เอปสันโชว์แกร่งโตสวนตลาด รับครบรอบ 33 ปี พร้อมเตรียมเปิดศูนย์โซลูชั่นรวมเทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืน
15 กุมภาพันธ์ 2567 – เอปสัน ประเทศไทย ฝ่ากระแสเศรษฐกิจโตเกือบยกพอร์ต เผยรายได้ประมาณการโต 8% สวนทางตลาดไอทีขาลง พร้อมประกาศเปิดตัวโซลูชั่นเซ็นเตอร์รวมนวัตกรรมใหม่มุ่งสร้างความยั่งยืนเพื่อองค์ธุรกิจฉลองครบรอบ 33 ปีก่อตั้งบริษัท
นายยรรยง มุนีมงคลทร ผู้อำนวยการบริหาร บริษัท เอปสัน (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า 2566 เป็นปีที่ท้าทาย แต่ได้พิสูจน์ว่าบริษัทฯ ได้ดำเนินกลยุทธ์ที่ถูกต้องและอยู่นำหน้าตลาด เพราะในขณะที่ตลาดไอทีเติบโตลดลงกว่า 10% เมื่อเทียบกับปี 2565 ยอดขายประมาณการทั้งปีของเอปสันกลับโตสวนทางเพิ่มขึ้น 8% โดยที่ผ่านมา บริษัทฯ ไม่เพียงปรับโฟกัสธุรกิจมาที่ตลาด B2B ตั้งแต่เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ทำให้ได้รับผลกระทบไม่มากนักจากความผันผวนที่มีในตลาด B2C ทั้งยังเดินหน้าเพิ่มไลน์อัพสินค้าและสร้าง S-curve ใหม่อยู่เสมอ โดยนำนวัตกรรมใหม่ของเอปสันเองเข้ามาเปิดตลาด สร้างฐานลูกค้าใหม่ พร้อมกับช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดจากเทคโนโลยีและแบรนด์คู่แข่ง ทำให้ไม่จำเป็นต้องพึ่งพิงการสร้างรายได้จากสินค้าเดิมหรือสินค้าเพียงกลุ่มเดียว และที่สำคัญ การที่เอปสันยึดโยงในคุณค่าของความยั่งยืนตั้งแต่แรกเริ่ม ทำให้ในวันนี้ เอปสันกลายเป็นแบรนด์แรกๆ ที่ลูกค้านึกถึงก่อน เมื่อมองหาเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
สำหรับกลุ่มสินค้าของเอปสันที่ทำยอดขายได้อย่างโดดเด่นในปีนี้ ได้แก่ เครื่องพิมพ์ป้ายโฆษณา Epson SureColor S-series ที่เติบโตเพิ่มขึ้นถึง 37% เป็นผลจากการที่บริษัทฯ สามารถดึงผู้ประกอบการที่เคยใช้เครื่อง Non-brand ที่มีข้อจำกัดในเรื่องเทคโนโลยี คุณภาพ และการบริการ มาใช้เครื่องเอปสันได้เพิ่มขึ้น ซึ่งสำหรับเครื่องแบรนด์เนมที่ได้รับความนิยมในวงการพิมพ์ป้ายปัจจุบัน เอปสันถือว่าเป็นแบรนด์ Top of Mind ของผู้ประกอบการส่วนใหญ่ นอกจากนี้ ยังได้แรงหนุนจากการจัดกิจกรรมการตลาดและโปรโมชั่นพิเศษที่เพิ่มขึ้นของศูนย์การค้าและโรงแรมต่างๆ บวกกับปัจจัยด้านการท่องเที่ยว นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ และการเลือกตั้ง 66 ที่ทำให้สื่อโฆษณานอกบ้านและสื่อเคลื่อนที่เติบโตขึ้น
ต่อมาคือสแกนเนอร์ ที่เติบโตขึ้น 37% ซึ่งได้รับอานิสงค์จากการที่ พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 มีผลบังคับใช้ ทำให้หน่วยงานราชการหลายแห่งจำเป็นต้องทำเอกสารดิจิทัล เพื่อให้บริการประชาชนผ่านระบบออนไลน์ รวมไปถึงธนาคาร ห้องสมุด และสถาบันศึกษาที่ต้องการเก็บข้อมูลถาวรในรูปแบบดิจิทัล และองค์กรธุรกิจที่เริ่มทำงานผ่านระบบเครือข่ายมากขึ้น
ตามมาด้วย เครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ทสำหรับองค์กร Epson WorkForce ที่โตเกือบ 30% ยืนยันถึงความสำเร็จของบริษัทฯ ในการชิงส่วนแบ่งตลาดจากเครื่องถ่ายเอกสารตามสำนักงานที่เคยใช้เทคโนโลยีเลเซอร์ ที่ผ่านมา เอปสันเน้นให้ความรู้กับผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่องถึงข้อได้เปรียบและประโยชน์ที่หัวพิมพ์อิงค์เจ็ท PrecisionCore Heat-Free Technology ที่ไม่ใช้ความร้อนในการพิมพ์ กินไฟน้อย บำรุงรักษาง่าย เพราะใช้ชิ้นส่วนประกอบน้อย และปลอดภัยจากฝุ่นผงหมึก อีกทั้งเอปสันยังเปิดโอกาสให้ลูกค้าได้เลือกรูปแบบในการเป็นเจ้าของเครื่องพิมพ์เอปสัน ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขาด เช่าเครื่อง คิดค่าบริการต่อแผ่น หรือเหมาจ่ายรายเดือน
