รู้จัก 3 วิสาหกิจชุมชนด้านการเกษตรภาคเหนือนำไม้ผลอัตลักษณ์ท้องถิ่นสร้างรายได้อย่างยั่งยืน

 

     นายเรืองพจน์ ธารานาถ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 6 จังหวัดเชียงใหม่  จัดงานแสดงและจำหน่ายสินค้าไม้ผลอัตลักษณ์ข้ามถิ่นและของดีภาคเหนือครั้งที่ 2 “Northern Fruit Festival” เพื่อประชาสัมพันธ์และกระจายผลผลิตไม้ผลและผลิตภัณฑ์ของภาคเหนือ สู่ผู้บริโภคในภูมิภาคอื่นของประเทศ ณ ศูนย์การค้าเดอะมอลล์ โคราช ระหว่างวันที่ 25-27 สิงหาคม 2566มีผู้ประกอบการจากวิสาหกิจชุมชนในจังหวัดต่าง ๆ ทางภาคเหนือมาร่วมจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์คุณภาพในราคาย่อมเยา 

ทั้งนี้ จะพาไปรู้จักตัวอย่างวิสาหกิจชุมชนที่มาร่วมงานในครั้งนี้ 3 กลุ่ม ดังนี้

1.วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์และการแปรรูปผลิตภัณฑ์เกษตร อ.ศรีนคร จ.สุโขทัย

ก่อนที่จะมาเป็นวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์และการแปรรูปผลิตภัณฑ์เกษตร อ.ศรีนคร จ.สุโขทัย ได้มีการรวมกลุ่มกันของเกษตรกรในพื้นที่มาตั้งแต่ปี 2557 แล้ว โดยมีจุดเริ่มต้นจากคุณนงค์รัก แสนอุบล ประธานวิสาหกิจชุมชนนำมะม่วงจากสวนของตนเองที่ไม่ผ่านเกณฑ์การซื้อขายมาแปรรูปเป็นมะม่วงกวนจำหน่าย จากนั้นได้ชักชวนชาวบ้านที่มีเวลาว่างมาช่วยดำเนินการในขั้นตอนต่าง ๆ โดยให้ค่าจ้างตอบแทน ขณะเดียวกันก็ได้รับซื้อผลไม้จากเกษตรกรในราคาแพงกว่าตลาดเพื่อนำมาทำผลิตภัณฑ์แปรรูป กระทั่งปี 2563 ได้ทำการจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์และการแปรรูปผลิตภัณฑ์เกษตร อ.ศรีนคร จ.สุโขทัย ทำให้การดำเนินการต่าง ๆ มีระบบมากขึ้น มีการนำผลิตภัณฑ์จดทะเบียนอย. และมีผลิตภัณฑ์จำหน่ายต่อเนื่องตลอดทั้งปี

สำหรับผลิตภัณฑ์ของวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์และการแปรรูปผลิตภัณฑ์เกษตร อ.ศรีนคร จ.สุโขทัย ได้แก่ มะม่วงกวนกะทิสด ส้มลิ้มหรือมะม่วงกวนแบบแผ่น กล้วยตาก และกล้วยม้วน ซึ่งผลผลิตทางการเกษตรที่นำมาทำผลิตภัณฑ์แปรรูปเหล่านี้ ประกอบด้วย มะม่วงโชคอนันต์ มะม่วงแก้วขมิ้น และกล้วยน้ำว้ามะลิอ่อง โดยเฉลี่ยแต่ละเดือนมีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปทั้งกล้วยและมะม่วงรวมกัน 600-700 กิโลกรัม ซึ่งกลุ่มลูกค้าหลักจะเป็นร้านจำหน่ายของฝากในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ นอกจากนี้ ยังมีแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปพาสเจอร์ไรซ์ เนื่องจากมีคู่ค้าธุรกิจสายการบินให้ความสนใจนำไปบริการให้กับผู้โดยสารบนเครื่องบิน อย่างไรก็ตาม กระบวนการดังกล่าวมีต้นทุนสูง จึงอาจจะต้องมีการร่วมมือหรือรับการสนับสนุนจากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งนี้ หากนำผลิตภัณฑ์แปรรูปทางการเกษตรไปให้บริการผู้โดยสารสายการบินซึ่งจะมีทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติได้ ก็จะช่วยให้ผลิตภัณฑ์ของวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์และการแปรรูปผลิตภัณฑ์เกษตร อ.ศรีนคร จ.สุโขทัย เป็นที่รู้จักมากขึ้น ส่งผลให้ยอดขายเพิ่มขึ้น สมาชิกวิสาหกิจและเกษตรกรที่เป็นคู่ค้าก็จะมีรายได้มากขึ้นตามไปด้วย

