องค์กร PPP เร่งขับเคลื่อน Road Map ร่วมแก้ไขจัดการขยะพลาสติกในทะเล

       โครงการความร่วมมือภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม เพื่อจัดการพลาสติกและขยะอย่างยั่งยืน (PPP Plastics) ภายใต้การนำขององค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) ร่วมกับ กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ องค์กรภาคีเครือข่ายจากทุกภาคส่วนที่เป็นผู้นำด้านการกำหนดนโยบายและกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการจัดการพลาสติกของประเทศไทยทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม ได้จัดงานแถลงข่าวผลงานและบทบาท PPP Plastics ร่วมแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกของประเทศไทย ณ โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ และ ผ่านทาง Facebook Live เพจของสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมผนึกกำลังในการขับเคลื่อนโครงการให้สำเร็จบรรลุเป้าหมายหลักในการสนับสนุนการขับเคลื่อน Roadmap การจัดการขยะพลาสติก เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่จะลดปริมาณขยะพลาสติกในทะเลไทยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ภายในปี พ.ศ. 2570 บนพื้นฐานของการจัดการขยะอย่างยั่งยืนตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) นอกจากนี้ PPP Plastics ยังร่วมสนับสนุนการดำเนินงานตามวาระแห่งชาติ BCG Model โดยภายในงานครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ มาร่วมกล่าวแสดงความยินดีและปาฐกถาบทบาทภาครัฐในการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกของประเทศร่วมกับภาคธุรกิจไทยนอกจากนี้ ยังได้รับเกียรติจาก นายวิรัช เกลียวปฏินนท์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มาร่วมงานในฐานะที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเป็นองค์กรร่วมก่อตั้งโครงการ PPP Plastics ร่วมกับองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) พร้อมทั้ง ได้ร่วมกล่าวถึงบทบาทภาคอุตสาหกรรมไทยในการร่วมมือขับเคลื่อน Road Map การจัดการขยะพลาสติก เพื่อให้ทุกท่านได้รับทราบถึงแนวทางบทบาทของภาคอุตสาหกรรมไทย

ดร.วิจารย์ สิมาฉายา
ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และเลขาธิการองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

โดยในช่วงพิธีเปิดและแถลงข่าวผลงานและบทบาท PPP Plastics ร่วมแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกของประเทศไทยได้รับเกียรติจากผู้บริหารทั้ง 3 ท่านจาก 3 หน่วยงานหลัก ในการร่วมขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกของประเทศไทย ได้แก่ ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และเลขาธิการองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในฐานะประธาน PPP Plastics มากล่าวต้อนรับและกล่าวว่า “บทบาท PPP Plastics กับการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกของประเทศไทยผ่านการดำเนินงานทั้งในระดับนโยบายและการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เริ่มตั้งแต่การสร้างต้นแบบโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นการสร้างต้นแบบการบริหารจัดการพลาสติกใช้แล้วตั้งแต่ต้นทางและครอบคลุมเรื่องระบบและนวัตกรรมที่จะช่วยนำพลาสติกเหล่านั้นกลับมาใช้ประโยชน์ได้ใหม่ตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปใช้ต่อยอดและขยายผลในระดับประเทศได้ ผ่านโครงการนำร่องทั้งในพื้นที่กรุงเทพ เพื่อเป็นการสร้างต้นแบบการบริหารจัดการขยะให้กับชุมชนเมืองอื่น ๆ ได้ทั่วประเทศ และจังหวัดระยอง เพื่อมุ่งสร้างระยองให้เป็นต้นแบบจังหวัดที่มีการจัดการพลาสติกที่ยั่งยืน การพัฒนานโยบายและกฎหมาย ได้ร่วมเป็นคณะทำงานทั้ง 3 ชุดภายใต้คณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่รัฐบาลตั้งขึ้นภายใต้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อร่วมกำหนดมาตรการและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการขยะพลาสติก รวมทั้ง ได้มีการจัดทำฐานข้อมูลขยะพลาสติกของประเทศไทย ตามแนวคิด Material Flow Analysis สำหรับใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงสำคัญของประเทศ ตลอดจนใช้เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการนำเสนอในระดับนานาชาติได้ นอกจากนี้ PPP Plastics ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาหลักสูตร Circular Economy สำหรับอุดมศึกษาในทุกมหาวิทยาลัยทั่วประเทศไทย และด้านนวัตกรรมภาคอุตสาหกรรมได้มีการดำเนินงานโครงการถนนพลาสติกรีไซเคิลเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับการทำถนนของประเทศไทยที่แข็งแรงและตอบโจทย์การส่งเสริมการบริหารจัดการขยะอย่างถูกวิธีและการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า”

