Depa ประกาศรางวัล “Hackathon U League For All 2022” โปรเจ็คแอพฯ แยกขยะเรียกซาเล้ง และโปรเจ็คกายภาพบำบัดผู้สูงอายุป่วยติดเตียง ด้วยเทคโนโลยี Face Recognition คว้ารางวัลชนะเลิศ!
เรียกเสียงปรบมือก้องฮอลล์ กับงานประกาศรางวัลในโครงการ “Hackathon U League for All 2022” ภายใต้ความร่วมมือของ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ร่วมกับ ศูนย์การสร้างผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย (IDE Center) โดยการสนับสนุนของ กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) เพื่อเฟ้นหาสุดยอดไอเดียแห่งโลกอนาคตจากกลุ่มนักศึกษา Gen Z ในการนำเสนอแนวคิดนวัตกรรมดิจิทัล มาประยุกต์เป็นโซลูชันใหม่สู่การยกระดับและพัฒนาชีวิตคุณภาพชีวิตของผู้คนในสังคมโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง สู่ความเสมอภาคอย่างยั่งยืน ผ่านการบ่มเพาะเพื่อการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์แก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรม ตลอด 2 เดือน ระหว่างเดือน กรกฎาคม – สิงหาคม 2565
โดยหลังจากการเสนอไอเดียเพื่อท้าชิงความเป็นสุดยอดนวัตกรรมอย่างดุเดือด การแข่งขันครั้งนี้ ก็ได้ 12 ทีมที่ผ่านการคัดเลือก และได้ 2 ทีมที่คว้าใจกรรมการและรับรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม “Minerva” ที่คว้ารางวัลชนะเลิศสาขา Best Impact ด้วยแนวคิด ที่ช่วยยกระดับคุณภาพการทำงานให้กับกลุ่มผู้ประกอบอาชีพขับรถซาเล้ง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สนับสนุนความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจระดับฐานราก และ ทีม “All Caring” ซึ่งได้รับรางวัลในสาขา Best Innovation จากที่สุดแห่งไอเดียนวัตกรรมทางเทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมความรู้และสมรรถนะการฟื้นฟูสุขภาพกายของกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้ป่วยติดเตียง ด้วยแนวทางที่เหมาะสมต่อผู้ป่วยแบบเฉพาะโรคและเฉพาะบุคคล
ทีม Minerva ได้รับรางวัลชนะเลิศสาขา Best Innovation โดยนางสาวจิตติสา คราประยูร เรียนสาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ จาก Columbia University และ นางสาวศศิน ธรรมไกรสร เรียนสาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ จาก Stanford University
ได้นำเสนอมุมมองที่มีต่อปัญหาของกลุ่มผู้ประกอบอาชีพขับรถซาเล้ง ที่นำมาสู่แนวคิดโปรเจกต์ Lengo ว่า “จากสถานการณ์ปัญหาที่มีมาตลอดของกลุ่มผู้ประกอบอาชีพขับรถซาเล้งซึ่งมีรายได้จากการเก็บขยะขาย ให้แก่ร้านรับซื้อของเก่าซึ่งมีปริมาณต่อวันเป็นจำนวนหลายกิโลกรัม และต้องอาศัยเวลาในการคัดแยก เพื่อแยกระหว่างขยะที่ไม่มีคุณภาพ กับขยะที่มีคุณภาพเพียงพอสำหรับการนำกลับมาใช้ซ้ำหรือรีไซเคิล ทางทีม Minerva เล็งเห็นว่ากลุ่มผู้ประกอบอาชีพดังกล่าว นับเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญต่อระบบ Circular Economy (ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน) และ Environment Sustainability (ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม) ของประเทศไทย แต่การบริหารจัดการกับขยะที่มีปริมาณสูงในแต่ละวัน นับเป็นความยุ่งยากของการทำงานอย่างหนึ่ง รวมถึงราคาของขยะที่ไม่เสถียร จึงเกิดเป็นปัญหาทางรายได้ของผู้ประกอบอาชีพขับรถซาเล้ง และใช้เวลาในการทำงานเกินความจำเป็นหากไม่มีโซลูชั่นที่เข้ามาตอบโจทย์การแก้ปัญหา