2.วิสาหกิจชุมชนฝรั่งอินทรีย์บ้านตะคร้อ อ.เก้าเลี้ยว จ.นครสวรรค์

จุดเริ่มต้นจากคุณปรียาณัชก์ แจ่มไทย ซื้อฝรั่งมารับประทานและนำไปเป็นของฝากให้กับญาติ แล้วพบว่าฝรั่งที่ขายตามท้องตลาดทั่วไปใช้ยาฆ่าแมลง ด้วยความที่ตนเองมีที่ดินและทำเกษตรผสมผสานอยู่แล้ว ประกอบกับที่บ้านเป็นศูนย์ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับสารชีวภาพที่ใช้ในการเกษตร จึงตัดสินใจปลูกฝรั่งไว้บริโภคเองบนพื้นที่ 3 ไร่ โดยความตั้งใจแรกเพียงต้องการปลูกฝรั่งไว้รับประทานเองในครัวเรือน นำไปแจกจ่ายให้กับญาติพี่น้อง หากมีเหลือถึงจะนำไปขาย ต่อมามีโอกาสนำฝรั่งไปขายที่ตลาดประชารัฐ และมีการสุ่มตรวจหาสารเคมีในสินค้าจากร้านค้าต่าง ๆ ที่นำมาจำหน่าย รวมถึงฝรั่งของคุณปรียาณัชก์ด้วย ซึ่งเมื่อตรวจแล้วไม่พบว่ามีสารเคมี ก็ถูกนำไปเผยแพร่ผ่านนิตยสาร ส่งผลให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น และเริ่มนำฝรั่งไปขายในงานต่าง ๆ ของหน่วยงานภาครัฐ

ต่อมาได้ขยายพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้นเป็น 11 ไร่ 1 งาน และจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนในปี 2561 พร้อมพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปออกมาจำหน่าย ประกอบด้วย น้ำฝรั่ง ฝรั่งอบแห้ง ข้าวเกรียบฝรั่ง รวมถึงสบู่จากใบฝรั่ง ทั้งนี้ เพื่อสร้างอาชีพและรายได้ให้กับสมาชิกในกลุ่มวิสาหกิจเพิ่มมากขึ้น และคาดหวังว่าจะผลักดันเป็นสินค้าส่งออกได้ในอนาคต สำหรับพันธุ์ฝรั่งของวิสาหกิจชุมชนฝรั่งอินทรีย์บ้านตะคร้อ อ.เก้าเลี้ยว จ.นครสวรรค์ คือสายพันธุ์ “ฝรั่งพันธุ์แจ่มไทย” ตั้งชื่อนามสกุลของคุณปรียาณัชก์ ซึ่งได้จากการผสามผสานสายพันธุ์และพัฒนาจนได้ฝรั่งที่มีรสชาติหวานอมเปรี้ยว ผลใหญ่ เนื้อกรอบฟู มีการใช้เทคนิคพิเศษที่ทำให้เนื้อไม่กระด้าง ที่สำคัญเป็นฝรั่งอินทรีย์ปลอดสารเคมีทุกขั้นตอน