นายวิรัช เกลียวปฏินนท์
ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

นายวิรัช เกลียวปฏินนท์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ให้ความสำคัญกับการจัดการปัญหาพลาสติกและขยะในประเทศไทย ภายใต้นโยบายสภาอุตสาหกรรมฯ One FTI. ที่มีแนวทางในการขับเคลื่อนให้ 45 กลุ่มอุตสาหกรรม 11 คลัสเตอร์ 74 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด เข้าสู่การพัฒนาธุรกิจ ด้วยรูปแบบ BCG Model มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มจากทรัพยากร ให้เกิดประโยชน์สูงสุด นอกจากนี้ยังมีการดำเนินโครงการที่เกี่ยวกับ BCG โดยเฉพาะโครงการเพื่อพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการขยะให้ครบวงจรที่สอดคล้องกับทิศทางเทคโนโลยีในอนาคตอยู่หลายโครงการ รวมถึง การร่วมผนึกกำลังร่วมกับ PPP Plastics ที่ดำเนินโครงการมาอย่างเข้มแข็งด้านการจัดการพลาสติกและขยะอย่างยั่งยืนควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล โดยหวังว่าการร่วมกับขับเคลื่อนด้านการจัดการแก้ไขปัญหาพลาสติกและขยะที่สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในครั้งนี้ จะนำไปสู่การสร้างวิสัยทัศน์ร่วมกัน และสร้างแรงผลักดันเชิงบวกที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรรค์ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนของคนในสังคมต่อไปในอนาคต”

นายอรรถพล เจริญชันษา
อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.)

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า “ปี 2564 ประเทศไทยมีขยะพลาสติกเกิดขึ้น 2.76 ล้านตัน มีการนำกลับไปใช้ประโยชน์เพียง 20% ส่วนที่เหลืออีก 77% ถูกทิ้งรวมเพื่อนำไปกำจัดกับขยะทั่วไป และ 3% ไม่ได้รับการจัดการทำให้ตกค้างในสิ่งแวดล้อมส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตทั้งบนบกและในทะเล ปัจจุบันขยะพลาสติกเป็นปัญหาที่ทั่วโลกกำลังตื่นตัวในการที่จะร่วมกันแก้ไขปัญหา โดยประเทศไทยมี Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 – 2573 และแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2563 – 2565) ที่ใช้เป็นทิศทางในการขับเคลื่อนการดำเนินงานแบบบูรณาการระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต การจำหน่าย การบริโภค และการจัดการ ณ ปลายทาง เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกทั้งทางบกและทะเลให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยเป้าหมายสูงสุด คือ “ขยะ” ต้องไม่ใช่ “ขยะ” เพื่อป้องกันไม่ให้ขยะพลาสติกเล็ดลอดสู่ธรรมชาติ มุ่งเน้นจัดการ ณ ต้นทาง สร้างมูลค่าในห่วงโซ่การจัดการพลาสติก และประชาชนต้องให้ความร่วมมือเริ่มต้นที่ใช้ให้น้อยที่สุด ทิ้งให้ถูกที่ กำจัดอย่างถูกวิธี คัดแยก และนำไปใช้ประโยชน์ในได้มากที่สุดเพื่อให้เกิดการจัดการขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน”

