เอ็มเทค-สวทช. ร่วมโชว์นวัตกรรมพลังงาน ในงาน “SETA 2018” มหกรรมพลังงานและเทคโนโลยีที่ยั่งยืนแห่งเอเชีย

(21 มีนาคม 2561) ที่ศูนย์ประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ : พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงานประชุมวิชาการและนิทรรศการนานาชาติ “โครงการพลังงานและเทคโนโลยีที่ยั่งยืนแห่งเอเชีย 2561”Sustainable Energy Technology Asia 2018 (SETA 2018) ในหัวข้อ “Towards Consolidated Innovation Energy Technology-การใช้นวัตกรรมดิจิทัลเพื่อพลังงานที่ยั่งยืน” โดยได้รับเกียตรติจาก นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน และนางสุวรรณา จุ่งรุ่งเรือง รองปลัด กทม. ร่วมในพิธีเปิด

พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พลังงานเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประทศมาโดยตลอด และเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญต่อยอดสู่การพัฒนาทุกด้าน ทั้งภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม แรงงาน สังคม ตลอดจนภาคครัวเรือนล้วนต้องพึ่งพาพลังงานทั้งสิ้น ดังนั้นนโยบายของรัฐ จำเป็นต้องมีแนวทางพัฒนาพลังงาน 4.0 เพื่อขับเคลื่อนและสนับสนุนเศรษฐกิจ โดยคำนึงถึงการอนุรักษ์พลังงานและการพัฒนาด้านพลังงานที่ยั่งยืน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รัฐบาลจึงให้ความสำคัญและให้การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมใหม่ด้านพลังงาน ตลอดจนส่งเสริมและใช้พลังงานทดแทน การพัฒนาระบบต่างๆ ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องและการส่งเสริมการลงทุนแก่ผู้ผลิตทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งงาน SETA 2018 ครั้งนี้ มีผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญ ด้านพลังงานที่จะได้มาแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น และประสบการณ์ร่วมกัน รวมถึงจัดแสดงผลงานนวัตกรรและเทคโนโลยีใหม่ๆ ด้านพลังงานเพื่อสร้างความเข้มแข็งและความยั่งยืนด้านพลังงานในภูมิภาคมากยิ่งขึ้น

ในโอกาสนี้ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เข้าร่วมแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรมใหม่ด้านพลังงาน ได้แก่ กังหันลมแกนตั้งชนิดเดเรียส ที่สามารถเริ่มหมุนได้ด้วยตัวเอง แบตเตอรี่ต้นแบบ สำหรับรถยนต์นั่งไฟฟ้า และ เซลล์เชื้อเพลิงจุลชีพเพื่อการบำบัดน้ำเสีย และผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นผลพลอยได้

กังหันลมแกนตั้งชนิดเดเรียส ที่สามารถเริ่มหมุนได้ด้วยตัวเอง (Darries vertical axis wind turbine) ซึ่งมีศักยภาพที่จะนำมาใช้ผลิตพลังงานไฟฟ้า เนื่องจากมีประสิทธิภาพทัดเทียมกับกังหันลมแบบแกนนอนที่ใช้กันโดยทั่วไป โดยทีมวิจัย เอ็มเทค สวทช. ได้แก้ปัญหาให้กังหันลมแกนตั้งให้สามารถหมุนได้ด้วยตัวเองจากที่ไม่สามารถหมุนได้ด้วยตัวเอง ด้วยการออกแบบรูปร่างของใบพัดขึ้นมาใหม่ โดยใช้แบบจำลองเชิงตัวเลข พร้อมกับใช้เทคนิคการพับขึ้นรูปอะลูมิเนียมเพื่อให้ได้ใบพัดที่แข็งแรงและมีน้ำหนักเบา นอกจากนี้ยังได้พัฒนาเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่ไม่มีแรงต้านการหมุนที่เกิดจากแม่เหล็ก เพื่อลดแรงต้านการหมุนของใบพัดให้สามารถหมุนตัวได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งการการทดสอบภาคสนามที่สถานีพลังงานแหลมพรหมเทพ จ.ภูเก็ต แสดงผลการเริ่มหมุนได้ด้วยตัวเองที่ความเร็วลม 3.6 เมตรต่อวินาที มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 400 วัตต์ที่ความร็วลม 8 เมตรต่อวินาที ช่วยเพิ่มทางเลือกของการผลิตพลังงานไฟฟ้าด้วยพลังงานทดแทนให้มีศักยภาพและเหมาะสำหรับประเทศไทย ทั้งนี้ผลงานวิจัยและพัฒนาดังกล่าวยังช่วยให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้รับองค์ความรู้ใหม่เรื่องกังหันลมเริ่มต้นหมุนด้วยตัวเองที่ความเร็วลม 3 เมตรต่อวินาที ทำให้ กฟผ. ใช้เป็นพื้นฐานการปรับปรุงประสิทธิภาพของกังหันลมเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าในอนาคตได้อีกด้วย

