นักเรียนทุนอานันทมหิดล สาขาทันตแพทยศาสตร์ ต่อยอดความรู้ สู่งานบริการสังคม ด้วยผลงานวิจัยด้านทันตนวัตกรรม
มูลนิธิทันตนวัตกรรมฯ นำทีมนักเรียนทุนอานันมหิดล สาขาทันตแพทย์ ต่อยอดความรู้ สู่งานบริการสังคม ด้วยผลงานวิจัยด้านทันตนวัตกรรม ด้วยพระมหากรุณาธิคุณ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ที่ได้พระราชทานทุนอานันทมหิดล มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2498 และต่อมาได้พระราชทานทุนอานันทมหิดล แผนกทันตแพทยศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ. 2535 เป็นต้นมา ปัจจุบันมีนักเรียนทุนอานันทมหิดล สาขาทันตแพทย์ทั้งสิ้น จำนวน 30 คน ซึ่งบางส่วนได้มาร่วมพัฒนานวัตกรรมกับมูลนิธิทันตนวัตกรรม ในพระบรมราชูปถัมภ์ Social service เพื่อแก้ปัญหาทางด้านทันตกรรมให้กับประชาชน
ทั้งนี้ ศาสตราจารย์พิเศษ ทันตแพทย์หญิง ท่านผู้หญิงเพ็ชรา เตชะกัมพุช ประธานมูลนิธิทันตนวัตกรรม ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ท่านทรงทราบว่า ในช่วงแรกทันตแพทย์ยังไม่ได้รับพระราชทานทุนอานันทมหิดล ท่านก็รับสั่งว่าทันตแพทย์เป็นวิชาชีพที่มีความสำคัญ มีประโยชน์ต่อสังคม ทันตแพทย์ก็เป็นแพทย์เหมือนกัน ท่านจึงพระราชทานทุนให้ โดยรับสั่งกับคณบดีว่า “เวลาเลือกผู้รับทุนอย่าเลือกแต่คนเก่งอย่างเดียว ให้เลือกคนดีด้วย” ซึ่งปัจจุบันทางมูลนิธิฯ ได้วางแนวทางไว้ว่า โครงการของมูลนิธิฯ ควรให้มีนักเรียนทุนอานันทมหิดล มาร่วมค้นคว้าวิจัยด้วย
รศ.ทพญ.ดร.อรุณวรรณ หลำอุบล
ภาควิชาศัลยศาสตร์และเวชศาสตร์ช่องปาก
คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
รศ.ทพญ.ดร.อรุณวรรณ หลำอุบล ภาควิชาศัลยศาสตร์และเวชศาสตร์ช่องปาก คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ หนึ่งในผู้ได้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล แผนกทันตแพทย์ศาสตร์ ให้ไปศึกษาต่อที่ The University of Iowa สหรัฐอเมริกา ในสาขาพยาธิวิทยาช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล และทำวิจัยในระดับปริญญาเอก โดยที่มุ่งเน้นศึกษาเรื่องของกลไกการเกิดโรคมะเร็งช่องปากกล่าวว่า ทุนที่พระองค์ท่านให้ก่อเกิดประโยชน์กับคนมากกว่าหนึ่งคน แล้วก็ได้ให้กับประชาชนของพระองค์ท่านในวงกว้าง ซึ่งในฐานะที่ตนเองเป็นอาจารย์ก็ถ่ายทอดความรู้ให้กับนิสิตทันตแพทย์ที่เราสอนในหลายๆ มหาวิทยาลัย และในฐานะทันตแพทย์ก็ได้นำความรู้ที่ได้มาดูแลรักษาผู้ป่วยด้วย
รศ.ทพญ.ดร.อรุณวรรณ กล่าวต่อว่า ได้ทำวิจัยร่วมกับ รศ.ทพญ.ดร.ดุลยพร ตราชูธรรม จากสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยหลัก ๆ ที่ร่วมกันพัฒนาขึ้นมาก็คือเจลลี่โภชนาซึ่งเป็นอาหารสำหรับผู้ป่วยมะเร็งช่องปาก นอกจากนี้ยังได้นำความรู้จากโครงการเจลลี่โภชนามาต่อยอดมาเป็นน้ำลายเทียมชนิดเจลเพื่อช่วยผู้ป่วยและผู้สูงวัยที่ประสบปัญหา ปากแห้ง น้ำลายน้อย
