Sacit กางแผนคราฟต์ไทยโกอินเตอร์ ผู้ประกอบการหน้าใหม่เปิดตัวครั้งแรก
sacit เปิดตัวผู้ประกอบการคราฟต์หน้าใหม่ครั้งแรกในงาน “อัตลักษณ์แห่งสยามครั้งที่ 13” และ “Crafts Bangkok 2022” พร้อมกางแผนปีหน้ารุกตลาดอินเตอร์ หลังเห็นสัญญาณบวกต่างชาติปลื้มงานฝีมือไทย ตั้งเป้าเพิ่มรายได้โตเท่าตัว
นายพรพล เอกอรรถพร รักษาการผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ “sacit” เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการงานหัตถกรรมไทย เพราะนอกจากเกิดไอเดียในการเรียนรู้และสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ผลงานชิ้นใหม่แล้ว ยังเห็นการขยายตัวของผู้ประกอบการเกิดขึ้นอย่างชัดเจน เกิดผู้ประกอบการหน้าใหม่โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ (New Gen) ที่ใช้ช่วงเวลาดังกล่าวสร้างสรรค์งานฝีมือที่เป็นเอกลักษณ์ และพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้จนสร้างสามารถสร้างรายได้ อย่างไรก็ดี การขยายตัวของผู้ประกอบการที่เกิดขึ้นนั้น ส่งผลให้ในปีนี้จำนวนผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่สมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกของ sacit เพิ่มขึ้นจากเป็น 3,000 ราย จากช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีสมาชิกอยู่ราว 2,000 ราย โดยการขยายตัวของกลุ่มผู้ประกอบการนี้ sacit เล็งเห็นถึงโอกาสที่จะสร้างศักยภาพให้แก่สินค้าหัตถกรรม เปิดตัวทดสอบตลาดใน งานอัตลักษณ์แห่งสยามครั้งที่ 13 และ Crafts Bangkok 2022 ที่จัดขึ้นวันนี้ -11 กันยายน 2565 เวลา 10.00-20.00 น. ณ ฮอลล์ 101-102 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา
“ผู้ประกอบการทั้งงานอัตลักษณ์และงานคราฟต์ไทยเข้มแข็งอย่างมาก จากการพัฒนาฝีมือ การต่อยอดด้านนวัตกรรมเข้ามาสร้างความแตกต่างให้กับผลงาน ตลาดต่างชาติก็สนใจในงานฝีมือคนไทยมากขึ้น ทำให้ sacit เรามีแผนในปีหน้า นอกจากการจัดงานแฟร์ต่างๆ แล้ว จะนำผู้ประกอบการเปิดตลาดต่างประเทศ ในรูปแบบของการจับคู่ธุรกิจ หรือ Business Matching คาดว่าจะสร้างรายได้เติบโตเป็นเท่าตัว”
นายวิทวัส ปิยะชัยวุฒิ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Another Cup งานปั้นแก้วจากเนื้อดินพอร์สเลน กล่าวว่า เป็นสมาชิก sacit มาประมาณ 2 ปี โดยครั้งนี้ได้ร่วมงานแฟร์เป็นครั้งแรก โดยตนสร้างสรรค์ผลงานจากประสบการณ์ผลิตงานประติมากรรมชิ้นใหญ่ ซึ่งมีข้อจำกัดเรื่องการนำไปวางในพื้นที่ต่างๆ จึงหันมาผลิตงานคราฟต์ของประเภทชิ้นเล็กที่เข้าถึงคนได้ง่ายขึ้น เช่น ถ้วยชา กาแฟ ที่ทั้งสามารถดื่ม สัมผัส และสามารถตั้งโชว์ได้ ขณะที่เป้าหมายในอนาคตอยากขยายช่องทางการขายให้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะทยอยออกงานแฟร์ และขายตามช่องทางออนไลน์ให้กับชาวต่างชาติ
นางสาวณิชชา โฆสิตธนเมธา ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Peony ผ้ามัดย้อมจากสีธรรมชาติ เผยว่า ครอบครัวประกอบธุรกิจผ้ามัดย้อมอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเดิมใช้สารเคมีย้อมผ้า แต่ตนเป็นรุ่นลูกมองเห็นโอกาสการต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้เข้ากับเทรนด์สินค้ากลุ่มรักษ์โลก จึงได้ประยุกต์นำผ้ามัดย้อม มาย้อมสีจากวัสดุทางธรรมชาติทางธรรมชาติ เช่น ขมิ้น อัญชัน แม้ปัจจุบันลูกค้าจะยังเฉพาะกลุ่มอยู่มาก แต่ตนเชื่อว่าเทรนด์รักษ์โลกจะเป็นกระแสต่อเนื่อง และมีโอกาสการเติบโตทางธุรกิจ
สำหรับช่องทางการจำหน่าย ปัจจุบันทางแบรนด์เน้นเข้าร่วมออกงานแฟร์กับทาง sacit ซึ่งถือว่าได้รับโอกาส เพราะหากจำหน่ายแค่ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่อาจไม่ได้รับความสนใจมากนัก การมาออกบูธจึงเป็นโอกาสที่จะได้พบลูกค้าในเมืองมากขึ้น รวมถึงได้พบเครือข่ายผู้ผลิตงานคราฟต์รายอื่นๆ ที่แนะนำให้สมัครแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อต่อยอดธุรกิจ สอดคล้องกับเป้าหมายของแบรนด์ที่ต้องการให้สินค้าส่งออกไปยังต่างประเทศในอนาคต
นางสาวสุธิษณา เลิศสุขประเสริฐ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ WE-IN-C เครื่องประดับเครื่องเงินแท้ ปราศจากสารเคมี กล่าวว่า จุดเริ่มต้นธุรกิจ คือการลาออกจากการเป็นดีไซเนอร์ เพราะไม่อยากเป็นพนักงานออฟฟิศ และเริ่มเข้าหาธรรมชาติ จนพบช่างเครื่องเงินทำมือ ชาวปกาเกอะญอ ที่จังหวัดลำพูน จึงตัดสินเริ่มทำธุรกิจของตนเอง และเน้นจุดเด่นที่ปราศจากสารเคมี ไม่มีนิกเกิล คงเอกลักษณ์ด้วยสไตล์ที่เรียบง่าย แต่ฟังก์ชันใช้งานที่ตอบโจทย์
สำหรับช่วงโควิดที่ผ่านมาทางแบรนด์เน้นขายช่องทางออนไลน์ มียอดคำสั่งซื้อจากชาวต่างชาติ เช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน และจีนอย่างต่อเนื่อง แต่ตอนนี้แบรนด์อยากเน้นตลาดคนไทย ซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งแรกกับการออกงานร่วมกับ sacit ถือว่าเป็นเกียรติอย่างมาก เพราะนอกจากได้จำหน่ายสินค้าในงานแล้ว ยังมีโอกาสในการมาเรียนรู้งานกับครูช่างศิลป์ และมีโอกาสได้พบผู้ประกอบการรายอื่นๆ ช่วยสร้างเครือข่ายในการออกตลาดใหม่ต่อยอดแบรนด์ในอนาคต
10 กันยายน 2565