3.เกษตรกรแปลงใหญ่ลำไย อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่

เกิดจากเกษตรกรชาวสวนลำไยในอ.จองทอง จ.เชียงใหม่ มารวมกลุ่มกันจำนวน 250 ราย ข้อดีของการจัดตั้งกลุ่มคือทำให้มีอำนาจในการต่อรองมากขึ้น มีระบบบริหารจัดงานชัดเจน มีเงินปันผล รายได้เกษตรมั่นคงยิ่งขึ้น มีตลาดรองรับการจำหน่ายผลผลิตแน่นอน รวมถึงได้รับการสนับสนุนด้านต่าง ๆ จากหน่วยงานภาครัฐ 

ลำไยที่กลุ่มเกษตรกรชาวสวนลำไยในอ.จองทอง จ.เชียงใหม่ ปลูกเป็นลำไยพันธุ์อีดอซึ่งมีจุดเด่นคือผลใหญ่ เม็ดในเล็ก หวานกรอบ ไม่ฉ่ำน้ำ ฤดูกาลออกผลผลิตจะอยู่ในช่วงเดือนมิถุนายน-กันยายน ส่วนลำไยนอกฤดูกาลจะอยู่ในช่วงเดือนตุลาคม-มีนาคม เรียกได้ว่ามีผลผลิตตลอดทั้งปี สำหรับผลผลิตของกลุ่มเกษตรกรชาวสวนลำไยในอ.จองทอง จ.เชียงใหม่ จะคัดลำไยเกรดพรีเมียมขายในประเทศ 30% ส่วนที่เหลืออีก 70% ส่งออกไปขายยังต่างประเทศ ได้แก่ จีน เวียดนาม สิงคโปร์ และพม่าเล็กน้อย ผู้บริโภคในประเทศจึงได้บริโภคลำไยที่มีคุณภาพในราคาย่อมเยา

ยอดขายลำไยเฉลี่ยต่อปีของสมาชิกทั้งหมดในกลุ่มอยู่ที่ 1,875 ตัน โดยปีนี้มีราคาขายไม่ต่ำกว่า 35 บาท/กิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ราคาขายไม่ต่ำกว่า 25 บาท/กิโลกรัม เนื่องจากปีนี้ประสบปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม ทำให้มีผลผลิตลำไยออกมาน้อย ราคาขายจึงมากขึ้น อีกทั้งปีที่ผ่านมายังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ตลาดส่งออกยังเปิดไม่มากนัก ราคาขายจึงต่ำ

ทั้งนี้ ในงานแสดงและจำหน่ายไม้ผลอัตลักษณ์ข้ามถิ่นและของดีภาคเหนือ ครั้งที่ 2 นี้ ทางกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ลำไย อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ได้นำลำไยมาจัดโปรโมชั่นลำไยบรรจุตะกร้า 3 กิโลกรัม ราคาตะกร้าละ 130 บาท ปกติ 150 บาท นอกจากนี้ ยังได้นำผลผลิตของสหกรณ์การเกษตรจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ มาจำหน่ายและลดราคาในงาน ได้แก่ ลูกพลับและอโวคาโด กิโลกรัมละ 40 บาท 3 กิโลกรัม 100 บาท ปกติ 50 บาท/กิโลกรัม

26 สิงหาคม 2566


บริษัท มีเดีย เน็ทเวิร์ค จำกัด
138, 140 ซอยอนามัย ถนนศรีนครินทร์ แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ 10250
MEDIA NETWORK Co.,Ltd
138, 140 Soi Anamai Srinakarin Road Suanluang Suanluang Bangkok 10250
Tel. 02 721 4417 Fax. 02 721 5516
E-mail : phototechthailand@gmail.com


ติดต่อโฆษณาหรือข้อมูลเพิ่มเติม
โทร. 02 721 4417 , 097 921 2929 คุณขวัญ

แฟนเพจ Phototech Magazine


ออกแบบโดย touronthai