สวทช. จับมือ องค์การสวนสัตว์ ร่วมวิจัยและพัฒนา พร้อมสร้างความรู้ใหม่ ช่วยดูแลสุขภาพสัตว์ และอนุรักษ์สัตว์ป่า

      สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย ศ.นพ.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ รองผู้อำนวยการ สวทช. และองค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดย นายเบญจพล นาคประเสริฐ ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์ ลงนามความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อพัฒนาและสร้างองค์ความรู้ใหม่ผ่านการวิจัย ทั้งด้านระบาดวิทยา อายุรศาสตร์ และพยาธิวิทยาในสัตว์ป่า เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสุขภาพสัตว์ขององค์การสวนสัตว์ให้ดียิ่งขึ้น พร้อมเกิดเป็นแนวทางการวินิจฉัยการเกิดโรคเพื่อช่วยเหลือสัตว์ป่าและสัตว์ภายใต้การดูแลขององค์การสวนสัตว์ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงเพื่ออนุรักษ์และปรับปรุงพันธุ์สัตว์ได้อย่างเหมาะสมและยั่งยืน เป็นประโยชน์สูงสุดในการดูแลสุขภาพสัตว์ป่าของประเทศ

ศ.นพ.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ โดยนักวิจัยห้องปฏิบัติการวิจัยวัณโรค ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพ (ไบโอเทค) และองค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้มีความร่วมมือในงานวิจัยเกี่ยวกับชุดตรวจวัณโรคในช้างเป็นระยะเวลาพอสมควร ซึ่งงานมีความก้าวหน้าตามขั้นตอน เพื่อให้เกิดความเข้าใจและเกิดแนวทางปฎิบัติแก่งานวิจัยอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นร่วมกันระหว่างนักวิจัยทั้ง 2 ฝ่าย จึงจัดให้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการขึ้น เพื่อร่วมมือกันพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิชาการ และการปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการจัดการ การอนุรักษ์ การดูแลสุขภาพ พยาธิวิทยา พันธุศาสตร์ รวมทั้งด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ป่า ซึ่งการดูแลสัตว์ป่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากสัตว์ป่ามีคุณค่าต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมทั้งโดยตรงและโดยอ้อม จำเป็นยิ่งที่ต้องป้องกันและแก้ไขไม่ให้สัตว์ป่าลดจำนวนหรือสูญพันธุ์ ซึ่งสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์บางชนิดมีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่อาหาร ช่วยรักษาสมดุลของประชากรสัตว์ให้สอดคล้องกับระบบนิเวศของป่า การอนุรักษ์สัตว์ป่าทุกพันธุ์ให้ดำรงอยู่ต่อไปตามธรรมชาติจึงมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งต่อความสมบูรณ์และสมดุลทางธรรมชาติ โดยเฉพาะเพื่อให้สัตว์ป่าเองนั้นมีพัฒนาการเป็นไปโดยธรรมชาติ

จากความสำคัญของการดูแลสัตว์ป่า สวทช. จึงได้สนับสนุนงานวิจัยในด้านต่างๆ พร้อมทั้งการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อการอนุรักษ์ใช้ประโยชน์ และการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพอย่างยั่งยืน เช่น

• การใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีศึกษานิเวศวิทยาและติดตามสัตว์ป่า โดยการใช้เทคโนโลยีสัญญาณดาวเทียมพลังแสงอาทิตย์ (Solar powered satellite tags) ครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อติดตามการอพยพย้ายถิ่นของเหยี่ยวแบบ near real time ซึ่งเป็นผลงานของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ร่วมกับคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

• การใช้วิทยุติดตามงูจงอาง เพื่อศึกษานิเวศวิทยาเชิงพื้นที่ แหล่งอาศัย และพฤติกรรมการผสมพันธุ์ของงูจงอาง (Ophiophagus hannah) ในพื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราช ซึ่งงูจงอางจัดอยู่ในข่ายเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ในบัญชีแดงของสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ   