ส่วนโปรเจคเตอร์ โดยรวมมีการเติบโตได้ดี เพิ่มขึ้นเกือบ 20% ซึ่งมาจากกลุ่มเลเซอร์โปรเจคเตอร์ความสว่างสูง เช่น รุ่นที่มีความสว่างตั้งแต่ 5,000 ลูเมนขึ้นไปและสามารถเปลี่ยนเลนส์ได้ และเลเซอร์โปรเจคเตอร์เพื่อธุรกิจ เช่น Epson 2000-series โดยที่เอปสันมีการออกสินค้าใหม่มากที่สุดและทำการตลาดอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ ขณะที่แบรนด์คู่แข่งบางรายกลับหยุดหรือชะลอการทำตลาด
อีกหนึ่งกลุ่มสินค้าที่แสดงถึงการเติบโตอย่างมีนัยยะ คือเครื่องพิมพ์มินิแล็บ Epson SureLab ที่โตขึ้นในปีนี้เกือบ 10% บ่งบอกถึงการเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ของธุรกิจรับพิมพ์ภาพขนาดย่อมในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศมาตั้งแต่หลังโควิด ยิ่งได้รับการสนับสนุนจากกระแสการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ทำให้เกิดกิจกรรมทางสังคมเพิ่มขึ้น อัตราการพิมพ์ภาพก็มากขึ้นตาม จนนำไปสู่การลงทุนซื้อเครื่องพิมพ์เพิ่มของกลุ่ม Startup และ SME
สำหรับเครื่องพิมพ์อิงค์แท็งค์ Epson EcoTank มีการเติบโตเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย เนื่องจากตลาดปี 2566 มีการแข่งขันกันอย่างรุนแรงในด้านราคา เพื่อจูงใจผู้บริโภค แต่เอปสันยังสามารถรักษาตำแหน่งผู้นำตลาดเครื่องพิมพ์อิงค์แท็งค์ไว้ได้ที่สัดส่วน 57% เมื่อธันวาคมที่ผ่านมา ในขณะที่กลุ่มเครื่องพิมพ์สิ่งทอ Epson SureColor F-series ไม่แสดงการเติบโต เช่นเดียวกับกลุ่มหุ่นยนต์แขนกล ซึ่งเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว
นายยรรยง กล่าวถึงปี 2567 ว่าถึงแม้ภาพรวมเศรษฐกิจในเวลานี้ยังอยู่ภาวะชะลอตัว ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากการขยายตัวของหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงขึ้น และปัญหาหนี้เสียคงค้างของสินเชื่อประเภทต่างๆ ที่อาจส่งผลถึงการจับจ่ายของประชาชน และการลงทุนของภาคเอกชน รวมถึงผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในหลายภูมิภาคซึ่งมีผลต่อราคาน้ำมันโลก แต่ เอปสัน ประเทศไทย ยังเชื่อมั่นในแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ผ่านการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายปี 2567 ว่าจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยกลับมาขยายตัวและมีเสถียรภาพอย่างแน่นอน โดยเอปสันเองตั้งเป้าที่จะรักษาระดับการเติบโตให้ไม่ต่ำกว่าปีนี้ โดยจะมุ่งลงทุนในจุดแข็งทั้ง 5 ด้านของบริษัทฯ เพื่อเพิ่มโอกาสในการขยายตัวทางธุรกิจ ได้แก่ S-curve strategy, Sales model, Service excellence, Solution center และ Sustainable value
การที่เอปสันไม่หยุดที่จะมองหาและสร้าง S-curve ใหม่ ช่วยให้ธุรกิจมีโอกาสเติบโตก้าวหน้าได้อยู่เสมอ ลดความเสี่ยงจากความผันผวนของตลาด และสร้างความแตกต่างและโดดเด่นจากคู่แข่ง ล่าสุดบริษัทฯ เปิดตัวเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ทขาวดำที่ใช้หัวพิมพ์ Heat-Free Technology ทั้งในกลุ่ม EcoTank และ WorkForce อย่างละ 2 รุ่น เพื่อมาแข่งขันกับเครื่องพิมพ์เลเซอร์ขาวดำโดยเฉพาะ ซึ่งปัจจุบันยังมีกลุ่มผู้ใช้ที่เน้นพิมพ์เอกสารขาวดำอยู่ เช่น สำนักงานบริษัท สถาบันศึกษา โรงพยาบาล เป็นต้น โดยจะเป็นกลุ่มที่ต้องการเครื่องพิมพ์ที่ให้ต้นทุนการพิมพ์ต่อแผ่นต่ำ ความเร็วระดับปานกลาง แต่สามารถรองรับงานปริมาณมากได้