รศ.ทพญ.ดร.วลีรัตน์ ศุกรวรรณ
ประจำภาควิชาทันตแพทย์สำหรับเด็ก
คณะทันตแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รศ.ทพญ.ดร.วลีรัตน์ ศุกรวรรณ ประจำภาควิชาทันตแพทย์สำหรับเด็ก คณะทันตแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักเรียนทุนอานันทมหิดล สาขาทันตแพทย์อีกท่านหนึ่ง กล่าวว่า ได้รับพระราชทานทุนไปเรียนต่อในสาขาชีววิทยาช่องปาก ในระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา (University of North Carolina) ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และได้ศึกษาดูงานเกี่ยวกับทันตกรรมสำหรับเด็กว่ามีเทคนิคหรือว่ามีอะไรเพิ่มเติมจากที่เราทำกันอยู่ในประเทศ ซึ่งศาสตราจารย์ที่ไปอยู่ด้วยกำลังทำการศึกษาเรื่องเกี่ยวกับการแสดงออกของยีนต์ที่เกี่ยวข้องกับตัวมะเร็งชนิดหนึ่งในช่องปาก ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ได้รับการยอมรับอยู่ในเวลานั้น
การพระราชทานทุนอานันทมหิดลทำให้ทันตแพทย์ที่มีความรู้ความสามารถได้ไปเล่าเรียนจนถึงศาสตร์ที่สูงสุดที่อยากจะเรียน แล้วจึงนำความรู้ความสามารถเหล่านั้นกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์เป็นสิ่งที่มีคุณค่า แล้วยังเป็นการส่งต่อความรู้ สร้างแรงบันดาลใจให้กับทันตแพทย์รุ่นหลัง ๆ ซึ่งนอกจากจะมีความรู้แล้วก็ยังมีจิตสำนึกแล้วก็มีความรับผิดชอบต่อสังคมอีกด้วย
ปัจจุบันมีโอกาสได้มาเป็นผู้จัดการโครงการพัฒนาฟลูออไรด์วานิช เพื่อป้องกันรากฟันผุในผู้สูงอายุ ซึ่งตัวผลิตภัณฑ์ฟลูออไรด์ใช้กันแพร่หลายอยู่แล้วในวงการทันตกรรม แต่ว่าสารบางอย่างยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งทำให้มีค่าใช้จ่าย ค่อนข้างสูง โดยผลิตภัณฑ์ได้เข้าสู่การผลิตในระดับอุตสาหกรรมแล้วคาดว่าคงจะได้ออกมาใช้กันในระยะเวลาอันใกล้นี้
นี่คือบางส่วนจากผลงานของนักเรียนทุนอานันทมหิดล แผนกทันตแพทยศาสตร์เท่านั้น ที่ได้มีส่วนร่วมนำความรู้กลับมาต่อยอดและกลับมาสร้างนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยได้อย่างมหาศาล สมดังพระราชปณิธาณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มีพระราชประสงค์จะพัฒนาคนเพื่อพัฒนาชาติ
ผู้สนใจติดตามเพิ่มเติมได้จาก Website: www.dent-in-found.org
Facebook: https://www.facebook.com/dentalinnovation40
YouTube: https://www.youtube.com/channel/UCWWuHSnPKN6UmXHK7J6FDQw
Line : @dent_in_found โทรศัพท์ 062-549-8146, 02-3182351-5 ต่อ 1403,1416
31 สิงหาคม 2565