นอกจากนี้ ภายในงานแถลงข่าวได้มีการจัดพิธีส่งมอบตำแหน่งประธานโครงการ PPP Plastics ระหว่าง ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ในนามองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) ในฐานะประธานโครงการ PPP Plastics ซึ่งได้ดำรงตำแหน่งประธานฯ มาตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2563 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งได้ครบตามระเบียบวาระประธานที่กำหนดไว้ 2 ปี โดยเมื่อครบวาระจะมีการสลับกันระหว่างผู้แทนจากกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กับผู้แทนจากองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในฐานะที่ทั้ง 2 องค์กรเป็นหน่วยงานหลักในการริเริ่มก่อตั้งโครงการ PPP Plastics ให้กับ นายภราดร จุลชาต ในนามกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อสานต่อและขยายผลการดำเนินงานของ PPP Plastics ให้สำเร็จบรรลุเป้าหมายหลักทั้งในระดับนโยบายและการปฏิบัติในการสนับสนุนการขับเคลื่อน Roadmap การจัดการขยะพลาสติก โดยมีผู้บริหารระดับสูงจากภาครัฐและภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีส่งมอบตำแหน่งประธานโครงการ PPP Plastics ในครั้งนี้อีกด้วย และเพื่อเป็นการแสดงออกถึงพลังความมุ่งมั่นขององค์กรภาคธุรกิจไทย ผู้บริหารจากองค์กรสมาชิก PPP Plastics จึงได้ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์เพื่อร่วมสนับสนุนการขับเคลื่อนโครงการฯ ให้ตอบโจทย์ทิศทางการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกของประเทศ อันเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของสังคมไทยให้ก้าวไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำและการพัฒนาที่ยั่งยืน ในช่วงการเสวนา หัวข้อ “ต้นแบบโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียนกับการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกของประเทศไทย” เป็นการนำเสนอข้อมูลกิจกรรมและโครงการต่าง ๆ ภายใต้ PPP Plastics ที่ร่วมสนับสนุนการขับเคลื่อน Roadmap การจัดการขยะพลาสติก โดยผู้รับผิดชอบแต่ละโครงการ ดังนี้

นายวีระ ขวัญเลิศจิตต์ กล่าวว่า “โครงการพัฒนาแบบแผนธุรกิจ (Business Model) สำหรับการบริหารจัดการขยะพลาสติกหลังการใช้โดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ในพื้นที่เขตเมืองชั้นใน เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และ PPP Plastics โดยดำเนินงานร่วมกับ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด และ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อศึกษาพฤติกรรมของประชาชนในพื้นที่เขตเมืองชั้นใน ต่อการคัดแยกขยะ เพื่อนำมาพัฒนาเป็นโมเดลการจัดการขยะ พร้อมทั้ง สนับสนุนองค์ประกอบอื่น ๆ เพื่อเป็นส่วนช่วยในการพัฒนาโมเดลดังกล่าว เช่น การพัฒนา Digital Platform และ การพัฒนา Sorting Hub ในพื้นที่ เป็นต้น”

นายคงศักดิ์ ดอกบัว กล่าวว่า “โครงการ AEPW – Thai PPP Bangkok Project เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุน จาก Alliance to End Plastics Waste มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาระบบการจัดเก็บและคุณภาพของของขยะด้วย Digital Platform ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปัจจัยในการพัฒนาโครงสร้างการจัดการขยะพลาสติก พร้อมทั้ง ส่งเสริมหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนให้กับองค์กรในรูปแบบต่าง ๆ ในพื้นที่เขตคลองเตย ดำเนินการโดย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และมีสถาบันพลาสติกเป็นผู้จัดการโครงการ โดยได้นำเสนอภาพรวมการดำเนินงานของโครงการและการพัฒนา Infrastructure ต่าง ๆ ของโครงการด้วย”

