุมธาตุ เพื่อบำรุงหัวใจ บำรุงปอด บำรุงตับ คลื่นเหียนอาเจียนใช้ได้ หรือจะนำมาทำยานวดก็สามารถใช้บำบัดอาการอักเสบของข้อ คอ บ่า ไหล่ เข่า ออฟฟิศซินโดรม โดยเฉพาะทางประเทศภูมิภาคตะวันออกกลาง อาหรับ ซาอุดิอาราเบีย จะใช้เพื่อป้องกันไรทะเลทรายได้เป็นอย่างดี ขอกระซิบว่าทางวิสาหกิจชุมชนแห่งนี้นำผลิตภัณฑ์จากกฤษณาส่งออกไปจำหน่ายทั่วโลกแล้วกว่า 20 ประเทศ นี่แหละที่เรียกว่าสมุนไพรกู้ชาติตัวหนึ่งของเมืองไทยเลยทีเดียว ท่านใดที่เห็นช่องทางธุรกิจ หรือมีช่องทางติดต่อต่างประเทศ นี่คือโอกาสสำคัญ
อีกจุดหนึ่งที่ไม่เป็นสองรองใคร คือ “ จักสานบ้านกวี “ บ้านมาบเหลาชะโอน ต.ชากพง อ.แกลง จ.ระยอง ดูทีแรกเหมือไม่มีอะไร พอดูๆไปมีอะไรในกลุ่มแม่บ้านฯนี้เยอะมาก เพราะเขาใช้ต้นทุนทางธรรมชาติ จากต้นกก หรือกระจูด ที่มีถึง 3,800 กว่าไร่ มาร้อยเรียงถักทอ ใส่ภูมิปัญญาทางศิลปะเข้าไปในชิ้นงาน กระทั่งออกมาเป็นงานฝีมือที่สร้างมูลค่าสร้างรายได้ให้กลุ่มเป็นอย่างมาก ทั้งขายในประเทศ และส่งออกไปยังต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นกระเป๋าเก๋ๆ รองเท้าแตะงามๆ หมวกเท่ๆ กระบุง ชะลอมสารพัดประโยชน์และอีกมากมาย ถึงขั้นที่ว่าบริษัทผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของไทยยังสั่งเป็นของชำร่วยให้ทางกลุ่มสานเป็นกระเช้าของขวัญเพื่อบรรณาการแก่คู่ค้า รวมถึงมีออเดอร์จากประเทศญี่ปุ่นสั่งไปจำหน่ายทีละหลายตู้คอนเทนเนอร์ที่เดียว หลังจากที่ได้ดู และสัมผัสผลงานของกลุ่มแม่บ้านที่มาสาธิตให้เราดูแล้ว ขอบอกว่ามันเป็นมรดกทางภูมิปัญญาจริงๆ ไม่มีใครลอกเลียนแบบได้
ใครที่มีช่องทางขายของออนไลน์ โดยเฉพาะช่องทางอีเบย์ อเมซอน ที่กลุ่มลูกค้าต่างประเทศปลายทางชอบงานฝีมือและเป็นเอกลักษณ์ อยากให้ลองไปชมผลงานดู รับประกันได้ว่าคุณจะตาโตกับลวดลายที่เหล่าบรรดายายๆท่านได้นั่งประดิษฐ์ประดอยชิ้นงานจน คุณสามารถทำมาร์จิ้นได้เป็น 10 เท่าของราคาทุน บางทีที่นี่ “ จักสานบ้านกวี “ อาจเป็นขุมทรัพย์ใหม่ที่เป็นคลังสมบัติของผู้ที่ค้าขายออนไลน์ก็เป็นได้
เมืองไทย มีดี เที่ยวไป รวยไป... สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) สำนักงานระยอง โทรศัพท์ 0 3865 5420-1
วิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรผลิตไม้กฤษณา มีสุขฟาร์ม โทรศัพท์ 081-889-0331
กลุ่มจักสานกระจูด บ้านมาบเหลาชะโอน โทรศัพท์ 086-045-3938
20 กุมภาพันธ์ 2565