• การดำเนินการศึกษาสถานภาพการกระจายและประชากรของนากและสัตว์ผู้ล่าขนาดเล็กชนิดอื่นๆ ในป่าชายเลนและพื้นที่ชุ่มน้ำทางภาคใต้ของประเทศไทย ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดระนองและพังงา ซึ่ง สวทช. ได้สนับสนุนทุนวิจัยต่อเนื่อง เพื่อขยายพื้นที่วิจัยในจังหวัดกระบี่ ตรัง สตูล ให้ครอบคลุมพื้นที่ทะเลฝั่งอันดามัน

นอกจากนี้ ยังมีโครงการอื่นๆ ที่ใช้โดรนในงานวิจัย เช่น โครงการจัดทำแผนที่หญ้าทะเลและทรัพยากรชายฝั่งโดยโดรนขนาดเล็ก และโครงการสำรวจประชากรพะยูนโดยใช้โดรนขนาดเล็ก เป็นต้น

ซึ่งการดำเนินข้างต้น สวทช. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อส.) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และจังหวัดตรัง ได้มีการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกัน มีระยะเวลา 5 ปี (ปี 2559 - 2563) ไว้แล้ว

“สำหรับครั้งนี้ ด้วยความพร้อมของนักวิจัยและการได้รับความร่วมมือเป็นอันดีจากองค์การสวนสัตว์ เพื่อผลักดันงานวิจัยให้ได้รับการใช้ประโยชน์ สวทช. มีความยินดีให้ความร่วมมือและสนับสนุน ได้แก่ ข้อมูลเทคนิคทางวิชาการและวิทยาการด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางของ สวทช. การสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรขององค์การสวนสัตว์ให้เข้าฝึกอบรมหรือประชุมวิชาการที่เกี่ยวข้องร่วมกับ สวทช. และการร่วมศึกษาและวิจัย พร้อมทั้งสนับสนุนการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ เพื่อประโยชน์ในงานวิจัยร่วมกันในด้านการอนุรักษ์ด้านสัตว์ป่า การตรวจโรคสัตว์ป่า การตรวจสุขภาพสัตว์ป่า การชันสูตรโรคสัตว์ป่า ความหลายทางพันธุกรรม รวมทั้งด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง” ศ.นพ.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าว

ด้าน นายเบญจพล นาคประเสริฐ ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวเสริมว่า “ความร่วมมือระหว่างองค์การสวนสัตว์ กับ สวทช. จะเป็นก้าวกระโดดสำหรับองค์การสวนสัตว์ เพราะทางองค์การสวนสัตว์เองมีทรัพยากรเรื่องสัตว์ป่าค่อนข้างมาก รวมถึงเรื่องพันธุ์พืช และสถานที่ ซึ่งน่าจะเป็นแนวทางวิจัยสำหรับนักวิจัย สวทช. ที่จะใช้ประโยชน์ตรงนี้ นำวิทยาศาสตร์มาพัฒนาองค์ความรู้ในเรื่องของสัตว์ป่าและพันธุ์พืช รวมถึงยังสามารถส่งต่อความรู้นี้กระจายไปสู่พี่น้องประชาชนได้ เพราะทางองค์การสวนสัตว์มีจำนวนผู้เข้าเยี่ยมชมสวนสัตว์ที่มีอยู่ทั่วประเทศ มากถึงราว 6 ล้านคนต่อปี”

20 มีนาคม 2561


บริษัท มีเดีย เน็ทเวิร์ค จำกัด
138, 140 ซอยอนามัย ถนนศรีนครินทร์ แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ 10250
MEDIA NETWORK Co.,Ltd
138, 140 Soi Anamai Srinakarin Road Suanluang Suanluang Bangkok 10250
Tel. 02 721 4417 Fax. 02 721 5516
E-mail : phototechthailand@gmail.com


ติดต่อโฆษณาหรือข้อมูลเพิ่มเติม
โทร. 02 721 4417 , 097 921 2929 คุณขวัญ

แฟนเพจ Phototech Magazine


ออกแบบโดย touronthai