เราจึงใช้ pain point ดังกล่าว มาเป็นโจทย์ในการนำเสนอไอเดียผ่านโปรเจกต์ Lengo แพลตฟอร์มสำหรับเชื่อมต่อระหว่างผู้ใช้ซึ่งเป็นประชาชนทั่วไปกับซาเล้ง โดยแพลตฟอร์มดังกล่าว จะอาศัยการทำงานของแอปพลิเคชัน ที่จะช่วยให้คนทั่วไปสามารถแยกฝาก และขายขยะให้กับซาเล้งได้ง่ายขึ้น ประหยัดทั้งเวลาในการคัดแยกได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และลดความเสี่ยงจากอุบัติเหตุทางจราจรอีกด้วย”
ในด้านของทีม All Caring โดยนายสมพร ม่วงแพร นายอนรรฆ อินธิกูด และนางสาวนิรชา พรมรอด คณะบริหารธุรกิจ และนายศุภกิตติ์ บัวดอกไม้ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี ทีมจากสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์
เผยถึงนวัตกรรมเพื่อการส่งเสริมสวัสดิภาพและการฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายของผู้สูงอายุ และผู้ป่วยติดเตียงว่า “โปรเจกต์ All Caring ได้กำหนดกลุ่มเป้าหมายไปที่กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง โดยจะเป็นกลุ่มที่ยังช่วยเหลือตนเองได้เพียงเล็กน้อย และมีโอกาสกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติหากหายป่วยจากโรค แต่ยังต้องอาศัยญาติหรือผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งกลุ่มผู้ป่วยและญาติส่วนใหญ่ยังประสบปัญหาเรื่ององค์ความรู้ในการทำกายภาพบำบัด และยังขาดอุปกรณ์ที่จะเป็นตัวช่วยให้การฟื้นฟูร่างกายผู้ป่วย และการพาผู้ป่วยเดินทางไปทำกายภาพบำบัดในสถานพยาบาลในบางรายยังเป็นเรื่องที่ยากลำบาก
นวัตกรรมของเรา ได้นำเทคโนโลยี Face Recognition มาประยุกต์ใช้เพื่อประกอบการบันทึกข้อมูล Biometric เพื่อเป็นการจำแนกรูปแบบทางกายภาพ ตลอดจนประเมินความปลอดภัยของผู้ป่วย จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการอบรมในภาคทฤษฎีผ่านระบบออนไลน์และทำแบบทดสอบให้ครบตามจำนวนชั่วโมงที่กำหนด จากนั้นให้ทำการเชื่อมต่ออุปกรณ์กล้อง Kinect หันหน้าไปทางผู้ป่วย ระบบ Biometric Identification จะเริ่มทำงานเพื่อการยืนยันอัตลักษณ์ผู้ป่วย และเริ่มต้นเก็บข้อมูลการกายภาพบำบัด จากนั้นจึงเริ่มทำกายภาพตามท่าที่หลักสูตรกำหนด โดยกล้อง Kinect จะตรวจจับท่าทางและใช้เทคโนโลยี AI ในการตรวจสอบท่าทางที่ใช้ในการทำกายภาพบำบัด โดยยึดตามคุณสมบัติของสรีรร่างกายมนุษย์บนผิวกาย ที่มีระบบหมุนเวียนโลหิต ประกอบกับท่าทางการกายภาพที่ถูกต้อง หากระบบ AI พบว่าทำผิดท่า หรือทำท่าเดิมมากไป ระบบจะมีการแจ้งเตือนให้ทราบ และเมื่อกายภาพครบแต่ละครั้งจะมีการบันทึกประวัติการทำกายภาพบำบัด และส่งต่อข้อมูลไปยังสมาร์ทโฟน โดยใช้การเข้ารหัสแบบ AES-CCMP และในอนาคตจะมีการเพิ่มข้อมูลด้านสุขภาพอื่น ๆ ของผู้สูงอายุและผู้ป่วย เพื่อให้แพทย์ได้ใช้ประกอบการวินิจฉัยในการประเมินทางเลือกรักษา และสั่งจ่ายยา และสามารถใช้กับสถานพยาบาลได้ทุกที่ ทุกเวลา”
