รฟท. เดินหน้าพัฒนาโครงข่ายรถไฟ เชื่อมโยงทุกการเดินทางเซฟเวลา เซฟพลังงาน เซฟค่าใช้จ่าย

      การรถไฟแห่งประเทศไทย ก้าวเข้าสู่ปีที่ 125 เดินหน้าพัฒนาโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟอย่างต่อเนื่อง เร่งผลักดันให้ “การขนส่งทางราง” เป็นระบบหลักในการเดินทางและขนส่งของประเทศ เพื่อก้าวเป็นศูนย์กลางด้านการคมนาคมขนส่งที่มีความทันสมัยในภูมิภาคอาเซียน เสริมสร้างโอกาสทางการค้าการลงทุน และการท่องเที่ยว เชื่อมโยงโครงข่ายการเดินทางให้ครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาค

ปัจจุบันการรถไฟฯ มีโครงข่ายทางรถไฟ ประมาณ 4,346 กิโลเมตร รวมถึง “โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง” และก่อสร้าง “โครงการรถไฟทางคู่” เพิ่มเติมพร้อมใช้งานแล้ว โดยมีการเพิ่มศักยภาพด้วยการปรับปรุงรางขยายทางให้เป็นทางคู่ เพื่อให้ทำความเร็วได้มากขึ้น ลดเวลาเดินทาง รองรับจำนวนผู้โดยสาร และปริมาณการขนส่งสินค้าที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต สำหรับโครงการรถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วนอีก 5 เส้นทางที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2565  ขณะที่รถไฟทางคู่ระยะที่ 2 อีก  7 เส้นทาง ระยะทาง 1,479 กิโลเมตร อยู่ระหว่างการเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติโครงการ  

การก่อสร้าง “โครงการรถไฟความเร็วสูง” ของไทย การรถไฟฯ ได้มีแผนการดำเนินงานแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว  โดยระยะเร่งด่วนสายสำคัญคือ รถไฟความเร็วสูง ระยะเร่งด่วน ช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา  โดยล่าสุดก่อสร้างแล้วเสร็จ 1 สัญญา  คือช่วงกลางดง-ปางอโศก และยังมีช่วงกรุงเทพฯ – พิษณุโลก  และช่วงนครราชสีมา – หนองคาย  ส่วนระยะกลาง และระยะยาว อยู่ระหว่างการออกแบบรายละเอียดโครงการ  

ส่วนการส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก และนำความเจริญเข้าสู่พื้นที่ EEC ในเส้นทาง การรถไฟฯได้ดำเนินการ “โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน”  เป็นการเชื่อมโยงระหว่างท่าอากาศยานหลักของประเทศ ช่วงดอนเมือง – สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา – ระยอง   

ในช่วงที่ผ่านมาการเปิดให้บริการ “สถานีกลางบางซื่อ” จึงเป็นการเชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคมทุกรูปแบบ ทั้งทางบก ทางราง และทางอากาศนับเป็นอีกหนึ่งทางเลือก ในการเดินทางของประชาชน ที่ตอบโจทย์ทุกความต้องการ ทั้งขบวนรถไฟทางไกล รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง รถไฟนำเที่ยวในวันหยุด โครงการรถไฟทางคู่ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย – จีน ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนารูปแบบการเดินทางระบบรางไปสู่อนาคต  

 สถานีกลางบางซื่อ ถือเป็นศูนย์กลางการเดินทางที่ทันสมัย มีศักยภาพเทียบเท่าสถานีรถไฟชั้นนำของโลก เป็นสถานีรถไฟหลักแห่งใหม่ของไทย ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางระบบรางที่สำคัญที่สุดของประเทศไทย ด้วยการใช้หลักอารยสถาปัตย์ หรือ Universal Design ทั้งในบริเวณสถานีและตู้โดยสารรถไฟ ให้ผู้โดยสารทุกคนใช้บริการได้อย่างสะดวก ปลอดภัย ทันสมัย และเท่าเทียม มีการนำเทคโนโลยี 5G เต็มรูปแบบมาพัฒนาให้เป็นสถานีอัจฉริยะ ยกระดับคุณภาพในการให้บริการขนส่งผู้โดยสารที่อยู่อาศัยในพื้นที่ชานเมือง ให้สามารถเดินทางสู่ใจกลางกรุงเทพด้วยระบบรางที่ สะดวก รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ และยังเป็นการป้อนผู้โดยสารเข้าสู่โครงข่ายระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนอื่นในเขตกรุงเทพมหานคร ช่วยแก้ไขปัญหารถติดบนท้องถนน

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันสามารถเห็นรูปแบบการเดินทางระบบรางทั้งในเมืองและนอกเมืองที่เปลี่ยนไป อาทิ การเปิดให้บริการเดินรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ช่วยแก้ไขปัญหาจราจรติดขัดและลดระยะเวลาในการเดินทางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยใช้เวลาเดินทางจากสถานีกลางบางซื่อถึงสถานีรังสิตเพียง 25 นาที และจากสถานีกลางบางซื่อถึงสถานีตลิ่งชัน เพียง 15 นาที อัตราค่าโดยสารอยู่ที่ 12-42 บาท เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อการก่อสร้างรถไฟทางคู่โครงข่ายรถไฟทั้งทางไกล รถไฟความเร็วสูง  โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ขยายเส้นทางครอบคลุมทุกพื้นที่ของไทยแล้ว นอกจากจะช่วยเพิ่มความสะดวกสบาย ยังช่วยลดระยะเวลาในการเดินทาง ช่วยสร้างโอกาสพัฒนาเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวให้กับชุมชน เป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการขนส่งสินค้า ยกระดับให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ของภูมิภาคได้ในอนาคต  

สามารถคลิ๊กเข้าไปดูได้ที่ https://youtu.be/cOctBVuMvn8

29 มีนาคม 2565


บริษัท มีเดีย เน็ทเวิร์ค จำกัด
138, 140 ซอยอนามัย ถนนศรีนครินทร์ แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ 10250
MEDIA NETWORK Co.,Ltd
138, 140 Soi Anamai Srinakarin Road Suanluang Suanluang Bangkok 10250
Tel. 02 721 4417 Fax. 02 721 5516
E-mail : phototechthailand@gmail.com


ติดต่อโฆษณาหรือข้อมูลเพิ่มเติม
โทร. 02 721 4417 , 097 921 2929 คุณขวัญ

แฟนเพจ Phototech Magazine


ออกแบบโดย touronthai