นางสมจิตต์ นิลถนอม กล่าวว่า “โครงการ “Rayong Less-Waste” (ระยอง เลสเวสท์) เป็นโครงการที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก Alliance To End Plastic Waste เพื่อต่อยอดความสำเร็จโมเดลการจัดการพลาสติกและขยะอย่างยั่งยืนในระดับชุมชนและการให้ความรู้ในโรงเรียน ด้วยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนครอบคลุมครบทั้งจังหวัดระยอง โดยผู้ว่าราชการจังหวัดระยองได้ประกาศนโยบายสนับสนุนเต็มที่ รวมถึง การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน อาทิ ท้องถิ่นจังหวัดระยอง สำนักทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และพันธมิตรในทุกภาคส่วนที่ช่วยผลักดันและยกระดับให้จังหวัดระยองเป็นต้นแบบการจัดการขยะที่ยั่งยืน ปัจจุบันโครงการมีการจัดทำ MOU ร่วมกับเทศบาลไปแล้วกว่า 35 อปท และ มีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการกว่า 228 โรงเรียน โดยมีการดำเนินงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง มีการจัดทำรายงานปริมาณพลาสติกและขยะที่คัดแยกได้ของแต่ละเทศบาลอย่างเป็นระบบและกำลังขยายผลไปสู่โรงเรียนตามลำดับ”

ดร.อรทัย พงศ์รักธรรม กล่าวว่า “โครงการ มือวิเศษ คูณ วน เป็นโครงการที่ดำเนินการรวบรวมถุงและบรรจุภัณฑ์ฟิล์มพลาสติกที่สะอาด แห้ง และยืดได้จำนวน 12 ชนิด โดยมีจุด Drop Point จำนวนรวมกว่า 300 จุด ทั้งในกรุงเทพมหานครและเขตปริมณฑล จังหวัดระยองและชลบุรี เพื่อรวบรวมพลาสติกกลับเข้ามาสู่กระบวนการรีไซเคิลและนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน ตามวาระแห่งชาติ BCG Model และตอบสนองต่อเป้าหมาย Roadmap การจัดการพลาสติกของประเทศ โดยได้เริ่มดำเนินงานโครงการฯ ตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2563 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งจากผลการดำเนินงานที่ผ่านมาทางโครงการฯ ได้รับปริมาณน้ำหนักเศษพลาสติกที่เก็บรวบรวมได้ทั้งโครงการจำนวน 27,037 กิโลกรัม ซึ่งจากการดำเนินงานโครงการฯ สามารถช่วยลดภาวะโลกร้อน คำนวณลด CO2 Emission ได้ 24,000 กิโลกรัม (ข้อมูล ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2565) รวมถึง รายได้ที่ได้จากการรีไซเคิลพลาสติกสะอาดที่ได้รับจากโครงการกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลจำนวนเงิน 136,400 บาท มอบให้กับ “ศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากสิรีธาร” โดยได้ทำพิธีมอบเงินบริจาคภายในงานวันทะเลโลก ประจำปี 2565 เมื่อวันพุธที่ 8 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา ณ บริเวณสวนสาธารณะ ลานโลมาชาย หาดป่าตอง จังหวัดภูเก็ต ให้กับ “ศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากสิรีธาร” ภายใต้การดำเนินงานของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายาก คืนความสมบูรณ์ให้กับระบบนิเวศในท้องทะเลไทย”

