กทม. จัดงาน Bangkok Winter Festival@คลองผดุงกรุงเกษม อวดเสน่ห์ที่ลงตัวของการผสมผสานเมืองเก่าและเมืองใหม่ ชูอัตลักษณ์ร่วมสมัยของชุมชน กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน
กรุงเทพมหานคร จัดงาน Bangkok Winter Festival@ คลองผดุงกรุงเกษม เป็นหนึ่งในเทศกาล Colorful Bangkok 2023 เพื่อให้ประชาชนทุกคนสามารถใช้พื้นที่ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ตามอัตลักษณ์ของชุมชน ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจแบ่งปัน (Sharing economy) ชุมชนสร้างสรรค์ (Creative neighborhood) และการมีอัตลักษณ์เมือง (Place identity) ส่งเสริมให้เกิดรูปแบบการท่องเที่ยวอย่างสร้างสรรค์ สร้างความสนใจและดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติให้เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่คลองผดุงกรุงเกษม โดยปราชญ์ชุมชนเป็นผู้ถ่ายทอดเรื่องราวอัตลักษณ์ของชุมชนและสังคมในพื้นที่คลองผดุงกรุงเกษม นำไปสู่การสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการ ร้านค้า รวมถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวในพื้นที่แนวคลองผดุงกรุงเกษม
นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว ได้จัดทำโครงการ Bangkok Winter Festival@คลองผดุงกรุงเกษม เพื่อส่งเสริมให้เกิดรูปแบบการท่องเที่ยวอย่างสร้างสรรค์ โดยใช้คลองผดุงกรุงเกษม ซึ่งเป็นคลองสำคัญในอดีตเชื่อมโยงย่านต่าง ๆ ที่มีความโดดเด่นและมีอัตลักษณ์ ไม่ว่าจะเป็นย่านตลาดน้อย วัยดึก YOUNG ดีด Urban Crafting Point, ย่านเทพศิรินทร์– หัวลำโพง วัยมันส์ Urban Meeting Point, ย่านโบ๊เบ๊ วัยเก๋า Urban Playing Point และย่านสะพานขาว วัยดึก YOUNGดีด Urban Living Point ซึ่งกรุงเทพมหานครได้มีการปรับภูมิทัศน์พื้นที่คลองผดุงกรุงเกษมให้มีความสวยงาม ประชาชนสามารถใช้พื้นที่ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ สอดคล้องนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมการท่องเที่ยว เติมสีสัน ความสดใส ความมีชีวิตชีวาให้กับเมือง
สำหรับงาน Bangkok Winter Festival@คลองผดุงกรุงเกษม จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-17 ธันวาคม 2566 และ 22-24 ธันวาคม 2566 ณ พื้นที่คลองผดุงกรุงเกษม ตั้งแต่เวลา 17.00-21.00 น. แบ่งเป็น 4 จุด คือ ย่านตลาดน้อยย่านเทพศิรินทร์-หัวลำโพง ย่านโบ๊เบ๊ และ ย่านสะพานขาว โดยมีการแสดงมากมาย อาทิ KIKI ,Kalipse , VitaminD ,โบวี่, Lemony, ลุลา, เมย์ – ฝนพา เดอะวอยซ์ 2, ตุ๊ก วิยดา + เจี๊ยบ นนทิยา, ฮาร์ท, TrixO’ Treat, Lit it up, วินัย พันธุรักษ์, น้องไข่ตุ๋น +โจ้ เฉลิมศักดิ์ Golden song, การแสดงวงโยธวาทิต การร้องเพลง การแสดงดนตรี จากโรงเรียนชื่อดัง ได้แก่ โรงเรียนเทพศิรินทร์ โรงเรียนสายปัญญา โรงเรียนไตรมิตร โรงเรียนสตรีวัดมหาพฤฒาราม รวมถึงการแสดงจากบ้านเต้นรำ การวาดทราย การฉายหนังกลางแปลง การแสดงงิ้ว โรลเลอร์แดนซ์ แอโรบิคแดนซ์ ฯลฯ พร้อมทั้งกิจกรรมการมีส่วนร่วมของชุมชน อาทิ ทำศิลปะจากขยะขวดพลาสติก การถ่ายภาพสินค้าด้วยมือถือ การเรียนรู้การทำกำไลโบราณ การ mix and match เสื้อผ้าเก่าเค้าใหม่เรา ฯลฯ
