ย้อนรอย..หน่วยทันตกรรมพระราชทาน รำลึกพระมหากรุณาธิคุณในหลวงรัชกาลที่ 9

ประธานกรรมการมูลนิธิทันตนวัตกรรม ในพระบรมราชูปถัมภ์ น้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ด้านทันตกรรม ก่อให้เกิดโครงการที่มีประโยชน์ต่อประชาชนมากมายหลายโครงการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยทันตกรรมพระราชทาน  

ศาสตราจารย์พิเศษ ทพญ. ท่านผู้หญิงเพ็ชรา เตชะกัมพุชประธานกรรมการมูลนิธิทันตนวัตกรรม ในพระบรมราชูปถัมภ์และผู้อำนวยการหน่วยทันตกรรมพระราชทาน ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นทันตแพทย์มีโอกาสรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยการดูแลถวายงานเรื่องพระทนต์ของพระองค์ท่าน เป็นเวลาทั้งหมด 46 ปี 

ภายหลังการรักษาแต่ละครั้ง พระองค์ท่านจะทรงมีพระราชปฏิสัณฐานหรือทรงคุยด้วยนาน ๆ  ท่านทรงซักถาม แนะนำ สั่งสอนให้ความช่วยเหลือ ให้กำลังใจ ซึ่งคณะทันตแพทย์ประจำพระองค์ได้น้อมนำพระราชดำรัสเหล่านั้นมาปฏิบัติ จนเกิดเป็นโครงการพระราชดำริทางด้านทันตกรรมหลายโครงการด้วยกัน

​ทั้งนี้ โครงการที่ถือว่ามีความสำคัญและยังมีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ได้แก่โครงการหน่วยทันตกรรมพระราชทาน ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อช่วยดูแลราษฎรที่อยู่ในถิ่นทุรกันดาร ผู้ยากจน ผู้ด้อยโอกาสทางสังคม 

​ประธานกรรมการมูลนิธิฯ กล่าวต่อว่า สำหรับโครงการหน่วยทันตกรรมพระราชทานเคลื่อนที่นั้น เริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ.2513 หลังจากที่คณะแพทย์ทำพระทนต์เสร็จในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงรับสั่งว่า เวลาพระองค์ท่านมีปัญหามีหมอมาช่วยกันรักษา แล้วราษฎรที่อยู่ห่างไกลความเจริญ มีใครช่วยดูแลไหม เมื่อได้รับคำตอบว่าไม่มี พระองค์ท่านจึงรับสั่งว่า การที่จะให้ชาวไร่ชาวนา ที่อยู่ในท้องถิ่นห่างไกล ต้องทิ้งท้องไร่ท้องนาเข้ามาหาทันตแพทย์เมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับฟันหรือสุขภาพในช่องปาก ย่อมเป็นไปได้ยาก น่าที่ทันตแพทย์จะต้องเดินทางไปดูแลเป็นครั้งคราว

จากพระราชดำรัสในครั้งนั้นทำให้เกิด รถทำฟันเคลื่อนที่หรือ หน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยโดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9ทรงเจิมรถที่พระราชวังไกลกังวลหัวหิน เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2513  มีรถหนึ่งคันพร้อมอุปกรณ์และมีทันตแพทย์จากจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย จำนวน 2 คน วิ่งไปตามอำเภอต่าง ๆ โดยจุดแรกที่ไปทำฟันคือที่ อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ “ทำวันแรก มีคนไข้ไม่กี่คนหรอก เพราะว่า พอเปิดปากดู ก็มีแต่เรื่องจะต้องถอนทั้งหมดเพราะฉะนั้นการบริการที่เราทำ ส่วนใหญ่เป็นการถอนฟันและให้การศึกษา คนที่มารับบริการบอกว่า มีหมอฟันอยู่ในโลกนี้ด้วยหรือ ไม่รู้จักมาก่อน” ประธานกรรมการมูลนิธิเล่าบรรยากาศแรกเริ่มให้ฟัง

ปัจจุบันหน่วยทันตกรรมพระราชทานได้รับการขยายเพิ่มเติมเป็น 7 มหาวิทยาลัยและ 1 โรงพยาบาลประกอบด้วย คณะทันตแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย, คณะทันตแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, คณะทันตแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, คณะทันตแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร, คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และ 1 โรงพยาบาลคือ โรงพยาบาลมหาราช นครราชสีมา รวมหน่วยทันตกรรมพระราชทานจำนวน  8 หน่วย

ประธานกรรมการมูลนิธิกล่าวต่อว่า จากหน่วยทันตกรรมพระราชทานที่เริ่มขึ้น ต่อมาได้มีก่อให้เกิดโครงการอื่นๆ ด้านทันตกรรมขึ้นอีกหลายโครงการเช่น โครงการฟันเทียมพระราชทาน,โครงการรากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติ, การจัดตั้งมูลนิธิทันตนวัตกรรม ในพระบรมราชูปถัมภ์,โครงการอาหารพระราชทาน เจลลี่โภชนา, แผนทันตสุขภาพผู้สูงอายุประเทศไทย (พ.ศ.2558 – 2565)  โดยมูลนิธิทันตนวัตกรรมฯ ทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการหน่วย สนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยทันตกรรมทั้ง 8 หน่วย แต่ละปีจะมีการออกหน่วยทันตกรรมให้บริการประชาชนเป็นประจำ ยกเว้นบางปีที่เกิดภาวะวิกฤต เช่น ช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

“ทั้งหมดนี้ สะท้อนให้เห็นพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่ทรงห่วงใยต่อพสกนิกรของพระองค์ท่านอย่างแท้จริง” ประธานกรรมการมูลนิธิกล่าว

12 ตุลาคม 2565


บริษัท มีเดีย เน็ทเวิร์ค จำกัด
138, 140 ซอยอนามัย ถนนศรีนครินทร์ แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ 10250
MEDIA NETWORK Co.,Ltd
138, 140 Soi Anamai Srinakarin Road Suanluang Suanluang Bangkok 10250
Tel. 02 721 4417 Fax. 02 721 5516
E-mail : phototechthailand@gmail.com


ติดต่อโฆษณาหรือข้อมูลเพิ่มเติม
โทร. 02 721 4417 , 097 921 2929 คุณขวัญ

แฟนเพจ Phototech Magazine


ออกแบบโดย touronthai