สินค้าใหม่ทั้ง 4 รุ่น ประกอบด้วย เครื่องพิมพ์อิงค์แท็งค์ Epson EcoTank M2050 ที่เป็นรุ่นมัลติฟังก์ชั่น และ Epson EcoTank M1050 ที่เป็นซิงเกิลฟังก์ชั่น มีจุดเด่นที่ราคาไม่สูง ต้นทุนการพิมพ์ต่ำ เพราะชุดหมึกความจุสูงรองรับการพิมพ์ได้มากสุดถึง 6,000 แผ่น ให้งานพิมพ์ที่คมชัดกันน้ำได้ด้วยหมึก DURAbrite ET สามารถเชื่อมต่อได้ทั้ง Wi-Fi, Wi-Fi Direct และ Ethernet มาพร้อมกับการรับประกัน 4 ปี หรือ 50,000 แผ่น ส่วนเครื่องในกลุ่ม WorkForce ทั้ง 2 รุ่น ได้แก่ Epson WorkForce Pro WF-M5899 เครื่องมัลติฟังก์ชั่น และ Epson WorkForce Pro WF-M5399 เครื่องซิงเกิลฟังก์ชั่น ที่ผสานคุณค่าด้านความยั่งยืนเข้ากับประสิทธิภาพการพิมพ์ได้อย่างลงตัว กินไฟต่ำ ขนาดกะทัดรัด ประหยัดพื้นที่ สามารถพิมพ์ได้เร็ว 25 ipm มาพร้อมกับฟีเจอร์มากมาย เช่น พิมพ์สองหน้าอัตโนมัติความเร็วสูง เชื่อมต่อกับคลาวด์และมือถือได้ จุดแข็งต่อมาคือ Sales Model เอปสันได้พัฒนารูปแบบการขายที่หลากหลาย เพื่อให้ลูกค้าได้เลือกว่าต้องการเป็นเจ้าของเครื่องพิมพ์คุณภาพสูงของเอปสันในรูปแบบใด โดยคำนึงถึงงบประมาณ ประเภทงานพิมพ์และปริมาณการใช้ในแต่ละเดือนที่ลูกค้าสามารถเป็นผู้กำหนดได้เอง เช่น รูปแบบบริการการพิมพ์แบบจ่ายรายเดือนอย่าง EasyCare ที่ลูกค้าสามารถควบคุมต้นทุนการพิมพ์ของตัวเองได้ ไม่ต้องสต๊อกหมึก เพราะเอปสันจะส่งหมึกให้โดยคำนวณค่าใช้จ่ายจากจำนวนพิมพ์รายแผ่น เป็นต้น
Service excellence เอปสันให้ความสำคัญกับการบริการทั้งก่อนและหลังการขายมาโดยตลอด โดยจะเห็นได้จากการที่บริษัทฯ มีการพัฒนาทีม Pre-sales สำหรับกลุ่มผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อสนับสนุนการทำโซลูชั่นที่เหมาะกับองค์กรธุรกิจของลูกค้า รวมถึงพัฒนาช่องทางดิจิทัลเพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงข้อมูลผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้อย่างง่ายดาย ทั้งยังได้เพิ่มจำนวนศูนย์บริการ จนปัจจุบันมีอยู่ 182 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งมี 140 แห่งที่สามารถให้บริการ onsite ทำให้สามารถเข้าถึงลูกค้าได้ครอบคลุมยิ่งขึ้น ในปีนี้ นอกจากเอปสัน ประเทศไทยจะย้ายมาที่สำนักงานใหม่บนชั้น 22 อาคารปัน (PUNN Smart Workspace) ยังได้ทุ่มงบประมาณกว่า 30 ล้านบาทในการสร้าง Solution Center แห่งใหม่บนพื้นที่มากกว่า 600 ตารางเมตร เพื่อใช้เป็นที่จัดแสดงและสาธิตการใช้งานผลิตภัณฑ์ทุกกลุ่มของเอปสัน เพื่อสร้างประสบการณ์จริงให้กับลูกค้าก่อนตัดสินใจซื้อ ทั้งยังใช้เป็นที่จัดอบรมเทคโนโลยีและโซลูชั่นที่มุ่งสร้างความยั่งยืนให้กับตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศ โดยจะแบ่งออกเป็นโซนเครื่องพิมพ์เชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม ซึ่งมีเครื่องพิมพ์สิ่งทอ เครื่องพิมพ์ป้ายโฆษณา และเครื่องพิมพ์ภาพ ทั้งยังมีเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ทสำหรับองค์กร โปรเจคเตอร์ และหุ่นยนต์แขนกล “การลงทุนสร้างโซลูชั่นเซ็นเตอร์แห่งใหม่นี้เป็นการแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของเอปสันที่จะเปลี่ยนแปลงวิถีการทำงานขององค์กรธุรกิจในไทย ด้วยนวัตกรรมและโซลูชั่นที่ไม่เพียงแต่จะช่วยเพิ่มผลิตผล แต่ยังช่วยสร้างความยั่งยืนอีกด้วย เพื่อสร้างสังคมที่ปล่อยคาร์บอนเป็นลบได้ในที่สุด ทั้งยังแสดงถึงความพยายามของบริษัทฯ ที่จะช่วยให้ลูกค้าสามารถดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนได้ง่ายยิ่งขึ้น” นายยรรยง กล่าว