นายประวิทย์ พรพิพัฒน์กุล กล่าวว่า “คณะทำงาน PPP Plastics มีภารกิจที่จะสนับสนุนให้เกิดนวัตกรรมเพื่อแก้ไขหรือลดปัญหาขยะพลาสติกที่จะถูกปล่อยลงทะเล ตามแนวทางของ Roadmap ประเทศไทยที่มุ่งนำพลาสติกที่ใช้แล้วกลับไปใช้ประโยชน์ จึงได้ดำเนินการขอทุนสนับสนุนจาก Alliance to End Plastic Waste (AEPW) และได้รับความร่วมมือจากทีมงานผู้เชี่ยวชาญจากภาควิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อร่วมผลักดันให้มีการใช้เศษพลาสติก เป็นส่วนหนึ่งของวัตถุดิบในการสร้างถนนยางมะตอยที่มีความแข็งแรง โดยไม่เกิดปัญหากับสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 PPP Plastics โดยสภาอุตสาหกรรมฯ จึงได้ร่วมกันลงนามในสัญญา Tri-Party Contract ในโครงการ Recycled Plastics in Roads Study กับทาง AEPW” ภายใต้สัญญา Tri-Party Contract มีการแบ่งงานออกเป็น 2 Phase โดย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ทำงานวิจัยในห้องปฏิบัติการเสร็จสิ้นสำหรับ Phase-1 พบว่าการใช้เศษพลาสติกในสัดส่วนที่กำหนด เคลือบที่ผิวของกรวดก่อนที่จะผสมกับยางมะตอยในการทำถนน Asphalt Concrete สามารถช่วยให้ถนนมีความแข็งแรงกว่าเดิม โดยไม่เกิดปัญหาของการปลดปล่อยไมโครพลาสติกออกสู่สิ่งแวดล้อมทั้งในช่วงการก่อสร้างและการใช้งาน รวมทั้งสามารถนำเศษของวัสดุหลังจากรื้อถนนเมื่อใช้งานไปแล้วนำกลับมาวนใช้สร้างถนนใหม่ในสัดส่วนประมาณ 10% ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาจากผู้ให้ทุนวิจัยว่า จะขยายงานวิจัย ไปสู่ Phase-2 ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี โดยจะทำการศึกษาเก็บข้อมูลจากถนนต้นแบบเพื่อเก็บข้อมูลจากสภาวะการใช้งานจริง โดยใช้หัวข้อเดียวกันกับ Phase-1 และสรุปผลการศึกษาในเชิงการปฏิบัติสำหรับเผยแพร่องค์ความรู้ที่ได้นี้ ไปยังหน่วยงานต่างๆที่อยู่ในเครือข่ายของ AEPW และหน่วยงานอื่นๆทั่วโลก ที่มีความสนใจที่จะนำความรู้นี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการปรับเปลี่ยนเข้าสู่ยุคของเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างแท้จริง

PPP Plastics โดยสภาอุตสาหกรรมฯ จะทำหน้าที่ดำเนินโครงการร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการบริหารจัดการโครงการ, การจัดหาเศษพลาสติกเพื่อใช้ในงานวิจัย, การศึกษาในเรื่องของปริมาณและส่วนผสมของเศษพลาสติกที่เหมาะสมในประเทศไทย, การจัดทำแนวทางในการเตรียมเศษพลาสติกเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการสร้างถนนยางมะตอย, การสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกรมทางหลวง หรือกรมทางหลวงชนบท ในการจัดให้มีการสร้างถนนต้นแบบเพื่อการสาธิต รวมถึง การจัดให้มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นจากโครงการในประเทศไทยกับองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นจากโครงการในต่างประเทศซึ่งอยู่ในเครือข่ายของ AEPW ทั้งนี้ ทาง AEPW ร่วมกับ PPP Plastics โดยสภาอุตสาหกรรมฯ ยังมีเป้าหมายเพิ่มเติมที่จะขยายการศึกษา ร่วมกับมหาวิทยาลัยในประเทศเวียดนาม ให้พร้อมที่จะขยายผลการทำวิจัยกับถนนสาธิตในประเทศเหล่านั้น ในอนาคตอันใกล้นี้” ท้ายสุดนี้ ขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนช่วยกันผลักดันให้สังคมไทยให้เกิดความยั่งยืนในทุกมิติ ทั้งด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ และด้านสิ่งแวดล้อม บนพื้นฐานของการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุล และร่วมสนับสนุนให้ประเทศไทยก้าวไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ อันจะเป็นรากฐานสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

15 มิถุนายน 2565


บริษัท มีเดีย เน็ทเวิร์ค จำกัด
138, 140 ซอยอนามัย ถนนศรีนครินทร์ แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ 10250
MEDIA NETWORK Co.,Ltd
138, 140 Soi Anamai Srinakarin Road Suanluang Suanluang Bangkok 10250
Tel. 02 721 4417 Fax. 02 721 5516
E-mail : phototechthailand@gmail.com


ติดต่อโฆษณาหรือข้อมูลเพิ่มเติม
โทร. 02 721 4417 , 097 921 2929 คุณขวัญ

แฟนเพจ Phototech Magazine


ออกแบบโดย touronthai