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมการประดับไฟในพื้นที่สำคัญ ดังนี้
ย่านตลาดน้อย ชมไฮไลท์ โชว์ไฟเล่าเรื่อง สีสันตลาดน้อย และชมแสงสีตลาดน้อย หน้าทางเข้าศาลเจ้าโจวซือกง
ย่านเทพศิรินทร์–หัวลำโพง ชมไฮไลท์ แสงสีหัวลำโพง, แลนด์มาร์ค อุโมงค์มิติแสง
ย่านโบ๊เบ๊ ชมไฮไลท์ แสงสีบ้านพิบูลธรรม, แลนด์มาร์ค อุโมงค์แสงโบ๊เบ๊
ย่านสะพานขาว ชมไฮไลท์ แสงสีนางเลิ้ง, โชว์ไฟเล่าเรื่อง สีสันสะพานขาว
สำหรับการจัดงานครั้งนี้ นอกจากจะได้เพลิดเพลินกับความหลากหลายของกิจกรรมที่จัดขึ้นแล้ว ยังได้เรียนรู้และรับชมความงดงามของประวัติศาสตร์ความน่าสนใจของ “คลองผดุงกรุงเกษม” นอกจากชื่อ “ผดุงกรุงเกษม” ที่หมายถึง “ค้ำจุนบ้านเมืองให้มั่นคง และมีความสุขแล้ว” สะพานทั้งหมดยังมีชื่อเรียกคล้องจองกัน และมีความหมายว่า “สะพานที่สร้างโดยเทวดา” ได้แก่ (1) สะพานเทเวศรนฤมิตร หมายถึงที่เทวาผู้เป็นใหญ่ (พระอิศวร) เป็นผู้สร้าง (2) สะพานวิศุกรรมนฤมาน หมายถึงวิษณุกรรมเป็นผู้สร้าง (3) สะพานมัฆวานรังสรรค์ หมายถึงพระอินทร์เป็นผู้สร้าง (4) สะพานเทว กรรมรังรักษ์ หมายถึง สะพานที่พระเทวกรรมสร้าง (5) สะพานสุดท้ายคือ จตุรภักตร์รังสฤษดิ์ (สะพานขาว) หมายถึงพระพรหมเป็นผู้สร้างคลองผดุงกรุงเกษม นับเป็นศูนย์รวมของการเดินทาง-ประวัติศาสตร์-วัฒนธรรม และความหลากหลายวัย เมื่อสถานที่เมืองเก่า ผสม ความเป็นเมืองใหม่ ผสาน พวกเรา ที่หมายถึง คนในชุมชน กลุ่มพัฒนาเมือง หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม จนเกิดเป็นเมืองที่มีความโดดเด่น มีเอกลักษณ์เป็นตัวของตัวเอง ทำให้เกิดความรัก ความผูกพันและความหวงแหนเมือง หรือย่านของตน จึงเป็นเส้นทางที่สร้างความสุข ทั้งด้านการพบปะเรียนรู้ แลกเปลี่ยนความคิดสร้างสรรค์ การอยู่ร่วมกันกับคนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ เกิดเป็นความสุขที่ได้อยู่ สุขที่ได้ชม สุขที่ได้กิน สุขที่ได้เดิน สุขที่ได้มา จึงเป็นที่มาของคอนเซปต์ “ผดุงสุขเกษม” โดยเส้นทางการจัดงานจะเริ่มที่ สะพานเทวกรรมรังรักษ์ “ท่าเรือนครสวรรค์”เดินชมไฮไลท์ ไฟประดับสีสันนางเลิ้ง ผ่านสะพานจตุรภักดิ์รังสฤษฎ์ “ท่าเรือหลานหลวง” ชมไฮไลท์ โชว์ไฟเล่าเรื่อง สีสันสะพานขาว ผ่านสะพานเจริญราษฎร์ “ท่าเรือกระทรวงพลังงาน” ชมไฮไลท์ แสงสีบ้านพิบูลธรรม เดินชมไฮไลท์ อุโมงค์แสงโบ๊เบ๊ ผ่านสะพานข้ามแยกกษัตริย์ศึก ผ่าน “ท่าเรือยศเส” ผ่านสะพานนพวงศ์ “ท่าเรือนพวงศ์” “ท่าเรือหัวลำโพง” ชมไฮไลท์ Landmark อุโมงค์มิติแสง เดินชมไฟประดับตลอดเส้นทาง และจบที่ “ท่าเรือสถานีหัวลำโพง”
จึงขอเชิญชวนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวงาน Bangkok Winter Festival@คลองผดุงกรุงเกษม ในพื้นที่คลองผดุงกรุงเกษม ที่จะทำให้ทุกคนจะได้รับความประทับใจกลับไปอย่างแน่นอน
13 ธันวาคม 2566