“พาณิชย์” เปิดเทรนด์ส่งออกตอบรับผ้าไทย กางแผนปีนี้ เดินหน้าเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่
กระทรวงพาณิชย์ มอบ sacit ดันแฟชั่นผ้าไทยสู่ตลาดโลกต่อเนื่อง หลังเทรนด์ส่งออกเห็นสัญญาณบวก ขึ้นแท่นผลิตภัณฑ์ที่มีอัตราการขยายตัวสูงสุดหลายรายการ ตอกย้ำนโยบายรัฐบาลสร้าง Soft Power กางแผนปี 2566 ขยายฐานตลาดสู่กลุ่มคนรุ่นใหม่
นายสินิตย์ เลิศไกร
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์
นายสินิตย์ เลิศไกร กล่าวว่า ปัจจุบันกระแสความนิยมผ้าไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในและต่างประเทศ จากสถิติการส่งออกภาพรวมในปีที่ผ่านมา พบว่ามูลค่าส่งออกผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทยรวม 349,034.57 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้ผลิตภัณฑ์ที่มีอัตราการขยายตัวมากที่สุด คือ ผ้าคลุมไหล่ และผ้าพันคอ มากถึง 337.32% อีกทั้งในปีก่อนหน้า ผลิตภัณฑ์ประเภทเสื้อผ้าสำเร็จรูปทำจากฝ้ายขยายตัวถึง 11.15% โดยมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นเป็น 21,557.17 ล้านบาท เช่นเดียวกับเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ทำจากวัสดุสิ่งทออื่นๆ ก็มีการขยายตัวสูงถึง 27.87% สร้างมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 20,631.77 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี จากความนิยมผลิตภัณฑ์ผ้าไทยที่เกิดขึ้น ปีนี้กระทรวงพาณิชย์ จึงได้มอบหมายให้ สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ sacit วางแผนผลักดันงานศิลปหัตถกรรมในกลุ่มผลิตภัณฑ์ผ้าดังกล่าวให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้ามากขึ้น โดยจะเน้นย้ำสร้างการรับรู้ งานศิลปหัตถกรรมไทย ทั้งในด้านของ ไลฟ์สไตล์ที่ร่วมสมัย ภายใต้กลยุทธ์ “หัตถศิลป์ของชีวิตปัจจุบัน : Today Life’s Crafts” ที่มีการส่งเสริมและต่อยอดเรื่อยมาตั้งแต่ปี 2560 ถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะผ้าไทยที่ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผ่านการส่งเสริมและพัฒนาดีไซน์ของผลิตภัณฑ์ผ้าไทยให้ตอบรับกับความต้องการของผู้บริโภค อีกทั้งจะเพิ่มทักษะความสามารถของผู้สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ ให้ความรู้ด้านการตลาดดิจิทัล (Digital Marketing) เพื่อให้งานศิลปหัตถกรรมไทยสามารถตอบโจทย์ความต้องการ และโดนใจผู้ซื้อมากยิ่งขึ้นต่อไป
ด้านนายภาวี โพธิ์ยี่ รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันผ้าไทยถือเป็นอีกหนึ่งสินค้าที่ได้รับความนิยมทั้งในกลุ่มคนไทยและชาวต่างชาติ จากการพัฒนา ออกแบบดีไซน์ให้สอดรับกับการใช้งานในชีวิตประจำวันมากขึ้น sacit จึงคงเป้าหมายในปีนี้ที่จะส่งเสริมให้ผ้าไทยเป็น Soft Power อีกด้านของประเทศ ตามนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งส่งเสริมและพัฒนาต่อยอดอย่างสร้างสรรค์ สู่การสร้างมูลค่าเพิ่มและเผยแพร่ Soft Power นี้สู่สายตาชาวต่างชาติ โดยในปี 2566 sacit จะเดินหน้าขยายกลุ่มเป้าหมาย สร้างการรับรู้และเพิ่มค่านิยมสินค้าผ้าไทยในกลุ่มคนรุ่นใหม่ เน้นใช้ช่องทางการตลาด e-Commerce อาทิ sacitshop.com, sacit Shop Application รวมไปถึงมีการขยายและเชื่อมโยงช่องทางการตลาดสินค้างานศิลปหัตถกรรมไทย กับแพลตฟอร์มต่างประเทศ คือ pinkoi.com แพลตฟอร์มที่รวบรวมผลิตภัณฑ์งานคราฟต์ รวมไปถึงสินค้าผ้าไทย เป็นแพลตฟอร์มการค้าของงานหัตถกรรมทั่วโลก โดยเฉพาะตลาดเอเชีย อาทิ ไทย จีน ไต้หวัน ฮ่องกง มาเก๊า และญี่ปุ่น
นอกจากนี้ ยังมีการดึงกลุ่มบุคคลที่มีชื่อเสียงและมีอิทธิพล (Key Opinion Leader) ที่สามารถเชื่อมต่อและสร้างแรงบันดาลใจให้กับกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้ มาเป็นตัวกลางในการสร้างภาพจำของงานศิลปหัตถกรรมไทยที่ทันสมัยและสามารถใช้งานในชีวิตประจำวัน และมุ่งเน้นเผยแพร่ไปผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นคนรุ่นใหม่ อาทิ Instagram หรือ TikTok ที่ปัจจุบันเป็นแพลตฟอร์มที่รวม คอนเทนต์สุดไวรัลและทันกระแสทุกเทรนด์ มีผู้ใช้งานในประเทศไทยมากถึง 35.8 ล้านคน ซึ่งจะเป็นการขยายฐานการรับรู้ด้านงานศิลปหัตถกรรมไทยแบบไร้พรมแดน ที่จะทำให้ผู้บริโภคทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเข้าถึงงานศิลปหัตถกรรมไทย และเกิดการซื้อในโอกาสต่อไป
19 เมษายน 2566