แบตเตอรี่ต้นแบบ สำหรับรถยนต์นั่งไฟฟ้า นักวิจัยศูนย์เอ็มเทค สวทช. ดำเนินโครงการวิจัยดังกล่าว เพื่อต้องการสร้างองค์ความรู้ด้านการวิจัยและพัฒนาแพ็กแบตเตอรี่ ในระดับโมดุลและแพ็กในประเทศไทย โดยมุ่งไปสู่การวิจัยเพื่อให้มีรถยนต์ไฟฟ้าโดยคนไทย ซึ่งปัจจุบันศูนย์เอ็มเทค และศูนย์เนคเทค สวทช. ร่วมกับสถาบันยานยนต์ สามารถพัฒนาต้นแบบแพ็กแบตเตอรรี่สำหรับรถยนต์นั่งไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพได้สำเร็จ สำหรับต้นแบบแพ็กแบตเตอรี่ที่พัฒนาขึ้น ประกอบด้วย 4 โมดุล มีจำนวนเซลล์ 1,408 ก้อน มีความจุไฟฟ้า 228.8 แอมแปร์-ชั่วโมง (Ah) เมื่อนำไปประกอบใช้กับรถยนต์นั่งไฟฟ้า สามารถวิ่งได้ระยะทาง 160 กิโลเมตร วัสดุและชิ้นส่วนทั้งหมดผลิตในประเทศไทย โดยส่งมอบต้นแบบให้กับสถาบันยานยนต์ซึ่งเป็นหน่วยงานผู้ร่วมสนับสนุนแล้ว

และผลงาน เซลล์เชื้อเพลิงจุลชีพเพื่อการบำบัดน้ำเสีย และผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นผลพลอยได้ (Microbial Fuel Cell) มาร่วมจัดแสดง โดยนักวิจัยเอ็มเทค สวทช. ได้ผลิตต้นแบบเซลล์เชื้อเพลิงจุลชีพ ที่เปรียบเสมือนถังปฏิกรณ์แปลงค่าความสกปรกในน้ำเสีย โดยอาศัยกระบวนการทางชีวเคมีไฟฟ้าในการบำบัดน้ำเสียทั้งในภาคครัวเรือนและอุตสาหกรรมได้สูงถึง 98% COD removal (ค่าปริมาณออกซิเจนที่ใช้ในการย่อยสารอินทรีย์ด้วยวิธีการทางเคมี) และผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นผลพลอยได้ ทั้งนี้ต้นแบบเซลล์เชื้อเพลิงจุลชีพที่พัฒนาขึ้น อยู่ระหว่างการทดสอบภาคสนาม มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าต้นแบบเซลล์เชื้อเพลิงจุลชีพของต่างประเทศ และมีศักยภาพสูงในการพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสียร่วมกับการผลิตไฟฟ้าของประเทศได้ในอนาคต

งานประชุมวิชาการและนิทรรศการนานาชาติ “โครงการพลังงานและเทคโนโลยีที่ยั่งยืนแห่งเอเชีย 2561” หรือ SETA 2018 จัดขึ้นตั้งแต่ 21-23 มีนาคม 2561 ที่ฮอลล์ 103-104 ที่ศูนย์ประชุมไบเทค บางนา ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมชมนิทรรศการได้ฟรี

22 มีนาคม 2561


บริษัท มีเดีย เน็ทเวิร์ค จำกัด
138, 140 ซอยอนามัย ถนนศรีนครินทร์ แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ 10250
MEDIA NETWORK Co.,Ltd
138, 140 Soi Anamai Srinakarin Road Suanluang Suanluang Bangkok 10250
Tel. 02 721 4417 Fax. 02 721 5516
E-mail : phototechthailand@gmail.com


ติดต่อโฆษณาหรือข้อมูลเพิ่มเติม
โทร. 02 721 4417 , 097 921 2929 คุณขวัญ

แฟนเพจ Phototech Magazine


ออกแบบโดย touronthai