Sustainable Value หรือคุณค่าด้านความยั่งยืน คือดีเอ็นเอของไซโก้ เอปสัน คอร์ปอเรชั่น ที่ได้ดำเนินธุรกิจบนนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมระยะยาว ‘Environmental Vision 2050’ อย่างจริงจัง โดยมีวัตถุประสงค์ในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้เป็นศูนย์ในปี 2593 และหยุดการใช้พลังงานจากใต้ดิน และล่าสุด ธันวาคม 2566 บริษัทฯ ได้แถลงความสำเร็จในการเป็นบริษัทแรกในอุตสาหกรรมการผลิตของญี่ปุ่นที่สามารถเปลี่ยนมาใช้พลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนแบบ 100% ได้ตามกำหนดเวลาที่ให้คำมั่นไว้เมื่อปี 2564 ด้วยการจัดหาพลังงานหมุนเวียนเพื่อมารองรับปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ทุกโรงงานและสำนักงานของเอปสันทั่วโลกใช้ราว 876 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี ทำให้เอปสันคาดว่าจะสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนลงได้ราว 4 แสนตันในแต่ละปี นอกจากนี้ เอปสันยังจะผลักดันให้เกิดการใช้พลังงานหมุนเวียนในวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นการผลิตพลังงานของตัวเองมากขึ้น หรือสนับสนุนการพัฒนาแหล่งพลังงานใหม่ผ่านโครงการความร่วมมือกับพันธมิตร ในขณะที่จะลดปริมาณการใช้พลังงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตและขั้นตอนต่างๆ ที่เกี่ยวกับตัวผลิตภัณฑ์ ทั้งยังจะเดินหน้าต่อไปในขั้นตอนการหมุนเวียนทรัพยากร จนกว่าจะสามารถเป็นองค์กรที่ปล่อยคาร์บอนติดลบ
สำหรับเอปสันในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ได้ขานรับนโยบายดังกล่าวและร่วมกันผลักดันให้ประเด็นความยั่งยืนกลายเป็นกระแสหลักในสังคมธุรกิจของแต่ละประเทศ ผ่านผลิตภัณฑ์และนวัตกรรม และกิจกรรมเพื่อสังคมต่างๆ ทั้งยังร่วมมือกับ World Wildlife Fund หรือ WWF ในการทำโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อมที่สามารถสร้างแรงกระทบต่อสังคมวงกว้างได้ ในส่วนของเอปสัน ประเทศไทยเอง นอกจากจะให้ความรู้กับผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง เกี่ยวกับคุณค่าด้านความยั่งยืนที่มีอยู่ในเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ เช่น หัวพิมพ์ Heat-Free Technology หรือหมึก UltraChrome ก็ยังได้ทำกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมมาตลอด โดยในปี 2566 ได้มีการทำแคมเปญ ‘33 x Trees’ เพื่อบอกถึงการก้าวเข้าสู่ปีที่ 33 ของบริษัทฯ ด้วยความตั้งใจที่จะช่วยรักษาผืนป่าของไทย โดยชูประเด็นการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้ที่สูญเสียไปจากไฟป่า ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ เพราะไม่ได้เกิดความเสียหายแค่กับทรัพยากรป่าไม้ แต่ยังทำลายคุณภาพชีวิตของผู้คนด้วยปัญหาฝุ่นควัน แคมเปญดังกล่าวจะเน้นการมีส่วนร่วมของพนักงานเอปสันและครอบครัว รวมถึงสื่อมวลชนในกิจกรรมเชิงปฏิบัติต่างๆ
15 กุมภาพันธ์ 2567