นอกจากนี้ยังมีอีก 2 ทีมที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีม Health Me จากสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ที่ได้รับรางวัลจากการเสนอไอเดียโครงการ “Health Me” การสร้างแพลตฟอร์มเพื่อบันทึกข้อมูลสุขภาพประจำวัน จากการติดตามอาการของผู้ป่วยโรคหัวใจ เพื่อให้ผู้ป่วยทราบอาการตนเองในเบื้องต้น พร้อมทั้งมีการแจ้งเตือน หากตรวจจับพบความผิดปกติ โดยมีแผนในอนาคตที่จะพัฒนาแพลตฟอร์มให้ครอบคลุมกลุ่มโรค NCDs ให้ได้มากที่สุด เพื่อส่งเสริมการดูแลตนเองของผู้ป่วย และเชื่อมต่อข้อมูลกับสถานพยาบาลเพื่อพัฒนาคุณภาพการรักษาโดยแพทย์ และ ทีม No Roots จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่เลือกทำโครงการ “สื่อการเรียนการสอนเพื่อกลุ่มบกพร่องทางสายตา” โดยกำหนดกลุ่มเป้าหมายไปที่นักเรียนผู้พิการทางสายตา ในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 สายวิทยาศาสตร์ เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในการเรียนการสอน ผ่านเทคโนโลยีเครื่องพิมพ์สามมิติ ที่สามารถเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนของนักเรียน และพิมพ์ภาพสามมิติที่นักเรียนกลุ่มดังกล่าวจะทำความเข้าใจเนื้อหาการเรียนมากยิ่งขึ้นผ่านการสัมผัส และรางวัล TikTok Popular Award ตกเป็นของทีม Salmon+ ซึ่งเลือกทำโครงการ O Journey by Salmon+ เพื่อสนับสนุนการท่องโลกกว้างสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ และทีมอื่น ๆ ที่ได้รับเงินรางวัลสนับสนุนไอเดียสร้างสรรค์ทีมละ 5,000 บาท ได้แก่ ทีม Dev Juniors, MeowBurn, Multiverse, Pure for Life, Sole, พะโล้ และ หาข้ออ้างอาจารย์เที่ยว
ดร.กษิติธร ภูภราดัย
รองผู้อำนวยการใหญ่ กลุ่มงานยุทธศาสตร์และความมั่นคง
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa)
ดร.กษิติธร ภูภราดัย รองผู้อำนวยการใหญ่ กลุ่มงานยุทธศาสตร์และความมั่นคง สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) กล่าวว่า “การจัด Hackathon U League for All 2022 เป็นความท้าทายของการผสานการทำงานร่วมกันของคนทุก Gen เป้าหมายเพื่อใช้นวัตกรรมยกระดับคุณภาพชีวิตกลุ่มคนเปราะบาง อันได้แก่ ผู้สูงอายุ คนพิการ และคนด้อยโอกาสผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล โดยหวังให้ Prototype ของผลงานที่ผ่านเข้ารอบสามารถจุดประกายต่อยอดสู่การสร้างงาน สร้างอาชีพ ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการใช้บริการจากภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็น ระบบสวัสดิการแห่งรัฐ การเยียวยาจากรัฐ ไปจนถึงบริการขั้นพื้นฐานต่างๆ เป็นต้น ซึ่งภายหลังที่เราได้ 12 ทีมสุดท้าย จนกระทั่งได้ผู้ชนะเลิศในวันนี้ ถือว่าทีมงานทุกคนและผู้แข่งขันซึ่งเป็นเยาวชน นักเรียนนักศึกษา Gen Z ทำได้สำเร็จตามเป้าหมาย
เราคาดหวังให้ทุกไอเดียที่ผ่านเข้ารอบจะเป็นต้นแบบของโครงการนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนกลุ่มเปราะบางในอนาคต และสามารถเป็นแรงบันดาลใจในการต่อยอดสู่การสร้างงาน สร้างอาชีพ ในสายงานด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม นำไปสู่อุตสาหกรรม Social Enterprise หรือกิจการเพื่อสังคม ที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงข้อมูล ระบบสวัสดิการขั้นพื้นฐานอย่างเท่าเทียมแก่ผู้สูงอายุ ทุพลภาพ และผู้ด้อยโอกาสทั่วประเทศ ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญของดีป้า โดยฝ่ายส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความมั่นคง ที่ต้องการสร้างความตระหนักถึงประเด็นปัญหาของคนกลุ่มเปราะบางให้ถูกพูดถึงในวงกว้าง และสร้างแรงกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่ที่คุ้นเคยกับเทคโนโลยีมีความสนที่ใจที่จะแก้ปัญหาเหล่านั้นด้วยการสร้างสรรค์นวัตกรรมดิจิทัลขึ้นมา”
12 กันยายน 2565